คมนาคม สั่งระดมสมองเยียวยาภาคขนส่งที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันแพง

วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

คมนาคม สั่งระดมสมองเยียวยาภาคขนส่งที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันแพง


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการให้มีการประชุมหารือมาตรการเยียวยาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
 
​ด้วยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม พิจารณาหาแนวทางมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการภาคคมนาคมที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยมอบหมายให้รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง  (นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์) เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการเยียวยาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 3 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก กรมเจ้าท่า กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัท ขนส่ง จำกัด การรถไฟแห่งประเทศไทย และ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมด้วย
 
​​การประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาแนวทางมาตรการที่ช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการด้านคมนาคมขนส่งทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ให้ตรงกับความต้องการ เพื่อนำเสนอ  ไปยังหน่วยงานกลางพิจารณาให้การสนับสนุน โดยสรุปมาตรการเยียวยาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนได้ ดังนี้
 
1. ด้านการขนส่งทางบก โดยกรมการขนส่งบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และบริษัท ขนส่ง จำกัด จะเสนอขอรับการอุดหนุนค่าน้ำมันดีเซลให้กับผู้ประกอบการขนส่ง ประกอบด้วย
 
1.1 มาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล

1) ด้านการขนส่งสินค้า เสนออุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลให้กับรถบรรทุกไม่ประจำทาง (70) โดยมีรถที่ใช้น้ำมันดีเซล จำนวน 240,000 คัน คิดเป็นร้อยละ 62 ของรถทั้งหมด (388,620 คัน) ซึ่งใช้น้ำมันดีเซลเฉลี่ย 120 ลิตร/วัน/คัน ซึ่งจะเสนอขออุดหนุนค่าน้ำมัน 60 ลิตร/วัน/คัน ที่ราคา 2 บาท/ลิตร คิดเป็น 120 บาท/วัน/คัน ระยะเวลา 3 เดือน วงเงินรวมทั้งสิ้น 2,592 ล้านบาท
 
2) ด้านการขนส่งผู้โดยสาร เสนออุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลให้กับรถโดยสารประจำทาง โดยมีรถที่ใช้น้ำมันดีเซล จำนวน 42,842 คัน คิดเป็นร้อยละ 69 ของรถทั้งหมด (62,491 คัน) ซึ่งใช้น้ำมันดีเซลเฉลี่ย 142 ลิตร/วัน/คัน ซึ่งจะเสนอขออุดหนุนค่าน้ำมัน 60 ลิตร/วัน/คัน ที่ราคา 2 บาท/ลิตร คิดเป็น 120 บาท/วัน/คัน ระยะเวลา 3 เดือน วงเงินรวมทั้งสิ้น 465 ล้านบาท (รวมรถโดยสารของ ขสมก. และ บขส. แล้ว)

รวมถึงการเสนออุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลให้กับรถโดยสารไม่ประจำทาง โดยมีรถที่ใช้น้ำมันดีเซล จำนวน 50,947 คัน คิดเป็นร้อยละ 85 ของรถทั้งหมด (60,088 คัน) ซึ่งใช้น้ำมันดีเซลเฉลี่ย 142 ลิตร/วัน/คัน ซึ่งจะเสนอขออุดหนุนค่าน้ำมัน 60 ลิตร/วัน/คัน ที่ราคา 2 บาท/ลิตร คิดเป็น 120 บาท/วัน/คัน ระยะเวลา 3 เดือน วงเงินรวมทั้งสิ้น 550 ล้านบาท
 
สรุป การเสนอขออุดหนุนค่าน้ำมันดีเซล 2 บาท/ลิตร ระยะเวลา 3 เดือน วงเงิน 3,607 ล้านบาท ประกอบด้วย ด้านการขนส่งสินค้า 2,592 ล้านบาท และด้านการขนส่งผู้โดยสาร 1,015 ล้านบาท
 
1.2 มาตรการทางภาษี เสนอขอปรับลดภาษีประจำปี ร้อยละ 90 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรถสาธารณะ ประมาณ 170,000 คัน ประกอบด้วย รถจักรยานยนต์รรับจ้าง จำนวน 111,552 คัน รถรับจ้างสามล้อ จำนวน 10,472 คัน  รถรับจ้างแท็กซี่ จำนวน 66,462 คัน โดยต้องดำเนินการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ให้มีการลดภาษีในรอบปี เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการต่อไป
 
2. ด้านการขนส่งทางน้ำ โดยกรมเจ้าท่า ยังคงตรึงราคาค่าโดยสารเรือประจำทาง ทั้งในส่วนของเรือด่วนเจ้าพระยา เรือคลองแสนแสบ และเรือข้ามฟาก ขณะเดียวกันจะเสนอขอรับมาตรการช่วยเหลือกรณีค่าน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจากกระทรวงพลังงาน ให้กับผู้ประกอบการเรือโดยสารสาธารณะ (เรือด่วนเจ้าพระยา เรือคลองแสนแสบ และเรือข้ามฟาก) ประมาณการการขอความช่วยเหลือ คิดเป็นจำนวน 13,328 ลิตร/วัน สนับสนุนลิตรละ 2 บาท เป็นเงินรวม 26,656 บาท/วัน รวมทั้งสิ้น 2,399,040 บาท เป็นระยะเวลารวม 3 เดือน รวมทั้งจะเสนอขอขยายระยะเวลามาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จนถึงเดือนธันวาคม 2565
 
​​สำหรับมาตรการที่กรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างดำเนินการ คือ การเสนอออกประกาศกระทรวงคมนาคมและกฎกระทรวง เกี่ยวกับการงดเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจเรือและการออกใบอนุญาตใช้เรือ สำหรับเรือพลังงานไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเรือพลังงานไฟฟ้า (EV) ทดแทนเรือพลังงานน้ำมัน โดยงดเว้นค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลา 10 ปี และหลังจากนั้นเก็บค่าธรรมเนียมเพียงกึ่งหนึ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2565
 
3. ด้านการขนส่งทางราง โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย จะเยียวยาผู้ประกอบการการขนส่งสินค้า   ทางรถไฟ โดยจะตรึงราคาค่าธรรมเนียมน้ำมันดีเซล ที่เก็บจากผู้ประกอบการขนส่ง โดยจะตรึงอัตราเฉลี่ยที่ 29.76-30.00 บาท/ลิตร (ไม่ปรับเพิ่มตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจริง) ส่งผลให้รายได้จากค่าธรรมเนียมน้ำมันต่อเดือนลดลง การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงต้องแบกรับภาระต้นทุนในส่วนดังกล่าว
 
4. ด้านการขนส่งทางอากาศ โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้เสนอมาตรการการให้ความช่วยเหลือสายการบินสัญชาติไทยและสายการบินที่ทำการบินภายในประเทศ เนื่องจากสายการบินมีต้นทุนค่าใช้จ่ายจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น โดยจะขอขยายระยะเวลาการตรึงอัตราภาษีสรรพสามิตของน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น หน่วยละ 0.20 บาท ที่เดิมรัฐบาลสนับสนุนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เป็นสิ้นปี 2565 เป็นระยะเวลาเพิ่มเติมอีก 6 เดือน
 
​นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณากำหนดให้หน่วยงานภาคขนส่งในสังกัด ได้แก่ บริษัท ขนส่ง จำกัด องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และ การรถไฟแห่งประเทศไทย คงตรึงราคาค่าโดยสาร เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยให้ชะลอการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารทุกชนิดทุกประเภท จนกว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันจะเปลี่ยนแปลงไป จนอยู่ในระดับที่ไม่สามารถรับภาระต้นทุนได้ จึงจะกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี และหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ