ปิดฉาก.. "ม็อบสวนยาง" บทเรียนการเมืองหนุนหลัง-ชักใย

วันเสาร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2556

ปิดฉาก..


วิเคราะห์การเมือง : by นพคุณ ศิลาเณร

แนวโน้มหลังวันที่ 4 กันยายนนี้ เป็นต้นไป สถานการณ์ม็อบสวนยางภาคใต้จะคลี่คลายลงถึงขั้นประกาศยุติการชุมนุม เลิกปิดถนน ปิดทางรถไฟ ประชาชนภาคใต้คงยิ้มหน้าบานกับการเดินทางที่สะดวกขึ้น ชีวิตปกติ เริ่มกลับมาสู่สถานการณ์สงบ

การคาดการณ์แนวโน้มเช่นนั้น เกิด จากปัจจัยมวลชนของม็อบไม่ได้ขยายตัวมากขึ้น การประกาศยกระดับชุมนุมนับแต่วันที่ 3 กันยายน ที่ผ่านมา ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร

ปัจจัยหนึ่ง เกิดจากพลังของประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมมีความรู้สึกรำคาญม็อบสวนยางที่ปิดถนนสร้างความเดือดร้อนในการเดินทาง

สภาพความรำคาญได้สะท้อนออกด้วยความรุนแรงถึงชีวิต ขณะนี้ม็อบสวนยางถูกยิงตายแล้ว 2 ราย บาดเจ็บสาหัสอีก 1 ราย หากยังดื้อดันชุมนุมต่อแล้ว โอกาส เกิดอันตรายถึงชีวิตคงถูกยกระดับความรุนแรงขึ้นก็เป็นได้

อีกปัจจัยที่เร่งให้ม็อบสวนยางยุติการชุมนุมเร็วขึ้น คือ การผลักดันจากทาง การเมือง ส.ส.ประชาธิปัตย์ ได้ออกมาส่งสัญญาณการแทรกแซงราคายางพาราให้รัฐบาลจัดการปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ราคา 92 บาทต่อกิโลกรัม ราคา เช่นนี้ไม่ได้เป็นไปตามการเรียกร้องของม็อบสวนยางที่เสนอกิโลกรัมละ 120 บาท

แต่เมื่อประชาธิปัตย์ส่งสัญญาณแล้ว ม็อบย่อมคล้อยตามด้วยดี เพราะพลังที่มา ร่วมชุมนุมเริ่มบ่งบอกได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า มีชาวสวนยางเข้าร่วมชุมนุมน้อยเหลือเกิน แต่กลับมี ส.ส.ประชาธิปัตย์ได้กระจายกำลังประกาศตัวสนับสนุนม็อบอย่างน้อย นิดในระดับ 1,000-2,000 คนเท่านั้น

นี่คือ สิ่งผิดปกติที่บีบรัดม็อบสวนยาง ต้องยุติการชุมนุมให้เร็วขึ้น แต่จะปิดฉาก หาทางลงม็อบกันอย่างไรนั้น คำตอบอยู่ที่ การเจรจากับรัฐบาลเป็นสำคัญยิ่ง

+ ก่อหวอดเบาบาง

ม็อบสวนยางภาคใต้ประกาศเริ่มยกระดับการชุมนุมครั้งใหญ่ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน ที่ผ่านมา โดยขู่ถึงขั้นปิดถนนทั่วประเทศทั้ง 4 ภาค แต่เมื่อถึงเวลานัดหมาย ม็อบสวนยางภาคใต้ถูกโดดเดี่ยวให้ ต่อสู้เพียงลำพัง ส่วนภาคเหนือ อีสาน และ ตะวันออก เก็บตัวเงียบไม่ออกมาร่วมเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลตามที่เคยตกปากรับคำกันไว้

ม็อบสวนยางภาคใต้ยังเดินหน้าขยาย การชุมนุมกดดันรัฐบาลเป็นรายจังหวัด วันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา จังหวัดชุมพร โดยนายชุมพล จุลใส ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กับ นายกฤษณ์ แก้วรักษ์ นายก อบต.ตำบลท่าข้าม นำม็อบกว่า 2,000 คัน จากจังหวัดชุมพร ระนอง และประจวบ คีรีขันธ์ มาชุมนุมปิดศาลากลางชุมพร

จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการแจก ใบปลิวกระจายไปในหลายอำเภอ เนื้อหาระบุถึงเหตุความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ชาวสวน ยางพาราและปาล์ม ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาตกต่ำ พร้อมเชิญชวนประชาชนในพื้นที่ อ.ท่า ศาลา อ.สิชล อ.นบพิตำ และ อ.ขนอม ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา

ประชาชนที่อ้างเป็นชาวสวนยางกว่า 2,000 คน จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รวมตัวสหกรณ์ โคออป อ.พุนพิน จังหวัด สุราษฎร์ธานี แกนนำผู้หนึ่งกล่าวว่า หากยังไม่ได้รับคำตอบหรือแก้ไขจากรัฐบาล อาจจะมีการปิดถนนที่บริเวณทางแยกหนองขรี อ.พุนพิน และปิดทางเข้าออกสนามบินสุราษฎร์ธานีด้วย

ที่จังหวัดระยอง นายเศรษฐา ปิตุเตชะ ส.อบจ. ระยอง นำกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะปลูกยางพารา ชุมนุมปิดถนนหน้าศูนย์ราชการจังหวัดระยอง เพื่อกดดันให้รัฐบาลเร่งหามาตรการแก้ไขราคายางพาราตกต่ำ

การเคลื่อนไหวตลอดวันที่ 2 และ 3 กันยายน ที่ผ่านมา มีการชุมนุมที่อยู่ในระดับเบาบางอย่างยิ่ง คำประกาศข่มขู่ยก ระดับการชุมนุมสร้างความปั่นป่วนไปทั่วทุกภาคของประเทศไม่เกิดขึ้น

มีข้อสังเกตประการหนึ่งน่าสนใจอย่างยิ่งคือ การขยายตัวของม็อบสวนยาง ในต่างจังหวัดนั้น เป็นการนำของ ส.ส. หรือ ตัวแทนนักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น โดยจังหวัดชุมพรนายชุมพล เป็นแกนนำหลัก ที่สหกรณ์ โคออป เป็นพื้นที่สำคัญของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ส่วนจังหวัดระยองเป็น การนำของนายเศรษฐา ผู้มีความใกล้ชิด ส.ส.ประชาธิปัตย์เช่นกัน

นี่คือ รูปแบบการผ่อนคลายของม็อบสวนยางที่ก่อหวอดกันมาอย่างน่าหวาดเสียวตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา

+ รัฐบาลเปิดฉากเจรจา

ตัวแทนม็อบสวนยางได้เข้าเจรจากับตัวแทนรัฐบาลมาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเจรจากับนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขานายกรัฐมนตรี ผลออกมาเพียงชาวสวนยาง อ.ชะอวด ยอมรับการแทรก แซงราคายางพาราที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม และถอยตัวจากการชุมนุมปิดถนน ปิดทางรถไฟ

การเจรจาครั้งที่สอง เป็นการเจรจา ระดับกว้างมีตัวแทนสวนยางพาราทั่วประเทศมาร่วมเจรจากับนายยุคล ลิ้ม-แหลมทอง รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่ กทม. ผลการเจรจาได้ข้อยุติในการแทรกแซงราคายางที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม มีเพียงตัวแทนสวนยางภาคใต้ไม่พอใจ แล้วประท้วงด้วยการเดินออกห้องประชุมไป นั่นเท่ากับตกลงกับรัฐบาลไม่ได้ผล

ดังนั้น จึงมีการเจรจาครั้งที่สาม เป็น การเจรจาเฉพาะแกนนำชาวสวนยางภาค ใต้ โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รอง นายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงการคลัง นัดตัวแทนชาวสวนยางจำนวน 15 คนมาเจรจาที่ กทม.ในวันที่ 4 กันยายน นั่นจึงเป็นเหตุผลให้การยกระดับชุมนุมครั้งใหญ่ของม็อบสวนยางต้องประกาศเลื่อนออกไป เพื่อเข้าสู่กระบวนการเจรจาปัญหา ความเดือดร้อนกับรัฐบาล

สิ่งน่าสนใจคือ ม็อบสวนยางประกาศ เลื่อนการยกระดับชุมนุมออกไป นั่นแปลความได้แน่ชัดเจนว่า การเจรจากับรัฐบาล ในวันที่ 4 กันยายนนี้จะได้ผลตามต้อง การของทั้งสองฝ่าย และหลังจากวันที่ 4 กันยายนนี้ ม็อบสวนยางคงมีแนวโน้มประกาศยุติการชุมนุม

ทางออกการเจรจานั้น ฝ่ายรัฐบาลมีราคาการแทรกแซงยางพาราไว้ชัดเจนแล้ว โดยยืนพื้นราคาเป้าหมายของการเจรจาครั้งที่สองมาเป็นตัวตั้ง คือ กำหนด ราคายางแผ่นดิบ 80 บาทต่อกิโลกรัม พร้อมๆ กับสนับสนุนเงินช่วยเหลือราคาปุ๋ยชาวสวนยางอีกไร่ละ 1,260 บาท

อย่างไรก็ตาม ราคายางพาราที่เหมาะสมย่อมเป็นข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย ในการเจรจา โดยการนำราคาตลาด ราคาแทรกแซง และราคาทางการเมืองมาหาทางรอมชอมเป็นทางออกให้กันและกัน

+ ราคายางพารา-ราคาการเมือง

เมื่อราคายางพาราในปัจจุบันไม่ถึง 80 บาทต่อกิโลกรัม แต่เกิดเหตุการณ์ทาง การเมืองเข้าแทรกแซง เกิดม็อบสวนยางขึ้น การเจรจากับม็อบเกิดผลให้รัฐบาลต้องเข้าแทรกแซงราคายางที่กิโลกรัม ละ 80 บาท ทั้งๆ ที่นายยุคลระบุว่า ราคา ยางในตลาดโลกอยู่ที่กิโลกรัมละ 75 บาท นั่นเท่ากับรัฐต้องเข้ามาเยียวยาถึง 5 บาท ต่อกิโลกรัม

นายยุคล กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศ ผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ คือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ผู้กุมราคากลับเป็นสิงคโปร์และญี่ปุ่นที่เป็นผู้ซื้อ อีกทั้งในอนาคตจะประเทศผู้ผลิตยางเพิ่มขึ้นอีก ทั้งลาว กัมพูชา และเวียดนาม รวมถึงยางสังเคราะห์ ที่มีต้นทุนต่ำ ถ้าเมื่อใดที่รัฐบาลชี้นำราคาจะถูกกดในตลาดโลก จึงยืนยันให้เป็นไปตามกลไกตลาด

แต่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ มีความเห็นแตกต่างออกไป โดยกล่าวว่า รัฐบาลประกันราคาที่กิโลกรัมละ 80 นั้นไม่ถูกต้อง เพราะจะส่งผลต่างประเทศ ไม่รับซื้อยางพาราที่สูงกว่านี้ ควรประกันราคาที่กิโลกรัมละ 92 บาท

"รัฐบาลสามารถไปเจรจาตกลงกับประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียเพื่อดึงราคายางขึ้น และแจ้งเตือนไปยังญี่ปุ่นและ จีนที่เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลทำได้ แต่ไม่ทำ ทั้งที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก มีผลผลิตยาง ร้อยละ 33 ของโลก ไทยจึงควรจับมือกับอินโดนีเซียตรึงราคาในตลาดโลกไว้ รวมทั้งรับประกันราคายางพาราในราคากิโลกรัมละ 100 บาท ต้องใช้เงิน 4.2 ล้านบาท เมื่อเทียบกับการลงทุนโครงการรับจำนำข้าวที่ขาดทุนถึง 1.6 แสนล้านบาท" นายชินวรณ์ ระบุ

ส่วนม็อบสวนยางที่ปักหลักชุมนุมมา ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา และกระจายม็อบปิดถนน ปิดทางรถไฟที่ อ.ชะอวด นั้น พวกเขาเรียกร้องว่า ต้องการให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงราคายางพาราที่กิโลกรัมละ 120 บาท แล้วลดลงเหลือ 101 บาท ดังนั้น เมื่อนำราคายางพาราของฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนักการเมืองประชาธิปัตย์ และฝ่ายม็อบมาหาทางคลี่คลายปัญหาแล้วย่อมเป็นเรื่องยากอย่างมาก

ราคาตลาดโลกที่เกิดขึ้นตามกลไกราคายางพาราอยู่ที่กิโลกรัมละ 75 บาท รัฐบาลเจรจากับฝ่ายม็อบจากอีสานและตะวันออกได้ราคา 80 บาท ส.ส.ประชาธิปัตย์เสนอราคาที่ 92 บาท ส่วนม็อบสวน ยางเรียกร้องราคา 101 บาท ด้วยเหตุนี้ มี ความเป็นไปได้สูงว่า การเจรจาเพื่อยุติปัญหา คงอยู่การแทรกแซงจากรัฐบาลด้วยราคา 92 บาท ซึ่งเป็นราคาทางการเมืองพรรคประชาธิปัตย์เสนอ และเชื่อว่า ม็อบสวนยางคงคล้อยตามอย่างว่านอนสอนง่าย

สาเหตุเพราะพื้นฐานการแทรกแซง ของรัฐบาลนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนกรานว่า ราคาสูงเกิน 100 บาทรัฐบาลยอมรับไม่ได้แน่นอน

อีกสาเหตุคือ สถานการณ์ราคายาง พาราในตลาดรับซื้อของไทย โดยพิจารณา จากข้อมูลราคาเมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่าน มาการรับซื้อยางพารา ณ ตลาดกลางยางพาราภาคใต้ระบุว่า ราคายางแผ่นดิบ คุณภาพดีเฉลี่ยกิโลกรัมละ 77 บาท ยางแผ่นรมควัน 1-3 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 79 บาท

ดังนั้น ทางออกในการเจรจาครั้งใหม่ มีความชัดเจนว่า ราคาแทรกแซงของรัฐบาลคงไม่สูงไปกว่ากิโลกรัมละ 100 บาท และไม่เป็นไปตามการเรียกร้องของม็อบสวนยาง แต่หากนำราคาแทรกแซงทาง การเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ที่ราคากิโลกรัมละ 92 บาท มาเข้าร่วมโต๊ะเจรจา คาดว่าผลการเจรจาคงมีข้อยุติ

เพราะความเห็นของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คือทิศทางความต้องการของม็อบสวนยาง ด้วยเหตุนี้การเจรจาราคายางพาราจึงมีส่วนของการเมืองเข้ามาปะปนอย่างสูงยิ่ง และเป็นส่วนผสมของการเจรจาทางการเมืองโดยมีปัญหาของยางพาราเป็นตัวตั้งในระดับราคากิโลกรัม 80-92 บาท

และนี่คือ ราคาการแทรกแซงที่เป็นทางออกให้ม็อบสวนยางยุติการชุมนุม


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ