ยกระดับ"ม็อบยางพารา"สู่การเมือง เจตนาทำลาย"เกษตรกร"

วันพุธที่ 04 กันยายน พ.ศ. 2556

ยกระดับ


วิเคราะห์การเมือง : by นพคุณ ศิลาเณร

ม็อบยางพารามีการเมืองหนุนอยู่เบื้องหลังเบื้องหน้ามากน้อยเพียงไรยังไร้ความชัดเจน แต่สิ่งปรากฏต่อตาทนโท่คือ การเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปสัมพันธ์กับม็อบตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม เป็นต้นมา

กลุ่มนักการเมืองภาคใต้จากพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มจากนายวิทยา แก้วภราดร ส.ส.นครศรีธรรมราช ประกาศสนับสนุนการชุมนุมของม็อบสวนยางพารา แล้วนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายถาวร เสนเนียม นายเทพไท เสนพงษ์ ตามเข้าสมทบ และปรากฏกายกลางม็อบ

ไม่แปลกเลยที่ ส.ส.ประชาธิปัตย์เหล่านั้นเข้าร่วมสนับสนุนม็อบ เพราะม็อบเป็นเกษตรกรยางพารา เป็นฐานเสียงการเมืองของพวกเขา การยืนเคียงข้างเกษตรกรจึงน่าชื่นชม

แต่อีกฝ่าย นักการเมืองจากซีกรัฐบาลและส.ส.เพื่อไทย กลับใช้การเคลื่อนไหวของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ มาโจมตี แล้วลากไปกล่าวหาม็อบเกษตรกรยางพาราว่า เป็นม็อบการเมือง นั่นเท่ากับทำลายความชอบธรรมของเกษตรกรที่เดือดร้อนจากราคายางพาราตกต่ำ

นี่คือ มิติทางการเมืองที่เข้าไปปะปนกับการเคลื่อนไหวของม็อบยางพารา จนกลายเป็นปัญหาทางการเมืองทั้งฝ่ายประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ซึ่งปกป้องรัฐบาลและปั่นให้เป็นม็อบการเมืองด้วยเจตนาจงใจอย่างน่าสนใจ

+ ม็อบการเมือง!?

จุดเริ่มต้นข้อกล่าวหาว่าเป็น "ม็อบการเมือง" นั้น มาจากการประโคมของฝ่ายพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล โดยใช้วิธีคิด เชื่อมโยงปรากฏการณ์อย่างน้อย 4 เหตุการณ์มาผสมคลุกเคล้าจนมีหน้าตาเป็น "ม็อบประชาธิปัตย์จัดตั้ง" ไปในบัดดล

เหตุการณ์หนึ่ง อยู่ที่ม็อบยกระดับความรุนแรงจากปิดถนน เข้าปะทะกับตำรวจจนหัวแตก เลือดอาบ บาดเจ็บพอสมน้ำสมเนื้อทั้งสองฝ่าย แล้วเคลื่อนกำลังปิดเส้นทางรถไฟ ทำให้การคมนาคม ทั้งขึ้น-ล่องภาคใต้กลายเป็นอัมพาตทันตา เห็นพฤติกรรมเช่นนี้ ถูกอธิบายว่า นำไปสู่เป้าหมายทางการเมือง

เหตุการณ์สอง การเจรจากับนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลล้มเหลวการเจรจากับม็อบ นั่นคงเป็นเพราะกลัว เสียหน้าจึงให้ค่าม็อบเป็นกลุ่มการเมือง

เหตุการณ์สาม มีกลุ่มเกษตรกรยางพาราบางส่วนยอมรับราคา 80 บาทต่อกิโลกรัม แล้วถอนตัวจากการม็อบ พร้อมๆ กับกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อ.ชะอวด นครศรีธรรมราช เรียกร้องให้ม็อบยุติการปิดถนน รถไฟ เพราะสร้างความเดือดร้อน ซ้ำร้ายโรงพยาบาล อ.ชวด ได้รับผลกระทบตามไปด้วย... สิ่งนี้เป็นเหตุผลนำไปสู่การแยกความเดือดร้อนของเกษตรกรและเป้าหมายทางการเมืองออกจากกัน

เหตุการณ์สี่ ในทางการเมืองแล้ว ประชาธิปัตย์กับรัฐบาล และเพื่อไทยต่อสู้กันอย่างรุนแรง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำคนสำคัญ ประกาศต่อสู้ทั้งในสภาและนอกสภาเพื่อบรรลุเป้าหมาย "ล้มรัฐบาล" ให้ได้

เหตุการณ์นี้สำคัญ เพราะเป็นแกนกลางหลักในการลากให้สถานการณ์ทั้ง หมดมาผสมส่วนจนมีหน้าตาเป็นม็อบประชาธิปัตย์ ตรงนี้น่าสนใจอย่างยิ่ง

น่าสนใจเพราะประชาธิปัตย์ประกาศต่อสู้ทางการเมืองเพื่อล้มรัฐบาลเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม การก่อหวอดทั้งในสภา ป่วน ตีรวนการประชุม และระดมมวลชนเคลื่อนไหวกดดันข้างถนน โดยมีเงื่อนไขสำคัญอยู่ที่ล้มกฎหมายนิรโทษกรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท

ช่างบังเอิญเหลือจินตนาการจะหยั่งถึงได้ ม็อบเกษตรกรยางพาราผุดขึ้นอย่างรุนแรงตั้งแต่ 23 สิงหาคม ปะทะกับตำรวจ จนหัวร้างข้างแตก บาดเจ็บกันไม่น้อย

ความรุนแรงของม็อบเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ประชาธิปัตย์กำลังสูญเสียทางการเมือง ถูกสังคมตราหน้าว่าจงใจป่วน ตีรวนการประชุมเมื่อ 20 สิงหาคม ในการพิจารณาร่างกฎหมายแก้รัฐธรรมนูญว่าด้วยสมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง

ม็อบยางพารายกระดับความรุนแรงไปเรื่อยถึงขั้นปิดเส้นทางรถไฟ ตัด ขาดการคมนาคมอย่างสิ้นเชิง พฤติกรรมเช่นนี้มีความหมายชัดเจนว่า ไม่ได้ต้องการราคายางพารา 120 บาทต่อกิโลกรัม แต่ยั่วยุให้รัฐบาล "สั่งปราบ" ใช้ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม

หากรัฐบาลสั่งปราบนั่นเท่ากับสูญเสียทางการเมืองครั้งใหญ่ และพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง ความรุนแรงจะขยายตัวไปทั่วภาค ใต้ รวมทั้ง กทม.ด้วย แต่รัฐบาลกลับนิ่งอาศัยการเจรจาเป็นตัวชะลอความรุนแรง แล้วค่อยๆ แยกสลายมวลชนทีละขั้น

ทุกเหตุการณ์และพฤติกรรมของม็อบเช่นนี้ เมื่อเกิดขึ้นที่ภาคใต้ ฐานทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ การขยายความรุนแรง ตัดขาดการคมนาคมในภาคใต้ และสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน จึงทำให้จินตนาการของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ขมวดปมกล่าวหาว่า เป็นม็อบการเมือง

แต่ความจริงคือ ความเดือดร้อนของเกษตรกร และเพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดมาเป็นปีตั้งแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วเผชิญกับข้อเรียกร้อง ราคายางพารา 120 บาทต่อกิโลกรัม มาเป็นระยะและต่อเนื่อง

+ เกษตรกรก่อหวอด ปัญหาสะสม

ม็อบยางพาราไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่การชุมนุมในวันที่ 23 สิงหาคมมีความรุนแรง ยกระดับมาตรการสร้างความกดดันต่อรัฐบาลครั้งใหญ่ "ล้วนมาจากความเหลืออด" ของรัฐบาลที่ไม่แก้ไขราคายางพาราตกต่ำ

ม็อบยางพารายื่นข้อเรียกร้องราคายางพารา 120 บาทต่อกิโลกรัม มาต่อเนื่อง เป็นขั้นเป็นตอน หากตัดตอนเฉพาะรัฐบาลยิ่งลักษณ์แล้ว เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 มาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง

10 มกราคม 2555 ในสมัยนายธีระ วงศ์สมุทร เป็นรมว.เกษตรและสหกรณ์ กลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายและเกษตรกรชาว สวนยางพารา ได้ปิดถนนทั้งเส้นทางสายหลักและสายรอง บริเวณสี่แยกคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เรียกร้องให้ปรับราคายางพาราแผ่นรมควันจากกิโลกรัมละ 70-80 บาท เป็นกิโลกรัมละ 120 บาทในขั้นต่ำ การชุมนุมครั้งนี้ยุติลงภายในวันเดียว ข้อเรียกร้องไร้การตอบรับทุกอย่างเงียบ

ไม่ใช่มีแต่ความเดือดร้อนเกษตรกรภาคใต้ ทางภาคอีสานฐานเสียงใหญ่ของพรรคเพื่อไทยเริ่มก่อหวอดขึ้นเช่นกันเกษตรกรยางพาราหนองบัวลำภู ชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัด เป็นการชุมนุมแบบนิ่มนวล ไม่รุนแรง พวกเขาเพียงส่งหนังสือ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดมาถึงรัฐบาลให้แก้ไขราคายางพาราตกต่ำ

เกษตรกรยางพาราภาคใต้ชุมนุมอีก ครั้งในวันที่ 29 พฤษภาคม นายอำนวย พูลเนียม นายเกียรติศักดิ์ จันหุณี และนายวัฒนา เกื้อสกุล แกนนำชมรมชาวสวนยางพาราภาคใต้ นำเกษตรกรประมาณ 100 คน ชุมนุมอีกครั้ง ไม่ปิดถนน เพียงข่มขู่ กำหนดเวลาให้รัฐบาลแก้ปัญหา

แต่ 19 มิถุนายน ชุมนุมอีก กระทั่งกรกฎาคมเอาจริง คราวนี้ปิดถนนทางหลวงเอเชีย 41 ที่บริเวณแยกบ้านท่าน้ำแห้ง ท้องที่หมู่ 4 ต.คลองไทร อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี

ทุกครั้งที่เกษตรกรชุมนุม ล้วนมีข้อเรียกร้องประเด็นสำคัญคือ ให้รัฐบาลแทรกแซงราคายางพาราเป็น 120 บาทต่อกิโลกรัม และเป็นข้อเรียกร้องเดิมๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2555 แล้วลากมาถึงปี 2556 เริ่ม เดือนพฤษภาคม กรกฎาคม เข้าสู่ต้นสิงหาคม และระเบิดรุนแรงครั้งใหญ่เมื่อ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา

หากทำความเข้าใจการชุมนุมของเกษตรกรยางพาราแล้ว ย่อมชัดเจนว่า เป็นปัญหาความเดือดร้อนจากราคายางพารา ตกต่ำ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะจังหวัดภาคใต้ แต่พิษณุโลก ศรีสะเกษ ก็เคยก่อหวอดชุมนุมขึ้นเช่นกัน

ดังนั้น การก่อม็อบของเกษตรกรยางพาราจึงมีพื้นฐานจากความเดือดร้อนของเกษตรโดยตรง และเป็นความเดือดร้อนสะสม ไม่ได้รับการแก้ไข แล้วกลายเป็นปัญหาบานปลายไปสู่ความรุนแรงอย่างเหลืออด

ความเดือดร้อนนี้คือ ความจริงบริสุทธิ์ของเกษตรกร และไม่ใช่ความจริงที่ถูกเร่ง โหมประโคมว่า ม็อบการเมือง แต่เจตนาของอารมณ์การเมืองเข้าไปพัวพันนั้น ยากสุดหยั่งถึง

+ จับตาม็อบบานปลาย

3 กันยายนนี้ ม็อบยางพาราขีดเส้น ตายจะก่อหวอดปิดถนนทั่วประเทศหากข้อเรียกร้องราคายางพารา 120 บาทต่อกิโลกรัม ไม่ได้รับการตอบสนอง เพราะเกษตรกรจากเหนือ อีสาน ตะวันออก และตะวันตก จะเข้าร่วมสมทบด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพยายามเจรจา และได้ข้อสรุปในการแทรกแซงราคายางพาราที่ 92 บาทต่อกิโลกรัม จนสถานการณ์คลี่คลายไปได้มาก เกษตรกรจากเหนือ อีสาน และภาคอื่นยอมรับในข้อตกลง ยกเว้นเกษตรกรภาคใต้เดินออกจากห้องประชุม ล้มโต๊ะเจรจา

ม็อบยางพาราปิดถนนและทางรถไฟ สายใต้ของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ อ. ชะอวด จ. นครศรีธรรมราช ยัง ไม่ลดระดับความรุนแรงลง ซ้ำร้ายการออกหมายจับ 9 แกนนำกลับเติมเชื้อไฟให้โหมแรงขึ้น

ถึงที่สุดแล้ว การเจรจากลับมีทีท่าผ่อนคลายลงได้บ้าง เมื่อม็อบได้ลดข้อเรียกลงจากราคา 120 บาท มาสู่การแทรกแซงที่ราคา 107 บาทต่อกิโลกรัม แต่รัฐบาลกลับยืนกรานที่ราคา 92 บาท เพราะเป็นราคาที่เกษตรกรยังได้กำไรอยู่ดี ถึงได้น้อยลงก็ตาม

ปัญหาสำคัญคือ เบื้องต้นรัฐบาลยื่นข้อเสนอแทรกแซงที่ราคา 80 บาทต่อกิโลกรัม เพราะบนพื้นฐานราคานี้เกษตรกรยังมีกำไรอยู่ และประเด็นกำไรนี้เองนำ ไปสู่ปัญหาทำให้ม็อบยางพารากลายเป็นม็อบการเมือง เนื่องจากการก่อม็อบในมุมมองของรัฐบาลแล้ว เกิดจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ แต่ทำให้กำไรของเกษตรกรลดน้อยลง เป็นปัญหาขาดทุนกำไรที่เคยได้รับต่างหาก

หากประเมินด้วยระดับราคาที่รัฐบาลตกลงแทรกแซงแล้ว คงเป็นที่น่าพอใจของเกษตรกร ดังนั้นการยุติม็อบ เปิดถนนและเส้นทางรถไฟจึงมีแนวโน้มที่ดี เพียงแต่ในสถานการณ์ขณะนี้ อยู่ในขั้นการผ่อนคลายอารมณ์ของม็อบเพื่อนำไปสู่การเลิกรา

ดังนั้น 3 กันยายนนี้ ปัญหาของม็อบจึงอยู่ในระดับคลี่คลายตัวอย่างอุ่นใจ เพราะแนวโน้มข้อเรียกร้องเริ่มมีรูปธรรมตกลงกันได้ และอาจจบลงด้วยความนิ่มนวล นั่นสะท้อนถึงปัญหาความเดือดร้อน ไม่ใช่ม็อบการเมืองจัดตั้งได้ชัดเจน


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ