กงล้อการเมืองกำลังกลับมา

วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2566

กงล้อการเมืองกำลังกลับมา


ไตร จตุทศวรรษ เล่าเรื่อง

ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ว่าพรรคไหนจะได้เสียงข้างมากก็ไม่มีทางที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว เพราะรัฐบาลผสมนั้นเป็นวิถีประชาธิปไตยแบบเบ็ดเสร็จของประเทศไทย ไม่ว่าจะได้คะแนนเสียงมากแค่ไหน ฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลก็ยังต้องการเสียงสนับสนุนเกือบทั้งหมดในรัฐสภา เพื่อกุมอำนาจเผด็จการทางรัฐสภา

ในการเลือกตั้ง พ.ศ.2544 พรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของ นายทักษิณ  ชินวัตร ได้รับเลือกเข้าสภามากถึง 248 ที่นั่งขาดอีก 2 ที่นั่งก็จะได้ครึ่งหนึ่งของ 500 ที่นั่ง มากกว่า 128 ที่นั่งของพรรคประชาธิปัตย์ที่นายชวน หลีกภัยเป็นหัวพรรคถึง 120 ที่นั่ง ซึ่งถ้าหาก 2 พรรคนี้รวมกันก็มีที่นั่งในสภามากถึง 376 ที่นั่ง ท่วมท้นสภาชนิดที่ฝ่ายค้านซึ่งเหลือคะแนนเสียงเพียง 124 เสียงไม่มีทางจะหืออืออะไรได้เลย

แต่ไทยรักไทยเลือกที่จะดึงเอาพรรคชาติไทยที่มีนายบรรหาร เป็นหัวหน้าพรรคและคะแนนเสียงอยู่ 41 ที่นั่ง กับ พรรคความหวังที่มีอยู่ 36 ที่นั่งภายใต้การนำของ พลเอกชวลิต  ยงใจยุทธ มาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ทำให้เป็นรัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุนอยู่ 325 ที่นั่ง  มั่นคงแข็งแรงจนเป็นรัฐบาลแรกของประเทศไทยที่มีอายุครบ 4 ปี แรงสนับสนุนที่ทำให้ดำรงตำแหน่งครบวาระนั้น 

เหตุที่ทำให้ นายทักษิณ สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของพรรคการเมืองไทยที่อยู่อำนาจครบเทอมไม่ใช่เพียงมีเสียงข่างมาก  แต่เป็นเพราะทั้งตัว นายทักษิณ พลเอกชวลิต และนายบรรหาร ล้วนแต่เป็นคน “พวกเยอะ” แทบจะเรียกได้ว่าในทุกพรรคการเมืองยุคนั้น จะต้องมี “พวก” ของ 3 ท่านนี้อยู่

ในการเลือกตั้ง พ.ศ.2548 มีปรากฏการณ์ “พรรคผสม” เมื่อ นายทักษิณ ระดมแนวร่วมจากพรรคความหวังใหม่,พรรคชาติพัฒนา, พรรคกิจสังคม, พรรคเสรีธรรม และพรรคเอกภาพเข้ามาด้วยกัน ทำให้ได้คะแนนเสียงมากถึง 377 ที่นั่ง Landslide ตัวจริงเสียงจริงไม่ใช่เพ้อฝัน ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ยุคนายบัญญัติ บรรทัดฐานเป็นหัวหน้าพรรคประกาศว่าต้องการ 201 เสียง หรือ 1 ใน 3 ของสภา เพื่อจะได้มีอำนาจมากพอที่จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยไม่ต้องไปงอนง้อใครกลับได้มาก 96 ที่นั่ง

การเลือกตั้งครั้งนั้นแทบจะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การมีพรรคการเมืองพรรคใหญ่แค่ 1-3 พรรคเท่านั้น เพราะครั้งนั้นนอกจากพรรคไทยรักไทย จะได้ 377 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 96 ที่นั่งแล้ว ชาติไทย ก็ได้มาแค่ 25 ที่นั่ง และพรรคมหาชน ได้มา 2 ที่นั่ง

จากผลการเลือกตั้งที่ได้คะแนนเสียงมาท่วมท้น ทำให้ นายทักษิณ สร้างประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่ได้ด้วยการตั้งรัฐบาลพรรคเดียวที่มั่นคงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านก็กลายเป็น “งูไร้หัว” เพราะไม่มีคะแนนเสียงมากพอที่จะดำเนินการทางการเมืองในสภาได้ถนัด

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดทักษิณ 2 นี้  ถึงจะมองจากภายนอกว่าไม่เป็นรัฐบาลผสม แต่ภายในเนื้อแท้แล้วแบ่งเป็นหลายพรรคหลายพวก เป็น “รัฐบาลเน่าใน” ที่มีการแก่งแย่งช่วงชิงผลประโยชน์ทั้งภายในพรรคและนอกพรรค จนในที่สุดก็เกิดกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ประกาศตนว่าเป็น กลุ่มพันธมิตรกู้ชาติ หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันดีว่า กลุ่มคนเสื้อเหลือง นำโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและในอดีตก็เป็นกลุ่มพลังที่ผลักดันใน นายทักษิณ ลงเล่นการเมืองออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน จนเกิดกระแสปั่นป่วนวุ่นวายไปทั้งเมือง

ในที่สุดเมื่อ  19 กันยายน 2549 พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้นก็นำกำลังเข้าทำรัฐประหารในนามของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยึดอำนาจรัฐบาลนายทักษิณในช่วงที่นายทักษิณ เดินทางไปสหรัฐเพื่อเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เพื่อขอการสนับสนุนจากประเทศสมาชิก ให้สนับสนุนนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เป็นเลขาธิการสหประชาชาติคนต่อไป

พลเอกสนธิ ประกาศหลังเข้ายึดอำนาจว่า มาเพื่อยุติความขัดแย้งในสังคม จัดระเบียบประเทศไทยเสียใหม่ และจะใช้เวลา 1 ปี หลังจากนั้นแล้วจะจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งท่านก็ทำตามคำพูดทุกอย่าง

ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 23 ธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนที่มี นายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าได้คะแนนเสียง 256 ที่นั่งมากเป็นอันดับ ๆ และได้รับเลือกจากสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับนายสมชาย  วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคเข้ารับตำแหน่งต่อ แต่ก็ดำรงตำแหน่งได้ไม่ถึง 3 เดือน

อย่างไรก็ตาม แม้จะดำรงตำแหน่งไม่นาน แต่ก็สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในวงการเมืองไทย เพราะนายสมชาย นั้นเป็นน้องเขยของ นายทักษิณ มีความเกี่ยวโยงกันอย่างใกล้ชิด กลายเป็นดองครองเมือง

ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่ง นายสมชายแทบจะไม่ได้เข้าไปบริหารประเทศในทำเนียบเลย เขายึดสนามบินดอนเมืองซึ่งช่วงนั้นปิดให้บริการเพราะเรามีสนามบินสุวรรณภูมิแล้วเป็นทำเนียบ  เหตุที่นายสมชาย เข้าทำเนียบไม่ได้เพราะกลุ่มคนเสื้อเหลืองตั้งกลุ่มชุมนุมเต็มพื้นที่รอบทำเนียบ 

เหตุที่นำไปสู่การพ้นจากตำแหน่งของนายสมชายคือการทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช กรรมการบริหารพรรคและนำไปสู่การยุบพรรค ทำให้นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีการชุมนุมประท้วงของมวลชนคนเสื้อแดง

และหลังจากนั้นตระกูลชินวัตรก็สร้างประวัติศาสตร์การเมืองครั้งใหญ่ด้วยการผลักดันนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย แต่ก็อยู่ไม่ได้ครบเทอมเหมือนพี่ชาย เพราะเกิดการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองกลับมาลงถนนประท้วง จนกรุงเทพเข้าสู่กลียุค เกิดความแตกแยกขัดแย้งกันตั้งแต่ในถนนจนถึงในครอบครัว

ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ที่เคยยืนค้อมกายให้กับ “นายกฯปู” นำคณะคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. เขายึดอำนาจทำให้ “นายกฯปู” ต้องหนีไปอยู่ต่างแดนแบบพี่ชายจนถึงทุกวันนี้

เก็บมาเล่าไล่ลำดับตั้งแต่ก่อนทักษิณ เพราะเห็นว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดในช่วงที่ พลเอกประยุทธ์ แบบ “ลากตั้ง” มาตั้งแต่ครั้ง รสช.จนผ่านการเลือกตั้งก็ยังไม่พ้นการ ”ลากตั้ง” และกำลังจะลงเลือกตั้งในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติในครั้งหน้านั้น

ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เคยเกิดมาแล้วในอดีต หลายส่วนคล้ายคลึงกับที่เกิดขึ้นในช่วงร่วม 6 ปีที่ พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐตรีจนทำให้พอคาดการณ์ได้ว่า การจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งเพียง 2 ปีเศษนั้น  มีทางเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่จะต้องมี “นายกรัฐมนตรีสำรอง” เพื่อเปลี่ยนไม้ถ่ายโอนอำนาจในทางนิตินัยระหว่างพรรคการเมืองที่เป็นแนวร่วมอย่างพลังประชารัฐกับรวมไทยสร้างชาติ

อย่างไรก็ตาม  ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็ยังมีพรรคที่มองข้ามไม่ได้คือ พรรคเพื่อไทย ที่มี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็น "หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย" และ พรรคภูมิใจไทย ที่มี “หมอหนู” นายอนุทิน  ชาญวีรกุล เป็นหัวหน้าพรรค แต่มี นายเนวิน  ชิดชอบ เป็นกุนซือใหญ่

ถ้าจะให้คาดการณ์ล่วงหน้า รัฐบาลที่จะมาบริหารประเทศก็ยังคงเป็นรัฐบาลผสม เพราะโอกาสที่จะเกิด Landslide เหมือนในอดีตนั้นแทบจะเป็นศูนย์ และ โอกาสที่พลเอกประยุทธ์จะได้ “ต่อเวลา”นั้น ก็มีน้อยเต็มที...



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ