หมูเถื่อน...ขยะหมดอายุ ภัยร้ายที่ต้องจัดการ วงการบุฟเฟต์หมูกะทะ ปิ้งย่างต้องระวัง :โดย กันยสินี ศตคุณ นักวิชาการอิสระ ด้านการเกษตร

วันพุธที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

หมูเถื่อน...ขยะหมดอายุ ภัยร้ายที่ต้องจัดการ วงการบุฟเฟต์หมูกะทะ ปิ้งย่างต้องระวัง :โดย กันยสินี ศตคุณ  นักวิชาการอิสระ ด้านการเกษตร


เห็นข่าว “หมูเถื่อน สะเทือนวงการบุฟเฟต์” ก็เกิดความกังวลและคำถามตามว่า หมูเถื่อน คืออะไร? ที่ผ่านได้ทานไปแล้วบ้างหรือยังและเป็นอันตรายกับสุขภาพหรือไม่? เมื่อติดตามข้อมูงก็ทราบว่า “หมูเถื่อน” เข้ามาสร้างปัญหาหลังจากการเลี้ยงหมูของไทยต้องเผชิญกับวิกฤตโรค ASF ระบาดสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง หมูหายไปจากระบบกว่า 50% ส่งผลให้ปริมาณเนื้อหมูไม่เพียงพอกับความต้องการ เกิดภาวะราคาเนื้อหมูสูงเป็นประวัติการณ์ ตามกลไกตลาด จนร้านอาหารต่างๆ ต้องปรับราคาอาหารตาม กลายเป็นช่องทางให้ “มิจฉาชีพ” ลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนจากต่างประเทศเข้ามาขายในราคาต่ำกว่าท้องตลาด ฉกฉวยกำไรโดยไม่ใส่ใจถึงผลกระทบที่จะตามมา

ที่สำคัญภัยร้ายของ “หมูเถื่อน” ที่ลักลอบนำเข้ามานั้น แฝงไปด้วยสารเร่งเนื้อแดง เนื่องจากประเทศต้นทาง อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และบราซิล อนุญาตให้ใช้สารนี้ในการเลี้ยงหมูได้ ทั้งที่รู้ว่าเป็นสารก่อมะเร็ง หากทานเข้าไปก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงทางสุขภาพ ที่สำคัญ หมูเถื่อน เกือบทั้งหมดเป็นสินค้าไม่มีคุณภาพ ส่วนใหญ่หมดอายุหรือใกล้หมดอายุ ยืนยันได้จากบรรจุภัณฑ์ที่ทางการตรวจจับได้ ซึ่งระบุวันผลิตและวันหมดอายุไว้ชัดเจน และหากเป็นของดีคงไม่เหลือเก่าเก็บไว้ค้างสต็อกเช่นนี้ หมูลักลอบนำเข้า จึงเปรียบเสมือน “หมูขยะ” ที่ประเทศผู้ผลิตไม่ต้องการ แล้วส่งออกมาขายในราคาถูกเท่าใดก็ได้ ดีกว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บและกำจัดทิ้ง

ส่วนการที่ “ผู้ค้า” อ้างว่า การนำหมูเถื่อนมาจำหน่ายจะเป็นการช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงเนื้อหมูราคาถูก แบ่งเบาภาระค่าครองชีพ จึงเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะผู้ค้าไม่ได้บอกถึงที่มาว่า เนื้อหมูที่ขายราคาถูก ไม่มีหลักฐานการสอบมาตรฐานคุณภาพเนื้อ และไม่แจ้งผู้บริโภคว่าเป็นเนื้อหมูใกล้หมดอายุจากต่างประเทศ ขณะที่เจ้าของร้าน หากทราบว่า เนื้อหมูที่ซื้อเข้ามาเป็น “หมูเถื่อน” ลักลอบนำเข้าแล้วยังนำมาประกอบอาหารขาย เพื่อลดต้นทุน ก็ยิ่งเป็นการ “เอาเปรียบผู้บริโภคอย่างยิ่ง” เพราะตลอดการขนส่งจนมาถึงมือผู้บริโภคนั้น ไม่อาจทราบได้เลยว่ามีการควบคุมมาตรฐานอย่างไร หากควบคุมอุณหภูมิไม่ดี หมูเถื่อนใกล้หมดอายุก็มีโอกาสเกิดการเน่าเสียและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น ถ้าต้องการช่วยผู้บริโภคควรลดความเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว ด้วยการหยุดขาย “หมูเถื่อน” เพราะเชื่อว่า ผู้ค้า ก็คงไม่เลือกทานหมูเถื่อนที่ตัวเองนำมาขายอยู่แล้ว  

ในขณะที่ “ผู้บริโภค” ที่ชื่นชอบของถูก จำเป็นต้องตระหนักรู้ถึงความปลอดภัยและความคุ้มค่าด้วยเช่นกัน เพราะเนื้อหมูที่ผลิตมาข้ามปีหรือใกล้หมดอายุ ต่อให้ราคาถูกแค่ไหนก็ไม่ควรซื้อหามาบริโภค และในภาวะที่มี “หมูเถื่อน” กระจายไปทุกหย่อมหญ้า ผู้บริโภคต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ต้องซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ของกรมปศุสัตว์ ซึ่งเป็นหลักประกันมาตรฐานความปลอดภัยของเนื้อสัตว์ที่ตรวจสอบกระบวนการผลิตได้ ควรหลีกเลี่ยงร้านที่ขายราคาถูกกว่าท้องตลาด หรือสังเกตลักษณะเนื้อหมูเป็นสีชมพู ไม่แดงจัด(เพราะอาจเป็นหมูเถื่อนที่ได้รับสารเร่งเนื้อแดง) เพื่อป้องกันความเสี่ยง และต้องระลึกไว้เสมอว่า ของราคาถูก...อาจต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพในระยะยาว

การสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนได้เข้าใจถึงผลร้ายจากการบริโภค “หมูเถื่อน” เพื่อสร้างความตระหนักและระมัดระวัง รวมทั้งเรียกร้องให้ผู้ค้าจำหน่ายเนื้อหมูปลอดภัยได้มาตรฐานอย่างจริงจัง พร้อมกับช่วยเป็นหูเป็นตาในการแจ้งเบาะแส “หมูเถื่อน” ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกันจับกุมผู้ทำผิดกฎหมาย เพื่อหยุดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรไทยและหยุดปัญหาสุขภาพที่จะเกิดกับคนไทยตลอดกาล./



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ