ฝ่าวิกฤติยางเดือดอีกบทพิสูจน์กึ๋นรัฐบาล

วันเสาร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2556

ฝ่าวิกฤติยางเดือดอีกบทพิสูจน์กึ๋นรัฐบาล


ปัญหายางพารากำลังร้อนแรงขึ้นทุกขณะ ตั้งแต่การเจรจาระหว่างชาวสวนกับภาครัฐที่ไม่สำเร็จ กระทั่งมีบุคคลนิรนามสาดกระสุน เข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุม 5 นัด ส่งผลให้ผู้ชุมนุมทั้งเจ็บ และสูญเสียชีวิต แน่นอนความรุนแรงครั้งนี้กระทบกระเทือนจิตใจของชาวสวนยางที่ตอนแรกยังไม่คิดจะออกมาเคลื่อนไหว แต่ด้วยแรงกระตุ้นแบบนี้คงทนเฉยอยู่ไม่ได้ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้รับการยอมรับ และตอบรับจากกลุ่มชาวสวนยางจังหวัดอื่นมากขึ้น

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการ วิจัย ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ให้ทรรศนะเกี่ยวกับการแทรก แซงราคายางในประเทศไทยว่า ตัวแปรที่กำหนดราคายางมี 2 ตัวแปรหลัก คือ ราคา น้ำมัน กับเศรษฐกิจโลก ซึ่งปัจจัยเศรษฐกิจโลกก็สะท้อนไปสู่อีกตัวแปรคือความต้องการ ใช้ยางของประเทศที่สำคัญ เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น พอราคายางเริ่มสูงขึ้นมีประเทศต่างๆ หันมาปลูกยางมากขึ้นและเมื่อดูรอบบ้านเราจะเห็นว่าในระยะหลังหลายประเทศอย่าง ลาว กัมพูชา จีน สิบสองปันนาเรื่อย ไปจนถึงปากีสถาน ฯลฯ ก็หันมาปลูกยางกันมากขึ้น ยางใช้เวลา 5-6 ปีจึงจะเริ่มกรีดได้ และในช่วงนี้ก็เป็นช่วงมีผลผลิตออกมามากขึ้นนี่เป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่สะท้อน ว่าตอนนี้เราอยู่ในช่วงยางขาลงและคาดว่ายังจะลงต่อ

รัฐบาลอาจจะมีเหตุผลในการช่วยเกษตรกรรับมือกับราคาที่ตกต่ำกะทันหันแต่รัฐบาลไม่ควรตั้งเป้ายกระดับราคาให้สูง กว่าราคาตลาดโลก ยางเป็นสินค้าเกษตร อีกตัวอย่างหนึ่งที่รัฐบาลพยายามและมีมาตรการมาหลายอัน เช่น การร่วมมือกับ ประเทศอื่นเพื่อกำหนดราคาสินค้าเกษตร ซึ่งยางเป็นตัวที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด คือมีการประชุมที่เรียกว่า ITRC และมีการตั้งองค์กรที่เรียกว่า IRCo โดยเป็นความร่วมมือของประเทศหลักที่ปลูกยางพารามากที่สุดของโลก 3 ประเทศคือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ปีที่แล้วช่วงที่ราคายางต่ำลงก็มีการประชุมแต่ก็หาทาง ออกไม่ได้ เสร็จแล้วก็ให้แต่ละประเทศกลับไปลดการส่งออกร้อยละ 10 ซึ่งในทางปฏิบัติไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริง IRCo ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ตั้งขึ้นมาใน ช่วงราคาค่อนข้างดีคนที่เอามาตรการนี้มาใช้ก็คุยกันว่าสามารถทำให้ราคายางดีอย่างที่ไม่เคย ปรากฏมาก่อน พอถึงยามที่ราคายางตกลงเราก็ได้รู้ว่าองค์กรนี้ช่วยอะไรไม่ได้เลย!

ดร.วิโรจน์ เสนอทางออกว่า ถ้ายอมถอยและยึดหลักการไม่พยายามไปสู้กับตลาด สิ่งที่รัฐบาลทำได้คือ ทำให้ราคาในประเทศผันผวนน้อยกว่าราคาตลาดโลก โดยอาจใช้มาตรการเก็บภาษีเวลาราคาในตลาดโลกสูง และเวลาราคายางตกต่ำก็มาอุดหนุนการส่งออกแทน เป็นการแทรกแซงเมื่อจำเป็น ซึ่งก็คงมีข้อถกเถียง กันได้มากว่าแค่ไหนถึงจะพอดี หลายคนก็พูดถึงต้นทุน แต่ผมจะชี้ข้อเท็จจริงอันหนึ่งคือ ยางที่กำลังกรีดกันในวันนี้ ต้องมองถอยหลังไปที่ 5 ปีครึ่ง สำหรับภาคใต้ และนานกว่านั้นสำหรับภาคอีสาน ณ เวลาที่เกษตรกรตัดสินใจปลูกกัน ก็คงคงคิดต้นทุนและราคาที่จะขายได้ไว้แล้ว ซึ่งตอนนั้นผมเชื่อว่าเกษตรกรแทบจะไม่มีใครที่คิดว่าแทบจะได้ราคาสูงกว่า กิโลกรัมละ 50 บาท ส่วนต้นทุนก็คงพูดได้ว่าต่ำกว่า 50 บาท แต่ทีนี้หลังจากปลูกมาแล้วก็เกิดสถานการณ์ที่ว่า ใน 2-3 ปี ถัดมาราคายางขยับขึ้นมา 70 บาทไปจนถึงมากกว่า 100 บาท และก็กลับมาลดลง

ช่วงที่ยางขึ้นไปเกิน 100 บาท หรือ 100 บาท ปลายๆ เกษตรกรก็มีฐานะดีขึ้นมากดูได้จากยอดการซื้อรถปิกอัพที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ในแง่หนึ่งอาจพูดได้ ว่าช่วงนั้นเป็นลาภลอยของชาวสวนยาง ไม่ได้เป็นฝีมือจากใครแต่มาจากปัจจัยน้ำมันที่สูงขึ้นตอนนั้น พอเป็นแบบนั้นเมื่อ ราคาตกลงมา เกษตรกรซึ่งคิดว่าราคาควร จะยืนอยู่ในระดับสูงก็อาจจะรู้สึกว่าแย่หรือ ตัวเองไม่ได้รับความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม การจะทำระบบรักษาเสถียรภาพราคายางก็ต้องคำนึงถึงเรื่องพวกนี้ด้วย คิดว่าราคาที่เกิน 100 บาทหรือใกล้ๆ 100 บาท เป็นราคาที่ไม่สามารถคาดหวังได้ในระยะยาว

บทเรียนที่รัฐบาลได้แม้จะยังไม่ได้ยอมรับเต็มปาก คือ ไม่สามารถไปสู้กับราคาตลาดโลกได้จริง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไร ปัญหาที่รัฐบาลสร้างและพยายามหา ทางลง คือ รัฐบาลมีปัญหากับข้าวและพยายามแก้ปัญหาโดยการปรับนิดปรับหน่อย ปรับราคาและยอดรับจำนำลงโดย หวังจะทำให้ตัวเลขค่าใช้จ่ายลดลง รวมถึงแนวทางอื่นๆ แล้วคิดว่าปรับแล้วมันจะพอไปได้ ผมคิดว่ารัฐบาลจะเอาตัวรอดจากตรงนี้ได้ก็ต่อเมื่อไม่มีปัญหาอื่นแทรกเข้ามา และเราก็ได้เห็นว่ามันไม่จริง เพราะตอนนี้ยางก็เป็นประเด็นขึ้นมา และอาจจะมีที่ตามมาอีกคือ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ฯลฯ

นั่นเป็นแนวคิดในเรื่องการจัดการปํญหายางพาราที่รัฐบาลจำต้องพิจารณาในขณะนี้ก่อนที่ปัญหานี้จะกลายเป็นไฟลาม ทุ่ง ตลอดระยะเวลาที่บริหารประเทศมาเชื่อว่ารัฐบาลได้รับบทเรียนในการกำหนด นโยบายเรื่องสินค้าเกษตรมาพอสมควรแล้วเรื่องนี้หากภาครัฐจริงใจก็น่าจะผ่านไปได้ด้วยดี


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ