DGA โชว์ศักยภาพราชการไทยยุคดิจิทัล ในงาน DG Summit 2022

วันจันทร์ที่ 06 มิถุนายน พ.ศ. 2565

DGA โชว์ศักยภาพราชการไทยยุคดิจิทัล ในงาน  DG Summit 2022


สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA โชว์ศักยภาพราชการไทยยุคใหม่ภายใต้แนวคิด Digital Government in Metaverses ผนึกกำลังร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชนกว่า 25 หน่วยงานในงานสัมมนาแห่งปี Digital Government Summit 2022 ที่รวมบริการดิจิทัลภาครัฐแบบครบวงจรมาให้ประชาชนได้สัมผัส ได้พบกับประสบการณ์จริงที่ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น สะดวกขึ้น พร้อมอัปเดตเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะนำภาครัฐไปสู่รัฐบาลดิจิทัล โดยภายในงานมีพิธีเปิดสถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล (DIGI : Data Innovation and Governance Institute) และพิธีมอบรางวัลต้นแบบท้องถิ่นดิจิทัล รวมถึงการมอบรางวัลประกวดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลภาครัฐในการวิเคราะห์เชิงลึก (Data Analytic) ในโครงการ DIGI Data Camp "ค่ายสานฝันปั้นอัศวินข้อมูลภาครัฐ ประจำปี 2565"

โดยมีนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ก้าวต่อไปของการเป็นรัฐบาลดิจิทัล” เพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มเทคโนโลยีสำคัญสำหรับรัฐบาลดิจิทัล ยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อยกระดับภาครัฐไทยสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน มีการทำงานแบบอัจฉริยะ ให้บริการโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้  นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ได้ให้เกียรติเข้าร่วมงานพิธีเปิด เมื่อวันที่ 28 พฤกษาคม 2565 ณ ลานแฟชั่นฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ 

ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับความก้าวหน้ารัฐบาลดิจิทัลให้ฟังว่า การจัดสัมมนา DG Summit 2022 นี้เป็นการจัดงานต่อเนื่องทุกปีเพื่อแสดงให้เห็นถึงภาพจำที่เปลี่ยนไปของการให้บริการราชการไทยสู่มิติใหม่ของการผสานเทคโนโลยีตอบโจทย์ความต้องการ ประชาชนได้ทุกช่วงวัยและสามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการรัฐได้อย่างครอบคลุมและสะดวกสบายมากขึ้น ตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศ ปี 2563-2565 โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่มสำคัญ คือ 1. กลุ่มการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มีโครงการสำคัญคือ โครงการหนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ (One Identification: ID One SMEs) ซึ่งเน้นการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน โดยนำระบบ BizPortal ซึ่งเป็นเว็บไซต์กลางสำหรับผู้ประกอบธุรกิจในการขออนุญาต เปลี่ยนแปลง แก้ไข ต่ออายุ หรือยกเลิก ใบอนุญาตแบบออนไลน์ มาต่อยอดบริการ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ และใช้ Digital ID ในการยืนยันตัวตนได้ ซึ่งภายในปี 2565 จะมีจำนวนผู้ประกอบการ/บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลขึ้นทะเบียนระบบ SME ID (KYC ยืนยันตัวตน) ไม่น้อยกว่า 1,000,000 ราย 2. กลุ่มความเหลื่อมล้ำทางสิทธิสวัสดิการประชาชน มีโครงการที่สำคัญคือ โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางข้อมูลด้านสวัสดิการ (Welfare Platform) โดยได้เชื่อมโยงกับแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ" ซึ่งได้รวบรวมงานบริการของภาครัฐอำนวยความสะดวกประชาชนทุกช่วงวัยโดยเชื่อมโยงกับ D.DOPA ของกรมการปกครอง ทั้งนี้แอปฯ ทางรัฐ มีบริการรวม 53 บริการ มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 234,823 ครั้ง และมีปริมาณการใช้งานทุกบริการมากกว่า 1,762,261 ครั้ง เช่น บริการตรวจสอบเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน บริการสิทธิการรักษาพยาบาล ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น 3. กลุ่มการศึกษา มี 2 โครงการสำคัญคือ โครงการ Digital Signature for Digital Transcript ปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาที่ให้บริการ Digital Transcript จำนวน 39 แห่ง คาดว่าจะมีเอกสารทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัลในปีการศึกษา 2564 จำนวน 163,370 คน และมีหน่วยงานรัฐ องค์กรสถาบัน และบริษัทเอกชน จำนวน 16 หน่วยงาน และโครงการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มอัจฉริยะเพื่อการบริหารจัดการข้อมูล ด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะ ด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย (E-Workforce Ecosystem) 4. กลุ่มการเกษตร มีโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร

โดยมีการดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูล 235 ชุดข้อมูล แบ่งเป็นกลุ่มข้อมูล 14 กลุ่ม และแบ่งตามหน่วยงานที่ให้ข้อมูล 59 องค์กร โดยจัดทำเว็บไซต์  dataset.nabc.go.th สำหรับให้บริการ Data Catalog ชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องทางด้านการเกษตรที่ได้จากการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าว เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ 5. กลุ่มการมีส่วนร่วม มี 2 โครงการสำคัญ คือ โครงการระบบกลางด้านกฎหมาย Law Portal เป็นระบบที่ต้องการให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมาย และประเมินผลสัมฤทธิ์กฎหมาย ของหน่วยงานรัฐ เพื่อเป็นช่องทางที่ให้หน่วยงานของรัฐเปิดรับฟังความคิดเห็น และเป็นศูนย์กลางข้อมูลทางกฎหมายของประเทศ ปัจจุบันระบบ Law Portal ระยะที่ 1 เสร็จแล้ว โดยมีกฎหมายเข้าสู่ระบบเพื่อรับฟังความคิดเห็น และประเมินผลสัมฤทธิ์รวมทั้งหมดแล้วจำนวน 156 ฉบับ จาก 57 หน่วยงาน มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นมากถึง 48,419 ครั้ง และโครงการระบบจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบ โดยจะมีระบบการติดตามผลและสถานะเรื่องร้องทุกข์ (Tracking System) ระบบการรายงานผล (Dashboard)

อีกทั้ง ได้สำรวจความต้องการจากสื่อสังคมออนไลน์ (Social Monitoring Tool) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ให้สอดคล้องต่อความต้องการของประชาชน และสามารถสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีระบบแบบสำรวจความพึงพอใจ (Satisfaction Survey) เพื่อนำไปปรับปรุงการให้บริการประชาชนด้วย และ กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ มีโครงการที่สำคัญคือ โครงการระบบอ่านใบรับรองข้อมูลสุขภาพในรูปแบบดิจิทัล เฟส 1 (Digital Health Certificate Resolver) ภายใต้โครงการ Digital Health Passport Application และโครงการสนับสนุนการใช้ดิจิทัลรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด–19 (DGA RC Thailand Pass City Pass) โดยพัฒนาระบบ Thailand Pass เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เดินทางเข้าประเทศทดแทนการออกเอกสาร Certificate of Entry (COE) โดยสามารถรองรับผู้ใช้งานที่จำเป็นต้องผ่านการตรวจคัดกรองหน้าด่านได้ประมาณ 1,000 คนต่อชั่วโมง ช่วยลดเวลาการตรวจคัดกรองได้ถึง 50% และลดระยะเวลาการพิจารณาเอกสารจากเดิม 1 สัปดาห์ เหลือเพียง 1-3 วันเท่านั้น ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนระบบ Thailand Pass จำนวน 2,871,304 คน และได้รับอนุมัติแล้วประมาณ 2,207,096 คน โดยโครงการที่สำคัญเหล่านี้ DGA ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดแก่ประชาชนและประเทศชาติสูงสุด และเร่งได้จัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 โดยมีวิสัยทัศน์ “บริการภาครัฐสะดวก โปร่งใส ทันสมัย ตอบโจทย์ประชาชน” เป้าหมายของแผนฯ ฉบับนี้จะเน้นเรื่อง  1. ให้บริการที่ตอบสนองประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำ 2. เพิ่มความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจ 3. โปร่งใส เปิดเผยข้อมูล ประชาชนเชื่อถือและมีส่วนร่วม 4. ภาครัฐที่ปรับตัวทันเวลา  

นอกจากนี้ DGA ได้ทำพิธีเปิดสถาบันนวัตกรรมและธรรมภิบาลข้อมูล DIGI : Data Innovation and Governance institute เพื่อเป็นการยกระดับการบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐให้มีคุณภาพตามกรอบธรรมาภิบาล นำไปสู่การเปิดเผย เชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมข้อมูลสำหรับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และประเทศอย่างยั่งยืน และพิธีมอบรางวัลต้นแบบท้องถิ่นดิจิทัล ให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อร่วมกันเป็นพลังสำคัญในการปรับเปลี่ยนภาครัฐไปสู่รัฐบาลดิจิทัลพร้อมกันทั่วประเทศ 

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ