นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวว่า ไทยเบฟมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งแม้ต้องเผชิญกับความท้าทายจากโควิด-19 โดยในปีนี้ ประเทศไทยและเวียดนามซึ่งเป็นตลาดหลักทั้งสองแห่งของเรา ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ซึ่งรวมถึงข้อจำกัดด้านการเดินทางระหว่างประเทศและมาตรการทางสังคม นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ผู้บริโภคกลับมารับประทานอาหารภายในร้านได้ตามเดิม ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และการบริโภคกลับมาฟื้นตัว โดยปัจจัยดังกล่าวช่วยให้รายได้และกำไรของกลุ่มเติบโตขึ้น ดังที่ได้เห็นจากผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรก (ต.ค. 64-มิ.ย. 65) มีรายได้จากการขายเติบโต 8.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 2.07 แสนล้านบาท และกำไรเพิ่มขึ้น 6.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 39,110 ล้านบาท
“ถึงแม้การได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกตินั้นจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่เรายังต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ จากภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ท่ามกลางความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นจนอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคในครัวเรือน โดยเราจะยังคงดำเนินมาตรการบริหารต้นทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป เพื่อให้กลุ่มมีความพร้อมรับมือกับแรงกดดันเหล่านี้ และด้วยรากฐานอันมั่นคงของไทยเบฟ เราเชื่อมั่นว่าจะสามารถรับมือกับความท้าทายต่างๆ ได้อย่างมั่นคงและหนักแน่น แม้ช่วงเวลาอันเลวร้ายที่สุดของการระบาดของโควิด-19 จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่เราจะไม่นิ่งนอนใจ เราจะมุ่งมั่นเสริมสร้างธุรกิจและเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงิน พร้อมทั้งดูแลและปกป้องบุคลากรของเราทั้งในด้านสุขภาพและความปลอดภัยขณะเดียวกัน เรายังมุ่งมั่นสรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน (Enabling Sustainable Growth) ด้วยการตั้งเป้าหมายเพื่อให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2583”
พร้อมกันนี้ แผนดำเนินงานธุรกิจที่วางไว้บริษัทจะเดินหน้าขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำตาลน้อยและไม่มีน้ำตาล หรือไม่มีพลังงานให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เน้นทั้งด้านสุขภาพและนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคตั้งแต่คนรุ่นใหม่ขึ้นมาจนถึงสูงวัย รวมถึงลงทุนด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจนี้ โดยในปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 65-ก.ย. 66) บริษัทมีแผนลงทุนประมาณ 5,000-8,000 ล้านบาท โฟกัสด้านการขนส่งและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในเครือ หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีการซื้อกิจการเข้ามามากในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งการลงทุนนี้จะสนับสนุนธุรกิจเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ไปพร้อมกัน เช่น ระบบขนส่งกระจายสินค้า โกดังสินค้า รวมถึงการเปลี่ยนรถขนส่งประมาณ 1 ใน 3 เป็นรถไฟฟ้า
อีกทั้ง วางแผนรุกเข้าสู่ธุรกิจสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ ยังมีผู้เล่นไม่มากนัก อีกทั้งบริษัทยังสามารถสร้างความได้เปรียบจากการต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทำเล และธุรกิจอื่น ๆ ที่บริษัทมีอยู่แล้วได้ เช่น นำร้านเคเอฟซีและร้านอาหารอื่น ๆ เน้นสไตล์ทานง่าย-เร็ว เข้ามาเปิดบริการในสถานี โดยจะนำร่องจากสาขาเคเอฟซีที่มีจุดชาร์จรถในช่วงสิ้นปีนี้ ก่อนจะตามด้วยสถานีแห่งแรก ซึ่งคาดว่าจะตั้งที่จังหวัดนครปฐม
** ประเด็นสำคัญของกลุ่มธุรกิจ **
ธุรกิจสุรา
นายประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา กล่าวว่า “ในปีนี้ภาพรวมของกลุ่มธุรกิจสุราในประเทศยังคงมีความแข็งแกร่ง และสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดได้ดี โดยรวงข้าวยังคงเป็นสุราขาวอันดับหนึ่ง ควบคู่กับหงส์ทอง สุราสีอันดับหนึ่งของประเทศไทย หากดูผลการวิจัยช่วง 12 เดือนย้อนหลัง แสงโสมสามารถเติบโตได้ถึงร้อยละ 9 เนื่องจากความแข็งแรงของตราสินค้า ประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในประเทศไทยฟื้นตัว ซึ่งมีส่วนช่วยให้ตลาดสุรา โดยเฉพาะสุราสีในประเทศไทยปรับตัวดีขึ้น ในส่วนของธุรกิจในประเทศเมียนมา แม้ว่าสถานการณ์ในเมียนมาช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะมีความท้าทาย แกรนด์ รอยัล กรุ๊ป ยังมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งและสามารถครองตำแหน่งวิสกี้อันดับหนึ่งในเมียนมาไว้ได้ รวมถึงมีเสถียรภาพของกระแสเงินสดที่ดี”
ธุรกิจเบียร์
นายไมเคิล ไชน์ ฮิน ฟา ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเบียร์ กล่าวว่า “เรามีความภูมิใจที่จะรายงานว่าผลประกอบการของธุรกิจเบียร์มีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม โดยรายได้จากการขายของกลุ่มธุรกิจเบียร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 92,573 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ขับเคลื่อนโดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งฟื้นตัวดีขึ้นในตลาดหลักทั้งสองแห่ง”
ธุรกิจเบียร์มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.5 เป็น 13,446 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณขายและส่วนประสมของผลิตภัณฑ์ที่เอื้ออำนวย รวมถึงการขึ้นราคาและมาตรการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สายธุรกิจเบียร์ ประเทศไทย
นายเลสเตอร์ ตัน เต็ก ชวน ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเบียร์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ธุรกิจเบียร์ในประเทศไทย มีผลประกอบการดีขึ้น เนื่องจากการบริโภคในร้านและกิจกรรมการตลาด เช่น คอนเสิร์ตและอีเวนต์ต่างๆ ได้รับอนุญาตให้กลับมาดำเนินการอีกครั้ง โดยธุรกิจเบียร์ในไทยยังมีอัตรากำไรเพิ่มขึ้นในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางความพยายามในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มสินค้าระดับ Mass Premium อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดตัว Chang Cold Brew ในเดือนตุลาคม 2562 และ Change Espresso Lager ในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่ง Chang Cold Brew ได้ตอกย้ำความสำเร็จด้วยการเป็นตราสินค้าเบียร์ที่เติบโตเร็วที่สุดในกลุ่มสินค้าระดับ Mass Premium และขึ้นมาเป็นตราสินค้าเบียร์อันดับ 5 ของไทยได้ภายใน 1 ปี นอกจากนี้เรายังวางแผนอนาคตด้วยการบริหารตลาดแบบเจาะรายพื้นที่ในเชิงรุก และจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถใช้ต้นทุนได้อย่างคุ้มค่ายิ่งขึ้น”
สายธุรกิจเบียร์ ประเทศเวียดนาม
นายเบนเน็ตต์ เนียว กิม เซียง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซาเบโก้ กล่าวว่า “การที่เวียดนามกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งช่วยให้การบริโภคฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้ซาเบโก้มีผลประกอบการที่แข็งแกร่งและมีอัตรากำไรเพิ่มขึ้น ขับเคลื่อนด้วยตราสินค้าของซาเบโก้ที่มีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเราทุ่มศักยภาพเพื่อสริมความแข็งแกร่งให้กับ Bia Saigon ในฐานะตราสินค้าที่เป็นความภาคภูมิใจของเวียดนาม ด้วยการเปิดตัว Bia Saigon Lager รุ่นลิมิเต็ดสำหรับเทศกาล Tet ปี 2565 ที่นำจุดเด่นของแต่ละจังหวัดในเวียดนามมาออกแบบเป็นลวดลายกระป๋อง 63 แบบ นอกจากนี้เรายังดำเนินแผนงานซาเบโก้ 4.0 อย่างต่อเนื่องซึ่งถือเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในแผนกลยุทธ์หลักของเรา โดยมุ่งเน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงานผ่านการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง (Centralization) การลดความซับซ้อน (Simplification) และการสร้างมาตรฐาน (Standardization)”
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ซาเบโก้ได้ขยายการลงทุนเพื่อสนับสนุนด้านกีฬาและทีมฟุตบอลทีมชาติของเวียดนาม โดยล่าสุด บริษัทเป็นผู้สนับสนุนระดับ Diamond ให้กับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ประจำปี 2565 และได้เปิดตัว Bia Saigon กระป๋องสีทองรุ่นพิเศษสำหรับซีเกมส์โดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังเปิดตัว Bia Saigon Special โฉมใหม่ในเดือนเมษายน 2565 โดยปรับรสชาติใหม่และปรับเปลี่ยนโฉมบรรจุภัณฑ์เพื่อให้มีความน่าสนใจตามรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
ความมุ่งมั่นของซาเบโก้ที่มีมาอย่างยาวนานต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและความเจริญรุ่งเรืองทั้งของประเทศและประชาชนชาวเวียดนาม กลายเป็นที่ประจักษ์เมื่อซาเบโก้ได้รับเกียรติในฐานะบริษัทเครื่องดื่มแห่งแรก ให้ได้รับรางวัล Vietnam Glory Awards ประจำปี 2565 จากการมีส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม โดยในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซาเบโก้ยังคงว่าจ้างพนักงานของบริษัทกว่า 9,000 คน และร่วมสร้างรายได้เข้างบประมาณของรัฐเกือบ 435 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564 นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนชุมชนทั่วประเทศด้วยการบริจาคเงินจำนวน 2.4 ล้านเหรียญสหรัฐผ่านการจัดโครงการต่างๆ เช่น Rise with Vietnam, Collecting Millions of Stars และ Tet-One Home
ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีรายได้จากการขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 เป็นจำนวน 12,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน อันเป็นผลจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 ท่ามกลางการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เป็น 1,717 ล้านบาท
นายโฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานดิจิทัลและเทคโนโลยี กล่าวว่า “ช่องทางการบริโภคในร้านอาหารกลับมาฟื้นตัว เนื่องจากผู้บริโภคกลับมารับประทานอาหารในร้านกันอีกครั้ง นอกจากนี้ เรายังเห็นโอกาสและได้ดำเนินการเพื่อจับกระแสของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้นด้วยการขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่มีน้ำตาลน้อยและไม่มีน้ำตาลหรือพลังงาน รวมทั้งเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” (Healthier Choice) ที่ผ่านการรับรองอีกด้วย
นอกจากนี้เรายังออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งรวมถึง “ZEA Tuna Essence” ซุปปลาทูน่าสกัดที่อุดมไปด้วยโอเมก้า-3 และวิตามิน B12 ซึ่งช่วยบำรุงระบบประสาทและการทำงานของสมอง และ “Oishi Honey Lemon 0% Sugar”
ซึ่งมียอดขายเติบโตถึงร้อยละ 70 นับตั้งแต่เปิดตัวและยังช่วยผลักดันยอดขายในตลาดชาพร้อมดื่มให้มากยิ่งขึ้น โออิชิยังคงครองตลาดชาพร้อมดื่มและมุ่งมั่นขยายความแข็งแกร่งในฐานะผู้นำอย่างต่อเนื่องผ่านแคมเปญทางการตลาดต่างๆ โดยหนึ่งในแคมเปญที่ประสบความสำเร็จอย่าง โออิชิ x ดาบพิฆาตอสูร ช่วยสร้างโอกาสให้เราได้เป็นอย่างดีในช่วงที่โรงเรียนกลับมาเปิดอีกครั้ง นอกจากนี้ ยอดขายส่งออกของโออิชิยังเติบโตขึ้นท่ามกลางสภาวะตลาดที่ท้าทาย อีกทั้งยังสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดกัมพูชาและลาวไว้ได้”
ธุรกิจอาหาร
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ธุรกิจอาหารมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 11,990 ล้านบาท เนื่องจากการฟื้นตัวของการบริโภคภายในร้านอาหาร และการขับเคลื่อนการดำเนินกลยุทธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความสามารถในการเจาะตลาดและเข้าถึงลูกค้า รวมถึงการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานของร้านอาหารในกลุ่มธุรกิจอาหาร ทำให้ธุรกิจมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เป็นจำนวน 1,578 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 104.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก
นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจอาหาร ประเทศไทย กล่าวว่า “เราได้รับประโยชน์จากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ กลับมาดำเนินการได้อีกครั้งหลังจากการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 ทำให้ลูกค้าสามารถกลับมารับประทานในร้านอาหารได้ และถึงแม้จะมีการรับประทานในร้านมากขึ้น แต่ยอดขายของบริการส่งอาหารถึงบ้าน (home delivery) ก็ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เรายังเดินหน้าผลักดันการเจาะตลาดและการเข้าถึงลูกค้า ด้วยการเพิ่มจำนวนสาขาร้านอาหาร โดยเปิดเป็นร้านที่มีขนาดเล็กลงและใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก รวมถึงมุ่งเน้นการเปิดร้านนอกห้างสรรพสินค้ามากยิ่งขึ้น
ในปี 2565 กลุ่มธุรกิจได้เสริมความแข็งแกร่งของตราสินค้าร้านอาหารหลักที่มีอยู่ด้วยแนวคิดใหม่ๆ โดยเปิดตัวร้าน OISHI BIZTORO ภายใต้แนวคิด “ทางเลือกความอร่อยง่ายๆ สไตล์ญี่ปุ่นโมเดิร์น” โดยเน้นเมนูอาหารที่คุ้มค่าคุ้มราคาและตั้งอยู่ในสถานที่ที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้ยังได้เปิดตัวร้าน Shabu by Oishi ซึ่งเป็นร้านชาบูแบบเลือกสั่งเป็นจาน (A La Carte) ที่นำเสนอวัตถุดิบคุณภาพดีและประสบการณ์ใหม่ๆ แก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารรูปแบบใหม่อย่าง KFC & Oishi Food Truck กับ KFC ที่สามารถสั่งได้ผ่านตู้ Kiosk และร้าน Oishi To Go เพื่อจับฐานผู้บริโภคกลุ่มใหม่ซึ่งชื่นชอบความสะดวกและรวดเร็ว ในปีนี้ กลุ่มธุรกิจอาหารได้มุ่งเน้นพัฒนาด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานและการดำเนินงานของธุรกิจ โดยเน้นการกลับไปที่หลักการพื้นฐาน (Back to Basics) เช่น การพัฒนามาตรฐานด้านคุณภาพและศักยภาพในการทำงานของพนักงาน เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจจะสร้างผลกำไรได้อย่างเต็มความสามารถ