“PLANET” สร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล มุ่งสู่อุตสาหกรรมอวกาศ

วันจันทร์ที่ 07 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

“PLANET” สร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล มุ่งสู่อุตสาหกรรมอวกาศ


หากกล่าวถึงนักธุรกิจชั้นนำที่สร้างนวัตกรรมให้กับเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ “ประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์” รวมอยู่ด้วยแน่นอน เพราะเขาคือผู้สร้าง บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANET ผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลแบบครบวงจร ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศมากว่า 30 ปี มีความชำนาญในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านโทรคมนาคมและดิจิทัลเทคโนโลยีชั้นนำมากมาย ไม่ว่าจะเป็น CISCO, THALES, HUAWEI, ZOOM และ L3HARRIS เป็นต้น  เขายังได้พัฒนาระบบและต่อเชื่อมอุปกรณ์ต่างๆ ให้ทำงานร่วมกันเป็นโซลูชั่นเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ ภายใต้ชื่อ “PlanetComm” อีกด้วย

ผู้ที่ประสบความสำเร็จแล้ว ส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยความล้มเหลว เราเองก็ใช้หลักการเดียวกันว่า เราต้องไม่หยุดนิ่ง เราอาจไม่ใช่บริษัทที่ใหญ่โต แต่เราเป็นบริษัทนวัตกรรม ที่นำของใหม่ๆในโลกมาใช้”  นั่นคือคำพูดเปิดใจของ ประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย หรือ PLANET เล่าถึงประสบการณ์การทำงาน แรงบันดาลใจ และเป้าหมายที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

ประพัฒน์เปิดฉากเส้นทางชีวิตก่อนจะก้าวมาสู่ความสำเร็จเป็นอาณาจักร PLANET อย่างเช่นทุกวันนี้ว่า หลังจบการศึกษาปริญญาโท เขาได้ไปทำงานกับบริษัท 3M ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกที่มีนวัตกรรมจำนวนมาก เรียนรู้การเป็น Entrepreneur หรือการเป็นเถ้าแก่ที่นั่น

“3M สอนเราหมดทุกอย่างว่าทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ การมีสินค้าใหม่ การที่จะต้องมีแรงบันดาลใจในการหาธุรกิจใหม่ๆตลอดเวลา ถือเป็นต้นแบบหรือโรงเรียนที่สำคัญมากของชีวิต ผมทำงานอยู่ 3M ประมาณ 7 ปี  เริ่มต้นจากพนักงานขาย ก่อนปรับตำแหน่งมาเป็นฝ่ายการตลาด เนื่องจาก 3M มีสินค้ามาก ทำให้ต้องเรียนรู้สินค้าใหม่ตลอดเวลา ซึ่ง 3M มีนโยบายว่าทุกปีจะต้องมีสินค้าใหม่ 25 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ 3M เจริญเติบโตมาก สินค้าเก่าก็มีอยู่ สินค้าใหม่ก็เพิ่มขึ้น ทำให้เป็นองค์กรที่มั่นคงมาก มีสินค้าประมาณ 50,000 ชนิด สินค้าที่ผมเคยดูแลเป็นสินค้าด้านเทคโนโลยี เช่น ดิสเก็ต วิดีโอเทป ซึ่ง 3M เป็นผู้คิดค้น VHS Tape หรือ แผ่นดิสเก็ต เทปเพลง แม้กระทั่งฮาร์ดดิสก์”

หลังออกจาก 3M คุณประพัฒน์ได้ไปอยู่กับ บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น 2 ปี ได้เรียนรู้สินค้าเกี่ยวกับการสื่อสาร อุปกรณ์ ระบบสื่อสารต่างๆ ก่อนจะแยกตัวมาเปิดธุรกิจเองในปี 1994

เราเติบโตจากรากฐานที่เราคิดว่าต้องมีสินค้าใหม่ตลอดเวลา ตอนเริ่มต้นธุรกิจ เราขายเฉพาะอุปกรณ์สื่อสารดาวเทียม เรียกย่อๆว่าสถานีดาวเทียม ลูกค้าหลักคือไทยคม ตอนนั้นไทยคมเพิ่งยิงดาวเทียมดวงแรก เราก็เลยนำเทคโนโลยีไปให้เขา ช่วยเขาพัฒนา ทำอย่างไรให้ถูกลง ซึ่งโมเด็มของเราสามารถบีบสัญญาณได้อีกหนึ่งเท่า ตอนแรกเขาแข่งราคาสู้ดาวเทียมอื่นไม่ได้เลย เราก็เสนอเทคโนโลยีนี้ให้เขา ปรากฏว่าพอเขาเอาไปใช้ ทำให้ไทยคม 1-2-3 ครองตลาดในเอเชีย เนปาล บังคลาเทศ อินเดีย ไทย ขายไปประมาณ 600 สถานี สถานีหนึ่งประมาณ 2 ล้านบาท ทำให้เขาขายสัญญาณได้เยอะมาก เพราะเรามีนวัตกรรมดาวเทียม”

จากจุดเริ่มต้นทำเรื่องดาวเทียม PLANET ขยายฐานลูกค้าด้วยการเริ่มนำระบบ Video Conference เข้ามาขาย ซึ่งเป็นระบบประชุมทางไกล หลังจากนั้นก็เพิ่มสินค้าใหม่คืออุปกรณ์การสื่อสารไร้สาย

“สมัยนั้นเราทำ WiMAX รัศมีประมาณ 3 กิโลเมตร (ปัจจุบัน Wi-Fi รัศมี 30 เมตร) เรานำ Wireless มาใช้ ซึ่งตอนนั้นความเร็วของมือถือได้แค่ 64 Kbps แต่ของเราทำได้ 2 Mbps เราขายในเมืองไทยให้กับหน่วยงานทหารส่วนหนึ่ง แต่เราไปเติบโตที่พม่า เหตุผลเพราะว่าตอนนั้นพม่าโดนพายุนาร์กิสถล่ม ระบบสื่อสารขาดหมด เราก็เลยนำระบบนี้ไปชดเชย ขายได้ประมาณเกือบ 100 ล้าน กลายเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดของสินค้าใหม่ ก่อนที่เราจะมีการเพิ่มสินค้าใหม่คือดิจิทัลทีวี เนื่องจากเมืองไทยกำลังเปลี่ยนทีวีจากระบบอนาล็อกเป็นดิจิทัล เราก็เชื่อมการขายระบบดิจิทัลเป็นธุรกิจใหม่”

ประพัฒน์ ยังกล่าวถึงแรงบันดาลใจของ PLANET ว่า ไม่แตกต่างจากบุคคลระดับโลกที่ต้องทำเรื่องใหม่ๆที่เป็นนวัตกรรมของโลก นั่นก็คือเทคโนโลยี “ผู้ที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้ทั้งสิ้น อีลอน มัสก์ หรือ สตีฟ จ๊อบ เริ่มต้นด้วยเทคโนโลยี เริ่มต้นด้วยความล้มเหลว ล้มเหลว ล้มเหลว ล้มเหลว กระทั่งประสบความสำเร็จในที่สุด เช่น อีลอน มัสก์ ยิงจรวด 8 ลูก ระเบิดหมด จนกระทั่งลูกที่ 9 ถึงบินขึ้นและบินลงได้ PLANET ก็ใช้หลักการเดียวกันว่า เราต้องไม่หยุดนิ่ง รากฐานของเรามาจากเทคโนโลยี เทเลคอม วันนี้เราทำดิจิทัล มีทั้ง Telecom, Cyber Security, Cloud,  Data Center, IoT และ Video Analytics นำมาผสมกัน ทำให้เป็นสินค้าใหม่ขึ้นมาคือ PlanetComm วันนี้เราจึงไม่ใช่ผู้ให้บริการระบบสื่อสารแล้ว แต่เป็นผู้ให้บริการระบบดิจิทัล เราทำรถอีวี โซลาร์รูฟ น้ำสะอาด โดยนำเทคโนโลยี PlanetComm ไปใช้กับสิ่งเหล่านั้น เอารากฐานเดิมที่เรามีอยู่มาใช้ เพราะฉะนั้นข้อได้เปรียบของเราคือการมีรากฐานเทคโนโลยีที่แข็งแรงกว่าคนอื่น ทดลองแล้ว ทำแล้ว และเรายังตั้งเป้าว่าจะไปถึงจุดที่เป็นร็อคเก็ตยิงจรวดได้”

หนึ่งในจุดแข็งของ PLANET คือ ทุกโครงการต้องผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงอย่างรอบคอบ ว่าสินค้าที่จะผลิตตลาดเป็นยังไง มีคู่แข่งไหม มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาทดแทนหรือเปล่า จุดได้เปรียบคืออะไร

ความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญมากในการทำธุรกิจ แม้แต่ตอนนี้ที่เราเริ่มทำดาต้าเซ็นเตอร์ หลายคนถามว่า ทำทำไม แต่จริงๆตลาดตอนนี้ 7 หมื่นล้านนะ เราเก่งเรื่อง Cyber Security System เก่งเรื่องการพัฒนาและบูรณาการระบบ ถ้าระบบดาต้าเซ็นเตอร์ใหญ่ขึ้น อันนี้น่าสนใจ PLANET ชอบทำเรื่องยากๆ ถ้าเรื่องง่ายๆคนอื่นเขาเอาไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นความเสี่ยงเราคือต้องทำเรื่องใหม่ๆตลอดเวลา การประเมินความเสี่ยงในโครงการใหม่จึงสำคัญมาก บางครั้งการประเมินความเสี่ยงอาจไม่ทำให้เราชนะแต่ก็ไม่แพ้ ”

ปัจจุบัน PLANET มีสัดส่วนพอร์ตการลงทุน 3 ส่วน ส่วนแรกคือการขายสินค้า เป็นตัวแทน Data Center ของบริษัทระดับโลกอย่าง HUAWEI เช่น UPS, Cooling System, Control System และ Facilities ทั้งหมดใน Data Center ส่วนที่ 2 เป็นตัวแทน CISCO ขายเน็ตเวิร์ค Hyperflex ซึ่งเป็นระบบสมัยใหม่ ส่วนที่ 3 ให้บริการ Co-Working Space หรือ Co-Location เปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้าไปใช้ได้ นอกจากนี้ยังจัดตั้งบริษัทย่อย แบ่งเป็น 6 ส่วนคือ PlanetSystems ทำเรื่องพัฒนาและบูรณาการระบบ, PlanetFiber ให้บริการ Internet Fiber ตามอาคารสำนักงาน มีตึกใหญ่ๆใช้บริการประมาณ 80 ตึก, PlanetCloud ให้บริการเรื่อง Cloud, IoT, Server, Data Center ต่างๆ ล่าสุดเปิดอีก 3 ส่วน คือ PlanetUtility ทำเกี่ยวกับพลังงานทดแทน เช่น Solar Cell แก๊สผลิตไฟฟ้า ทำระบบน้ำสะอาด ระบบควบคุมน้ำสูญเสีย, PlanetCyber เจาะตลาด Cyber Security และ PlanetEV ทำธุรกิจเกี่ยวกับอีวี รถยนต์อีวี มอเตอร์ไซค์อีวี ชาร์จเจอร์สเตชั่น และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอีวี

PLANET ยังได้รับความไว้วางใจให้บริหาร อาคารศูนย์ปฏิบัติการดิจิทัล Digital Monitoring and Operation Center หรือ DMOC ในพื้นที่โครงการ EEC SILICON TECH PARK อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เพื่อทำให้พื้นที่ EEC SILICON TECH PARK 519 ไร่กลายเป็นเมืองดิจิทัลสมบูรณ์แบบ เพื่อทำเป็นศูนย์กลาง Data Center และศูนย์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยได้รับความร่วมมือจาก CISCO ร่วมลงทุน Internet Switch ตัวใหญ่ที่สุดของเมืองไทย ให้บริการอินเทอร์เน็ตใน EEC SILICON TECH PARK และ พื้นที่บ้านฉาง โดยมี 4 ส่วนสำคัญคือ อินเทอร์เน็ตเร็วสุด ไฟฟ้าเสถียรเพียงพอ น้ำสะอาดอากาศบริสุทธิ์ และ ระบบการรักษาความปลอดภัย เป็นต้นแบบเมือง Net Zero

ถ้าวันนี้ประเทศไทยไม่พยายามปรับตัวเป็นนวัตกรรม เราจะมีปัญหา และจะแข่งกับประเทศอื่นไม่ได้ เช่น เวียดนามก็มีนวัตกรรมเยอะ สินค้าใหม่เยอะ ถ้าคนของเราไม่ปรับตัวตรงนี้ เราจะแข่งไม่ได้ แม้แต่ธุรกิจใหม่เราก็กำลังทำเรื่องอุตสาหกรรมอวกาศ ฟังดูแล้วอาจแปลกๆ แต่ประเทศอื่นเขาไปหมดแล้ว สแกนดิเนเวียทำแล้ว เราก็ต้องเริ่มศึกษาเรื่องนี้ เราอาจจะไม่ใช่บริษัทที่ใหญ่โตมาก แต่เราเป็นบริษัทนวัตกรรมที่นำของใหม่ๆในโลกมาใช้ในประเทศไทยและรอบประเทศอยู่ตลอดเวลา เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตคนในสังคมให้ดีขึ้น และสักวันเราจะต้องติดจรวดให้ได้” ประพัฒน์ กล่าวปิดท้าย



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ