องค์การตลาดดัน SMEs ไทยบุกตุรกี สานต่อโครงการ “ของถูกขายฟรี ของดีพาส่งออก”

วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2565

องค์การตลาดดัน SMEs ไทยบุกตุรกี สานต่อโครงการ “ของถูกขายฟรี ของดีพาส่งออก”


องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกและผลิต นำผู้ประกอบการ SMEs กว่า 16 แบรนด์ตีตลาดตุรกี เสริมทัพความรู้-ช่องทางส่งออก เล็งร่วมสร้าง ‘ตลาดไทย’ ในเมืองท่องเที่ยวเพื่อวางจำหน่ายสินค้าอย่างยั่งยืนและขยายตลาดส่งออกต่อไป

องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย จัดการนำเสนอส่งออกสินค้าจำหน่ายไปยังประเทศตุรกี ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 2 สำนักงานใหญ่องค์การตลาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นการสานนโยบาย กระทรวงมหาดไทย ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากสร้างงานสร้างอาชีพในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกจากโครงการ “ของถูกขายฟรี ของดีพาส่งออก (AORTOR Global Marketing)”

นายวิทยา ทรัพย์เย็น รองผู้อำนวยการองค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย เปิดงานผ่านระบบซูม ชี้ว่าประเทศไทยมีสินค้าที่มีคุณาพมากมาย โดยเฉพาะสินค้าแปรรูปเกษตร สินค้าชุมชนและ OTOP ซึ่งผสานด้วยเอกลักษณ์ของความเป็นไทยและมีคุณภาพทัดเทียมนานาชาติ เป็นโอกาสอันดีที่จะหาช่องทางในการส่งออกเพื่อสร้างชื่อเสียงและรายได้เข้าประเทศ ซึ่งองค์การตลาดได้มีโครงการ “ของถูกขายฟรี ของดีพาส่งออก” ผสานกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ-เอกชน  อาทิ NIA สมาคมส่งออก เพื่อสานการค้าและขยายโอกาสในการลงทุน

ภายในงานประกอบด้วยการพบปะกันระหว่างผู้ประกอบการ สมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตไทย และหอการค้าตุรกี นำเสนอสินค้าตัวอย่างหลากหลายประเภท เช่น ผลิตภัณฑ์กัญชา ยาสีฟันสมุนไพร น้ำปลาร้าผง อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์จากยางพารา เป็นต้น จากผู้ผลิตที่ร่วมโครงการรวม 16 บริษัท ซึ่งผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการนำเสนอสินค้าแก่สภาหอการค้าไทย-ตุรกี โดยมีนายฮาซัน เดวิซี เป็นตัวแทนจากหอการค้าฯ และมี อ.ดวงดารันย์ อยู่สวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญร่วมดูแลและแนะนำการนำเสนอ

กิตติพันธ์ มูลศรีชัย นายกสมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิต กล่าวว่าในครั้งนี้เป็นการจัดการนำเสนอสินค้าผ่าน Zoom เพื่อเสนอแก่หอการค้าไทย-ตุรกี เนื่องจากมีแผนในการจัดงานแสดงสินค้าในตุรกีช่วงปลายปี 2565 โดยได้รับความร่วมมือจากสถานเอกอัครราชทูตไทยในตุรกีร่วมด้วย ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการเบิกทางเข้าสู่กระบวนการรับรองภายในประเทศ ภายใต้สภาหอการค้าในประเทศไทย โดยในครั้งนี้ตั้งใจขับเน้น SMEs เพื่อช่วยเหลือผู้ค้ารายย่อย เน้นกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูป เกษตรแปรรูป เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นต้นเพื่อเป็นสินค้าหลักในการเปิดตลาดก่อนขยายพื้นที่ให้สินค้าอื่น

ด้านตัวแทนจากสภาหอการค้าตุรกี-ไทย นำโดยนายฮาซัน เดวิซี กล่าวถึงโอกาสการเปิดตลาดสินค้าไทยในตุรกีผ่านงานจัดแสดงสินค้า โดยวางไว้ว่าจะจัดในพื้นที่เมืองโบดรุม (Bodrum) อันเป็นเมืองท่องเที่ยวคล้ายภูเก็ตของไทย มีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม เป็นเมืองชายหาดและพื้นที่โดยรอบเป็นทะเล มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ได้แก่โรงละครเก่าอายุมากกว่า 3,000 ปี มีแหล่งท่องเที่ยวและย่านธุรกิจ และมีนักท่องเที่ยวเป็นชาวต่างชาติมา 3 ล้านคนในช่วงฤดูร้อน

ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ตุรกีนำเข้าสินค้าไทยมูลค่าเฉลี่ยปีละ 1,044.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยนับเป็นตลาดส่งออกลำดับ 32 ของไทย และอนดับ 3 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ตุรกีถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรราว 83 ล้านคน ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์เหมาะเป็นจุดเชื่อมต่อหลายภูมิภาคเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย ยุโรปและแอฟริกาเหนือ

ขณะที่ภาคธุรกิจในตุรกีจ่อประสานร่วมมือกับภาครัฐ-เอกชนไทย เปิดพื้นที่ ‘ไทยมาร์ท’ ที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง เล็งเป็นพื้นที่ขายสินค้าที่มาจากประเทศไทย และเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการวางจำหน่ายได้ตามกระบวนการอย่างถูกกฎหมายเพื่อหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป

ศุภาโชติ มะหลีแก้ว เลขานุการองค์การตลาด ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า งาน Business Matching ในลักษณะนี้จัดขึ้นมาแล้ว 4 ครั้ง ผลตอบรับครั้งที่ผ่าน ๆ มานับว่าค่อนข้างดี ผู้ประกอบกาณ์มีความสนใจเนื่องจากนำวิทยากรมาให้ความรู้เรื่องการส่งออกประเภทสินค้าต่าง ๆ  เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยที่ยังไม่เคยมีโอกาสนำสินค้าไปต่างประเทศ

“เรามีการเก็บข้อมูลของผู้ประกอบการทุกครั้งที่มีการจัดโครงการ มีการประเมินความพึงพอใจ เท่าที่สำรวจพบว่าผู้ประกอบการมีความสนใจในทุกพื้นที่ มีการลงทะเบียนผู้ประกอบการให้ผู้ที่มีความสนใจมาเข้าร่วมโครงการกว่า 500 ราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ วันนี้เป็นการต่อยอดจากการสัมมนาให้ความรู้ มีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมลงทะเบียนกว่า 16 ราย นำเสนอสินค้าให้ผู้ประกอบการตุรกีดูศักยภาพของสินค้าและหารือกันเรื่องข้อกฎหมายเพื่อเดินหน้านำเข้าไปในตุรกีต่อไป”

เมื่อลงทะเบียนกับองค์การตลาดแล้ว ผู้เข้าร่วมจะได้โอกาสในการเข้าสัมมนาเพิ่มพูนความรู้ ร่วมส่งสินค้าเข้าคัดเลือกเพื่อนำไปแสดงสินค้ายังตลาดต่างประเทศ ต่อยอดในการทำ Business Matching และพบปะผู้ส่งออกและผู้ทำการตลาดระหว่างประเทศ เพื่อเปิดประตูสู่การค้าในระดับนานาชาติต่อไป

ตติยา เจริญรมย์ ผู้ประกอบการ “รับเบอร์ไทยเทรดดิ้ง” (www.kaikarubber.com) กล่าวว่า สินค้าของตนเป็นเบาะรองนั่ง ที่นอน หมอนที่ทำจากยางพาราจากชาวสวนยางในจังหวัดระยอง ติดตามโครงการนี้ตั้งแต่เปิดตัวก่อนที่จะต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ เคยฟังอ.ดวงดารันณ์พูดถึงตลาดตุรกีและอยากเข้าตลาดนี้ ตอนมองว่ายิ่งตลาดดังกล่าวอยู่ใกล้พื้นที่ภาวะสงครามทำให้หลายคนอาจจะหลบพื้นที่ดังกล่าว แต่ตนมองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีโอกาส ระหว่างร่วมโครงการได้มีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญถึงศักยภาพของพื้นที่ประเทศตุรกีที่มีโอกาสเป็นพื้นที่เชื่อมต่อภูมิภาคต่าง ๆ

“เรามีความเชื่อมั่นว่าถ้าเราไปถึงตรงนั้นได้เราจะเป็นหนึ่งเดียวที่เป็นสินค้ากลุ่มนี้ เราเอาสินค้าเราให้ผู้เชี่ยวชาญดูแล้ว ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าทางนู้นยังไม่ค่อยมีใครรู้จักสินค้ายางพารา จึงมองว่าเป็นการดีที่จะนำสินค้านี้ไปนำร่องให้ทุกคนรู้จักสินค้ายาง เพื่อเปิดตลาดอย่างต่อเนื่อง” ตติยา กล่าว

ตติยา กล่าวเพิ่มว่า “ถ้าเราไปเองตลาดตุรกีคงไปไม่ได้ ข้อดีก็คือเรามีเจ้าหน้าที่ มีคนที่ช่วยนำพา มีผู้เชี่ยวชาญในตลาดนั้น ๆ นำพาสินค้าเข้าไปและมีคนที่คอยบอกเราตลอดว่าต้องทำยังไงปรับยังไง”

นอกจากนี้ ตติยายังเผยว่า “ปีนี้เป็นปีแรกที่เราจะเปิดตลาดต่างประเทศ แล้วเรามาเห็นทางสมาคมผู้ส่งออกและองค์การตลาดจับมือกัน ทั้งหมด 4-5 ประเทศที่องค์การตลาดจะพาไป เรามั่นใจว่าถ้าเราไปตลาดตุรกีเป็นตลาดแรกได้ สอง สาม สี่ เราก็ต้องไปต่อ”

“องค์การตลาดเดินหน้าทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงผู้ประกอบการและผู้ส่งออกเข้าด้วยกันเพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ และจะเดินหน้าจัดโครงการนี้ให้ครอบคลุมทุกภาคในประเทศไทยเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในอนาคต” ศุภาโชติ มะหลีแก้ว เลขานุการองค์การตลาด กล่าว



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ