"NIA" สานต่อ "Startup Thailand Marketplace" ปีที่ 3 ส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทยในการสร้างตลาดใหม่

วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2565



Marketplace แหล่งรวมร้านค้า สินค้าและบริการ ที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้เจ้าของธุรกิจได้พบเจอกับลูกค้าได้ง่ายดายและสะดวกยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดต่างๆ มากมาย การพบเจอแบบตัวต่อตัวและการจัดงานโชว์เคสของสตาร์ทอัพไทยมีความเป็นไปได้ยาก ‘สำนักงานนวัตกรรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA’ โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะหน่วยงานหลักที่ส่งเสริมและพัฒนาระบบนิเวศสตาร์อัพของประเทศไทย จึงเกิดโครงการ ‘Startup Thailand Marketplace’ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทยในการสร้างตลาดใหม่ และทำให้พวกเขามีพื้นที่ในการเข้าถึงลูกค้าไม่ว่าจะเป็นลูกค้าแบบ B2B หรือ B2C ได้ง่ายขึ้น

Startup Thailand Marketplace เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2563 ในรูปแบบการช่วยประชาสัมพันธ์สตาร์ทอัพให้เป็นที่รู้จัก ผ่าน 3 กิจกรรม ประกอบด้วย 1) รายการไลฟ์สัมภาษณ์สด Startup Marketplace is Live Now ผ่านแพลตฟอร์มของ Influencer ชื่อดังต่างๆ 2) จัดทำคลิปวิดีโอแนะนำสตาร์ทอัพแต่ละราย เพื่อขยายช่องทางโปรโมทผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของ Startup Thailand (Facebook และ Youtube) 3) จัดทำบทความเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ - เพื่อเพิ่มช่องทางการรับรู้ และทำให้สตาร์ทอัพรายนั้นๆ เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้นโดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมามีสตาร์ทอัพเข้าร่วมโครงการ Startup Thailand Marketplace กว่า 200 ราย โดยจากผลการดำเนินงานทำให้สามารถเพิ่มยอดขายได้ถึง 10-20% และขยายตลาดคิดเป็นมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท

ถึงแม้ว่าในปี 2565 ประเทศไทยได้มีการเปิดประเทศและเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งหลังจากหยุดชะงักมาเป็นเวลากว่า 2 ปี NIA ยังคงสานต่อโครงการ Startup Thailand Marketplace เป็นปีที่ 3 ด้วยกิจกรรมส่งเสริมการตลาดให้สตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพหน้าใหม่, สตาร์ทอัพด้าน Deep Tech เทคโนโลยีเชิงลึก นวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศในอนาคต และสตาร์ทอัพที่พร้อมเปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้าร่วมลงทุน ให้สตาร์ทอัพเหล่านั้นเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นและเป็นการสร้างเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพของประเทศไทยให้แข็งแกร่ง

โดยได้ส่ง 30 ไอเดียสตาร์ทอัพ ขึ้นเผยแพร่ผ่านช่องยูทูปของ Startup Thailand  บนเพลย์ลิสต์ Startup Founder ด้วยคลิปสัมภาษณ์ 30 ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพชั้นนำ (Startup Founder) ที่มากด้วยประสบการณ์และสามารถนำพาธุรกิจฝ่าวิกฤตต่างๆ มาได้ เพื่อเล่าถึงวิสัยทัศน์ มุมมองและแรงบันดาลใจ อาทิ สตาร์ทอัพรุ่นใหญ่อย่าง Builk One Group ผู้บริการพัฒนาซอฟท์แวร์และให้บริการ e-commerce ด้านอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ที่มีจุดมุ่งหมายว่าจะพัฒนาวงการก่อสร้างให้ดีขึ้น หรือในกลุ่ม HealthTech อย่าง Agnos ที่ใช้เทคโนโลยี AI ช่วยวิเคราะห์อาการป่วย วิเคราะห์โรค คัดกรองและให้คำแนะนำก่อนที่จะไปพบแพทย์ และ Smile Migraine ที่สร้างชุมชมของผู้ป่วยโรคไมเกรน ให้ได้รับคำปรึกษา คำแนะนำต่างๆ และช่วยเหลือเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยโรคปวดหัวไมเกรนต้องต่อสู้กับโรคอย่างโดดเดี่ยวและกลุ่ม Business Service อย่าง EzyGas ที่พัฒนาระบบจัดการร้านแก๊ส เพื่อให้ทุกอย่างง่าย รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือ Loops แพลตฟอร์มบริการจัดหารถโดยสารหลังงานคอนเสิร์ต เพื่อช่วยให้การกลับบ้านหลังจากงานคอนเสิร์ตนั้นสะดวก และปลอดภัยยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังมีสตาร์ทอัพในกลุ่มการเกษตรไม่ว่าจะเป็น Farmbook และ Happy Grocer ที่ช่วยเชื่อมต่อผู้ซื้อกับผู้ขายได้ สร้างตลาดและช่องทางการขาย สร้างเครื่องมือที่สะดวกสบายให้เกษตรกร หรือ Techmorrow ที่ใช้เทคโนโลยี deep tech อย่าง AI และ IoT มาใช้เพื่อคอย Monitor พฤติกรรมการทำการเกษตรของเกษตรกร ควบคู่ไปกับปัจจัยต่างๆ เช่น แสงแดด ความชื้น ปริมาณฝน เพื่อนำไปประมวลผลและสามารถสั่งงานได้แบบอัตโนมัติ

โมเดลเศรษฐกิจ “BCG” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวคิดของรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็ได้มีสตาร์ทอัพหลายๆ รายก็นำแนวคิด Circular Economy มาปรับใช้ในธุรกิจ อาทิ MoreLoop สตาร์ทอัพที่แก้ปัญหาผ้าค้างสต็อค และตอบโจทย์คนที่ต้องการผ้าลักษณะที่ต้องการในราคาที่รับได้ รวมถึงสนับสนุนความยั่งยืนอีกด้วย หรือ B.S.N.Life ที่พัฒนา Keah Spa Gel เจลทาแก้ปวดที่พัฒนาจากของเหลือทิ้งอย่าง “ไขมันจระเข้น้ำจืด” ที่เป็นภาระของผู้ประกอบการในการกำจัดอย่างถูกต้อง และ All About Extract ที่ส่งเสริมความยั่งยืน ด้วยการนำกากใยของมัลเบอร์รี่ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระมาสกัด เพื่อลดต้นทุนการจัดการปัญหาขยะเช่นกัน

ที่ขาดไม่ได้สำหรับสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี AI, Robotics และ Immersive, IoT ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพและสร้างมูลค่าให้แก่สตาร์ทอัพทั่วโลกในทุกๆ อุตสาหกรรม อย่างเทคโนโลยีหุ่นยนต์หรือ Robotics ที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกสบายอย่าง GenSurv Robotics ได้พัฒนารถฟอร์คลิฟท์สัญชาติไทยที่มีราคาย่อมเยาว์ หรือ Automa สตาร์ทอัพที่พัฒนาศาสตร์ด้าน ‘Artificial Hormones’ ต่อยอดสู่ ‘Zoocial’ หุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในงานด้านพัฒนาการเด็กเล็ก หรือเทคโนโลยีด้าน AI ที่ได้สตาร์ทอัพอย่าง Blue Ocean กับ ‘XRSIM’ ที่พัฒนาต่อยอดมาจากด้านธุรกิจเพื่อประยุกต์ใช้กับการฝึกอบรมที่มีความเสี่ยงและต้นทุนสูง หรือ Crest Kernal ที่ใช้ Computer Vision (CV) เป็นแขนงหนึ่งของ AI ที่ฝึกให้เครื่องจักรมองเห็น จดจำ ทำความเข้าใจ และตอบสนองต่อข้อมูลภาพได้อย่างชาญฉลาด ตอบโจทย์สังคมสูงอายุด้วยการนำเทคโนโลยี deep eyes มาใช้ในการเฝ้าระวังความปลอดภัยผู้สูงวัย แจ้งเตือนเมื่อมีการล้ม แยกแยะวัตถุต่างๆ ได้

ทั้งหมดคือความมุ่งมั่นของ NIA ที่อยากจะช่วยขยายช่องทางการตลาดให้แก่สตาร์ทอัพ  เชื่อมโยงตลาดสตาร์ทอัพไทย สู่การเติบโตในตลาดสากล รวมทั้งช่วยสร้างแรงบันดาลใจและเติมเชื้อไฟในการทำธุรกิจให้ก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

สำหรับนักลงทุน สตาร์ทอัพ ผู้บริโภคและผู้ที่สนใจ สามารถรับชมทั้ง 30 คลิปได้ผ่านช่องยูทูปของ Startup Thailand ใน Playlist: Startup Founder 2022



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ