สภาล่มซ้ำซาก ทางตันการพัฒนาประเทศ

วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2566

สภาล่มซ้ำซาก ทางตันการพัฒนาประเทศ


โดยหลักการแล้ว ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย ด้วยระบบรัฐสภา มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ทำหน้าที่ร่วมบริหารประเทศด้วยอำนาจนิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทั้งทางตรงและทางอ้อมมีทั้งหมด 500 คน วุฒิสภามีทั้งหมด 250 คน มาจากการแต่งตั้ง 249 คนและเป็นโดยตำแหน่ง 6 คน

ในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพรรคการเมืองไม่จำกัด เลือกตั้งแต่ละครั้งจะมีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครมากมาย ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ.2562 มีพรรคการเมืองส่งสมาชิกลงรับการเลือกตั้งมากถึง 81 พรรคการเมืองและเกินกว่าครึ่งเป็นพรรคตั้งใหม่หรือที่เรียกว่าพรรคเฉพาะกิจ

ผู้แทนของประชาชนทั้งที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รักการแต่งตั้งและวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งและเป็นโดยตำแหน่ง ล้วนทราบถึงบทบาทและหน้าที่ของตนที่ต้องมีต่อประเทศชาติและประชาชนเป็นอย่างดี ทุกคนต้องได้รับเอกสารที่ว่าด้วยข้อบังคับที่ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภากันทุกท่าน เอกสารชุดนี้เป็นการกำหนดบทบาทและหน้าที่ของเหล่านักการเมืองทั้งสภาสูงและสภาล่าง เพื่อให้คนที่ถูกเรียกว่านักการเมืองตัวแทนของประชาชนได้ใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติหน้าที่

ใน ข้อ ๒๔ กรรมการพ้นจากตำแหน่ง ตรง (๕) ระบุว่า “ขาดการประชุมคณะกรรมการสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และมิได้แจ้งเป็นหนังสือให้ประธานคณะกรรมการทราบ”

สิ่งที่ประธานรัฐสภาพึงกระทำก็คือ การบังคับใช้ตามบทบัญญัติอย่างเคร่งครัด  ไม่ควรปล่อยให้ “สภาล่ม” เป็นกลไกในเกมการเมืองจนประเทศชาติต้องเสียหาย

ท่านเองก็รู้อยู่ว่า กรรมาธิการแต่ละคณะนั้นได้รับเบี้ยเลี้ยงกันชุดละ 2-3 ล้านบาท ในรัฐสภามีกรรมาธิการกี่คณะท่านก็ทราบแก่ใจดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกี่ท่านเป็นกรรมาธิการท่านก็ทราบ

กับแค่ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านใดไม่เข้าประชุมจนมีส่วนทำให้สภาล่ม ทำไมท่านจึงไม่กล้านำรายชื่อมาเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้

รายการข่าวเช้าวันใหม่ไทย พีบีเอส เมื่อ 5 มกราคม ได้ไปสัมภาษณ์ความคิดเห็นของ แม่ค้าที่ตลาดแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนครราชสีมา เธอชื่อ ทัศ เจนพนัส เธอพูดในใจความที่พอสรุปได้ว่า ส.ส. ที่ประชาชนเลือกไป ช่วยเข้าประชุมสภากันบ้าง ไม่ใช่ปล่อยให้สภาล่มซ้ำซาก เอาแต่พวกแต่พรรค เธอขอให้ “ส.ส.ทำงานหน่อย เป็นปากเป็นเสียงของประชาชนบ้าง”

คำถามที่อยากให้มีคนตอบคือ ระดับแม่ค้าตลาดสดยังรู้หน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ทำไมตัวผู้แทนของราษฎรเองกลับไม่รู้หน้าที่ของตนเอง ทำไมยังทนก้มหน้าก้มตากินเงินเดือนสูง ๆ ที่มาจากภาษีของพ่อค้าแม่ค้าและประชาชนคนก้มหน้าทำมาหากินแลกกับรายได้ที่ต่ำกว่าพวกตน

เพราะเหตุใดพวกท่านจึงขาดจิตสำนึก ไร้สามัญสำนึก จนถึงกับต้องให้ชาวบ้านก่นด่าสับโขลกกันไม่เว้นแต่ละวัน  ท่านทั้งหลายสะใจกับประโยคที่ว่า “สภาล่มอีกแล้ว” กระนั้นหรือท่านไม่มีพ่อแม่ลูกเมียให้อับอายหรืออย่างไร  ชื่นอกชื่นใจกันนักหรือที่เป็นต้นเหตุให้การใช้อำนาจนิติบัญญัติขับเคลื่อนประเทศต้องชะงักงันติด ๆ ขัด ๆ เพราะท่านทำสภาล่มจนไม่สามารถพิจารณาร่างกฎหมายออกมาใช้ปกครองประเทศ

ในภาคประชาชนคนจ่ายภาษีนั้น สิ่งที่เราควรพิจารณากันให้เข้าใจและจำฝังใจก็คือ การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายใด ไม่เข้าประชุมสภาจนเป็นเหตุให้องค์ประชุมไม่ครบและเป็นต้นเหตุของสภาล่ม  ถือเป็นการทรยศต่อประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยตรง  เพราะสมาชิกสภาผู้แทนรายนั้น ๆ ได้กระทำการ “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” ด้วยการ “ละเว้นการทำหน้าที่อันพึงกระทำ” กระทำการโดยขาดจรรยาบรรณของนักการเมืองที่ดี ไม่เหมาะที่จะได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของประชาชนอีกต่อไป

ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกิดจากการกระทำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ขอเรียกร้องให้รัฐบาลสภาระบุตัวตนคนที่ทำให้ เกิดเหตุการณ์ “สภาล่มอีกแล้ว” และขอเรียกร้องให้ประชาชนที่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งงดออกเสียงให้กับ “นัก

ล่มสภา”

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ