กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร โดยนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร นางกุลนันท์ ซานไทโว กรรมการผู้จัดการ ประธานกลุ่มงานลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และนายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ ประธานสายวานิชธนกิจและตลาดทุน ร่วมพิธีเปิด APEC Voices of the Future 2022 (APEC VOTF 2022) การประชุมตัวแทนเยาวชนจากเขตเศรษฐกิจเอเปค ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของการจัดประชุมและผู้ให้ความรู้และเตรียมความพร้อมแก่ทีมเยาวชนไทย (Educators) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 ณ วชิราวุธวิทยาลัย โดยมีนายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วย นาย James Soh, Chair of APEC VOTF, Dr. Rebecca Fatima Sta Maria, APEC Secretariat และนายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย
ในปีนี้มีผู้แทนเยาวชนและผู้ให้ความรู้รวม 86 คนจาก 14 เขตเศรษฐกิจเดินทางมาเข้าร่วมทำกิจกรรมเพื่อนำเสนอหัวข้อที่เป็นประเด็นปัญหาและส่งผลต่ออนาคตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยผู้แทนเยาวชนไทยชูประเด็นความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา พร้อมเสนอทางออกผ่านการสร้างทักษะให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ทั้งนี้ เยาวชนทั้งหมดจะดำเนินการร่างปฏิญญาเยาวชน พ.ศ. 2565 (Youth Declaration 2022) เพื่อนำไปยื่นต่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำของเขตเศรษฐกิจเจ้าภาพฯ เพื่อเป็นการส่งเสียงถึงแนวทางการเปลี่ยนแปลงที่เยาวชนต้องการเพื่อปูทางสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในรุ่นต่อๆ ไป
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า “นโยบายต่างๆ ที่เราทำในวันนี้จะมีผลกระทบต่อเยาวชนรุ่นใหม่ในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า ในทำนองเดียวกัน ปัญหาทั้งหมดที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขในวันนี้จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เยาวชนจะได้รับสิทธิและพื้นที่ในการเปล่งเสียงเหล่านั้นออกมา และแนวทางของการพัฒนาสำหรับเอเปคในปีนี้คือ Open. Connect. Balance. นั้นสอดรับกับธรรมชาติของเยาวชน หนึ่ง เยาวชนนั้นมีลักษณะ ‘เปิดกว้าง’ (open) เนื่องจากถูกผูกมัดด้วยแนวคิดต่างๆ น้อยกว่าผู้ใหญ่ สอง เยาวชนมีการ ‘เชื่อมต่อ’ (connect) กันมากขึ้นด้วยเทคโลโนยีและโซเชียล มีเดีย และสามเนื่องจากเยาวชนต้องคิดถึงกรอบเวลาที่ยาวนานกว่าผู้ใหญ่เมื่อมองหาวิธีแก้ไขปัญหาระดับโลก การเปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นของเยาวชนในวันนี้จะทำให้เกิดความ ‘สมดุล’ (balance) นี่คือเหตุผลที่กลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทรซึ่งเชื่อมั่นในการส่งเสริมโอกาสอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างประโยชน์ (Optimise Your Opportunities) เห็นว่าสำหรับโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทายและข้อจำกัดทั้งเศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์การเมือง สิ่งแวดล้อม ฯลฯ วิธีเดียวที่จะเดินไปข้างหน้าคือการสนับสนุนและลงทุนกับเยาวชน ในขณะเดียวกัน โอกาสในการเปิดรับแนวคิดใหม่ ๆ เชื่อมต่อกับเพื่อน ๆ จากประเทศอื่น ๆ และปรับมุมมองและความเข้าใจให้สมดุลกันย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนทุกคนเช่นกัน”
สำหรับตัวแทนเยาวชนไทย นางสาวมนัสยา พลอยนำพล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสพล ตัณฑ์ประพันธ์ นิสิต ชั้นปีที่ 4 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนางสาวนภัสสร พิศิษฏพงศ์ นิสิต ชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนทีมเยาวชนไทยจากทั้งหมด 12 คน ได้ขึ้นเวทีนำเสนอเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา โดยว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาประเทศ แต่ในประเทศไทยนั้นทรัพยากรด้านการศึกษาไม่ได้กระจายไปอย่างทั่วถึง การเข้าถึงอุปกรณ์เทคโนโลยี อินเทอร์เนต และแหล่งความรู้ไม่เท่ากัน อีกทั้งครูอาจารย์มีภารกิจนอกเหนือจากการสอนมากเกินจำเป็น ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานหลายปีแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยตัวแทนเยาวชนไทยเห็นว่าการยกระดับการแนะแนวอาชีพ(Career Guidance) ด้วยการให้เด็กๆ เข้าถึงความรู้และการแนะแนวเหล่านี้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายผ่านการประสานกับภารกิจด้านสังคมขององค์กรเอกชนและภาครัฐต่างๆ จะช่วยสร้างเส้นทางสำหรับเด็กที่ขาดโอกาสให้มีอาชีพที่ดี และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้
นายทวีศักดิ์ เผ่าพัลลภ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญของกลุ่มธุรกิจฯ ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ให้ความรู้และที่ปรึกษาให้กับเยาวชนผู้แทนประเทศไทยตลอดระยะเวลาของโครงการ เปิดเผยว่า “การนำเสนอของเยาวชนนั้นหลายๆ ประเทศเห็นตรงกันว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคระบาดในช่วงที่ผ่านมาทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศของตนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไข ควบคู่ไปกับความเร่งด่วนของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ และพลังงานทดแทน โดยใจความสำคัญของการแก้ปัญหาคือความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งนอกจากจะเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังต้องทำให้สมดุลและยั่งยืนด้วย ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจฯ ในฐานะผู้สนับสนุนได้จัดเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ โดยเน้นให้น้องเยาวชนได้ทำการศึกษาประเด็นปัญหาอย่างเจาะลึกและร่วมระดมแนวคิดกัน พร้อมจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลเสริมในลักษณะ solution based เพื่อที่จะนำไปใช้ประโยชน์กับสังคมในวงกว้างได้ ซึ่งการได้เป็นตัวแทนประเทศถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่เยาวชนจะได้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ เป็นพื้นฐานที่ดีเพื่อการต่อยอดการเรียนรู้ในอนาคต”
ทั้งนี้ ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจากการประชุมนี้คือ ‘Youth Declaration’ หรือ ปฏิญญา ซึ่งกลุ่มตัวแทนเยาวชนได้ร่วมกันร่างขึ้นหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมการนำเสนอ เพื่อสะท้อนมุมมองของเยาวชนที่มีต่อปัญหา ความท้าทาย และโอกาสในประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศเอเปค พร้อมเสนอแนะวิธีแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงแนวทางการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยนำไปยื่นต่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำของเขตเศรษฐกิจเจ้าภาพฯ ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 เพื่อปูทางสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในยุคต่อๆ ไป ผู้สนใจ สามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ APEC Voices of the Future 2022 เพิ่มเติมได้ที่ https://apecvoicesofthefuture.org/
ออมสิน จับมือมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เปิดโครงการพัฒนา “Holistic Area Based” ตั้งเป้า 5 หมู่บ้านยอดดอยเปียงซ้อ จ.น่าน เป็นต้นแบบการพัฒนาแบบองค์รวม ตอบโจทย์ความยั่งยืน
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารได้ริเริ่มเปิดตัวโครงการเพื่อสังคมโปรเจกต์ใหม่ล่าสุด โดยร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำโครงการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม หรือ Holistic Area-Based Development คัดเลือก 5 หมู่บ้านของพื้นที่ห่างไกลในตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ได้แก่ 1) บ้านเปียงซ้อ 2) บ้านห้วยฟอง 3) บ้านสะจุก 4) บ้านสะเกี้ยง 5) บ้านห้วยเต๋ย ให้เป็นพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนา 9 ด้าน ครอบคลุมมิติคุณภาพชีวิต และมิติเศรษฐกิจ ชุมชน และสังคม ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณาการแนวคิดเชิงสังคมลงในกระบวนการปฏิบัติงานที่สำคัญ : Social Mission Integration เพื่อขับเคลื่อนการสร้างผลกระทบเชิงบวกในสังคมให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมภายใต้ยุทธศาสตร์ธนาคารเพื่อสังคม
โครงการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม : Holistic Area-Based Development พื้นที่ 5 หมู่บ้านของจังหวัดน่าน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ จำนวนประชากร 500 ครัวเรือน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับผลประโยชน์ในโครงการ โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้เข้าไปบุกเบิกชักชวนชาวบ้านของ 5 หมู่บ้าน ให้เปลี่ยนจากการทำเกษตรเลื่อนลอยที่ทำลายพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มาปลูกกาแฟคุณภาพมาตรฐานญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายผิวดินและป่าต้นน้ำน่าน ต่อมาธนาคารออมสินได้ริเริ่มจัดทำโครงการต้นแบบตามแนวคิดการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวมขึ้น สนับสนุนงบประมาณ 6,900,000 บาท โดยร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คัดเลือกให้ 5 หมู่บ้านดังกล่าว เป็นพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาในขั้นต่อไป ด้วยการจัดตั้งโรงแปรรูปกาแฟ เครื่องมืออุปกรณ์ และปัจจัยที่จำเป็นในการแปรรูปเมล็ดกาแฟให้พร้อมจำหน่ายเพิ่มรายได้ต่อกิโลกรัมให้กับเกษตรกร
นอกจากนี้ ธนาคารยังจัดสรรงบประมาณอีกจำนวนหนึ่งสำหรับมิติการพัฒนาด้านอื่นที่รับผิดชอบดำเนินการโดยบุคลากรของธนาคารทั้งจากส่วนกลาง และธนาคารออมสินภาค 9 (จังหวัดน่าน) อาทิ ด้านการจัดหาแหล่งเงินและแก้ปัญหาหนี้ การสร้างอาชีพสร้างรายได้อื่นนอกเหนือจากการเกษตร เช่น การส่งเสริมอาชีพผู้ประกอบการโฮมสเตย์รวม 18 ราย ที่ผ่านการอบรมยกระดับโฮมสเตย์มาตรฐานจากกรมการท่องเที่ยว องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และ Airbnb การฝึกอบรมสอนอาชีพช่างโดยวิทยาลัยเทคนิคปัว การสนับสนุนด้านการศึกษา ทั้งที่เป็นก่อสร้าง/ปรับปรุงอาคารโรงอาหาร ห้องน้ำ สนามเด็กเล่น และการส่งเสริมการเรียนการสอนด้าน ICT โดยความร่วมมือของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา (CONNEXT ED) การสนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์แก่โรงพยาบาลเสริมสุขภาพตำบลและกิจกรรมของ อสม. การปรับปรุงระบบจัดการน้ำดื่มน้ำใช้ การติดตั้งระบบไฟ Solar System ระบบอินเตอร์เน็ต เป็นต้น ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายการพัฒนาและช่วยเหลือชาวบ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เห็นการเปลี่ยนแปลงภายในระยะเวลา 1 ปี และคาดว่าจะมีผู้ได้รับผลประโยชน์ในโครงการต้นแบบฯ ครั้งนี้ ทั้งประชากรของ 5 หมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียง ไม่น้อยกว่า 10,000 ราย
ด้วยการเริ่มต้นจากจุดเล็กที่ธนาคารออมสินได้ริเริ่มในพื้นที่นี้ เมื่อสามารถขยายตัวลงมือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นรูปธรรมจนนำไปสู่ความสำเร็จ หากเกิดการทยอยทำหลายพื้นที่ แล้วได้ต่อภาพจากต้นแบบนี้ จนมีการขยายผลไปเรื่อย ๆ ทั้งที่ธนาคารออมสินจะดำเนินการเอง หรือหากมีหน่วยงานอื่น จะทำลักษณะนี้ด้วย จะเป็นการช่วยกันใส่ความช่วยเหลือให้ในหลาย ๆ จุดตามพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ ดังเช่นจุดริเริ่มที่ตำบลขุนน่านนี้ ถือว่ายากลำบากทุรกันดารที่สุด หากทำสำเร็จได้แล้ว พื้นที่ใด ๆ ก็ตามในประเทศไทยก็สามารถพัฒนาไปสู่ความสำเร็จเช่นนี้ได้ทั้งสิ้น.