ม็อบสวนยางพาราสู่วิถีเจรจา "ประกันกำไร" เข้าในแก่น "แก้ปัญหาด้วยความจริงใจ"

วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

ม็อบสวนยางพาราสู่วิถีเจรจา


วิเคราะห์การเมือง : by นพคุณ ศิลาเณร

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การเจรจาระหว่างตัวแทนฝ่ายรัฐบาลกับตัวแทนม็อบสวนยางอย่างเป็นทางการที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เมื่อ 4 กันยายนที่ผ่านมา ล้มเหลวลงแบบไว้เชิงกันพอแก้เขิน

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงการคลัง เป็นตัวแทนรัฐบาล ส่วนนายเอียด เส้งเอียด ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพารา ทั้งสองฝ่ายพยายามปรับลดความต้องการให้บรรลุเป้าหมายการเจรจา แต่ไม่สำเร็จ

ฝ่ายรัฐบาลขยายเพิ่มพื้นที่ช่วยเหลือ ไร่ละ 1,260 บาท จากไม่เกิน 10 ไร่ เป็น 25 ไร่ ให้ครอบคลุมชาวสวนยางรายย่อยได้ประโยชน์มากขึ้น

ส่วนฝ่ายตัวแทนชาวสวนยางปรับท่าทีใหม่ ยอมลดข้อเรียกร้องให้ประกันราคา จาก 120 บาท มาเป็น 100 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลงฮวบฮาบถึง 20 บาทต่อกิโลกรัม

ข้อเสนอของสองฝ่ายไม่มีจุดร่วมให้เกิดการรอมชอมกันได้เลย จึงเลิกเจรจา ราวกับให้ใช้เวลาครุ่นคิด ศึกษาข้อเสนอของ กันและกัน

"เอียด" กลับไปหาม็อบที่แยกบ้านตูล อ.ชะอวด นครศรีธรรมราช แล้วประกาศ เปิดถนน คืนทางรถไฟให้ประชาชนสัญจรได้สะดวก ส่วนการชุมนุมที่แยกควนหนองหงส์ อ.ชะอวด ยังยึดพื้นที่ปิดถนนเป็นปกติ ประชาชนยังเครียดตามเดิม

ส่วน "กิตติรัตน์" ฝ่ายรัฐบาล ก็เร่งรีบนำผลการเจรจาเข้าหารือกับในห้องประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ตั้งแต่เช้าวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อแสดงความ "จริงใจ" ให้ "เอียด" เห็น

แต่ความจริงใจที่ไม่มีพื้นฐานอยู่บนปัญหาแล้ว การคลี่คลายไปสู่มิติรอมชอมคงไม่เกิดขึ้นได้ง่ายดายนัก

ก็ยังดี ที่การเจรจามีประโยชน์เกิดขึ้น บ้าง แม้ไม่เต็มร้อย แต่การได้เล็กน้อย ย่อม บ่งบอกถึงแนวทางคลี่คลายใกล้มาถึงว่า ฝ่ายรัฐบาลจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับ "เอียด" ได้อย่างราบรื่น

"เอียด" มีประวัติก่ออาชญากรรมโชกโชน จนได้ฉายาว่า "จอมโจรไข่หมูก" เพิ่งออกจากคุกได้ 3 ปี เข้าร่วมเคลื่อนไหวมวลชนกับกลุ่มสันติบาตประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีนายธงชัย สุวรรณวิหค หรือ "สหายช่วง" เป็นเลขาธิการกลุ่ม

เมื่อ "เอียด" สลัดภาพจอมโจรผู้น่าหวาดกลัว มาเป็นแกนนำใหญ่ม็อบสวนยาง ได้อย่างน่าทึ่งแล้ว คงคาดการณ์ได้ทันทีว่า ต้องมี "สหายช่วง" ซุ่มเป็น "เสนาธิการ" บัญชาการเคลื่อนไหวม็อบสวนยางอย่างแน่นอนและเฉียบขาด

นั่นจึงไม่แปลกเลยกับ "ยุทธวิธีดาวกระจาย" ใช้มวลชนค่อนข้างน้อย แยกย้ายกันปิดถนน ปิดทางรถไฟ เพราะยุทธวิธีแบบ นี้ย่อมออกมาจากสมองของสหายช่วง นักรบ ทหารป่าแห่งเทือกเขาบรรทัดผู้โด่งดัง และมากประสบการณ์ทั้งการรบและการเจรจา ต่อรอง

ดังนั้น ข้อเรียกร้องของม็อบสวนยาง จึงเริ่มต้นแบบสุดโต่งในราคาประกัน 120 บาท แล้วลดลงเหลือ 100 บาท ราวกับเปลี่ยนแปลงไปตามกลไกตลาดซื้อ-ขายยางพาราก็ไม่ปาน

ขณะนี้ ปัญหาการเจรจาของสองฝ่าย มีเพียงว่า รัฐบาลไม่ต้องการแนวทางประกันราคา เพราะจะทำให้ราคายางพาราตกต่ำลง ไปอีก เพราะราคาประกันจะส่งผลให้รัฐบาล ขาดทุน ส่วนนายทุนซื้อยางพาราและชาว สวนได้ประโยชน์เต็มๆ แล้วลากโยงไปสู่พรรคประชาธิปัตย์ฉีกยิ้มหน้าบานด้วยอารมณ์เป็นสุข

รัฐบาลจึงยืนพื้นเสนอความช่วยเหลือ ด้านปัจจัยแวดล้อมในราคา 1,260 บาทต่อ ไร่ในพื้นที่ไม่เกิน 25 ไร่ แต่ข้อเสนอของรัฐบาลเช่นนี้ ชาวสวนยางพาราได้ประโยชน์ แต่กลุ่มแรงงานรับจ้างกรีดยางไม่ได้ประโยชน์

นั่นจึงทำให้ม็อบสวนยางและ "เอียด" ปฏิเสธข้อเสนอ แล้วเพิ่มมาตรการกดดันหนักขึ้นให้รัฐบาลจนมุมเร็วขึ้น และยอมรับ เงื่อนไขราคาประกันอย่างง่ายดาย

"เอียด" และม็อบสวนยางยังยืนพื้นที่ราคาประกัน ซึ่งเป็นแนวทางการเรียก ร้องเดิมๆ เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา แต่สำเร็จมาทุกรัฐบาล

แนวทางแก้ไขราคายางพาราตกต่ำด้วยการแทรกแซงตั้งราคาประกันเกิดมาตั้งแต่ปี 2537 ในยุคนายชวน หลีกภัย เป็น นายกรัฐมนตรีครั้งแรก นับแต่นั้นมาเมื่อเกิดม็อบสวนยางขึ้นแนวทางนี้ถูกใช้ต่อเนื่องทุกรัฐบาล จนทำให้ชาวสวนยางภาคใต้ซึมซับการแก้ไขปัญหาโดยการตั้งราคาประกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

ถ้าคลี่คลายความเดือดร้อนของม็อบสวนยางแล้ว ต้องทะลวงราคาซื้อขายกับต้นทุนการผลิตยางพารา จึงจะเข้าใจแก่นของปัญหา

ย้อนหลัง 5 ปี ราคายางพารามีความผันผวนตามกลไกตลาดเสมอ ในปี 2550 ยาง แผ่นดิบคุณภาพของตลาดกลางสงขลามีราคาเฉลี่ยต่อกิโลกรัมที่ 72 บาท แล้วเพิ่มขึ้นเป็น 79.87 บาท ในปี 2551 มาตกต่ำอย่างมากในปี 2552 มีราคา 59 บาท และ ในปี 2553 เริ่มฟื้นตัวราคาเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 106 บาทและปี 2554 อยู่ที่ราคา 132 บาท แล้วกลับมาตกต่ำอีกครั้งในปี 2555 อยู่ที่ราคา 93 บาท กระทั่งล่าสุดเมื่อ 5 กันยายน 2556 ราคาตกลงมาที่ 78.58 บาท

สำหรับต้นทุนการผลิตยางพาราแล้ว นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการ สำนักงาน เศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่า ปี 2555 มีต้นทุนประมาณ 64.19 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีต้นทุน 62 บาทต่อกิโลกรัม

แม้ราคายางในปี 2556 ตกลงมาเหลือ กิโลกรัมละ 78.58 บาท แต่ประเมินว่า ต้นทุน การผลิตของชาวสวนยางคงเพิ่มจาก 64.19 บาทประมาณ 3 บาท (คาดการณ์จากต้นทุน การผลิตในปี 2554 แล้วเพิ่มขึ้นในปี 2555) มาอยู่ประมาณ 67 บาท ดังนั้น ชาวสวนยาง ยังมีกำไรประมาณ 11.58 บาทต่อกิโลกรัม

ดังนั้น ข้อเรียกร้องของม็อบสวนยาง ให้แทรกแซงราคา 120 บาท จึงมีลักษณะเกินความเป็นจริง เพราะเป็นข้อเรียกร้องที่ "ไม่ยอมขาดทุนกำไร" และที่สำคัญไม่อยู่บนพื้นฐาน "ความเดือดร้อน" จนต้องให้รัฐบาลมาช่วยแบกรับภาระทั้งสิ้น

ถึงที่สุดแล้ว ราคายางพาราในทุกปีกับทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ล้วนมีส่วนสัมพันธ์กับ "ราคาทางการเมือง" ทั้งสิ้น ประเด็นของราคายางพาราไม่ได้ขึ้นอยู่กับ "ราคาตกต่ำ" จนเกิดความเดือดร้อน แต่เป็นปัญหาของ "การหดหายกำไร" ที่ชาวสวนยางยอมรับไม่ได้ จึงเกิดการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาจัดการแทรกแซงราคาเพื่อ "ประกันกำไร" ให้อยู่ในระดับความพอใจ

สรุปได้ว่า ความเดือดร้อนของม็อบสวนยางอยู่ที่การหดหายกำไรที่เคยได้รับ อันเนื่องมาจากราคายางพาราตกต่ำ ดังนั้น การแก้ไขจึงต้องใช้มาตรการด้านราคาเพื่อต่อรองความพอใจกำไร"ของม็อบสวนยาง" แต่เป็นงานยากเต็มกลืนของฝ่ายรัฐบาลที่จะฝืนทนได้

แต่เมื่อเข้าใจแก่นปัญหาเช่นนี้ ย่อม ทำให้เกิดโอกาสการเจรจาบนพื้นฐานความจริง และมีแนวโน้มรอมชอมกันสูงยิ่ง


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ