สมาคมไข่ไก่ฯ ขานรับ 2 โจทย์ เร่งส่งออกลดสต๊อกในประเทศและช่วยเหลือประเทศคู่ค้าที่ขาดแคลนอาหาร

วันจันทร์ที่ 06 มีนาคม พ.ศ. 2566

สมาคมไข่ไก่ฯ ขานรับ 2 โจทย์ เร่งส่งออกลดสต๊อกในประเทศและช่วยเหลือประเทศคู่ค้าที่ขาดแคลนอาหาร


สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ และผู้ผลิตไข่ไก่ ขานรับแนวทางกรมปศุสัตว์ เร่งผลักดันส่งออกไข่ไก่ไปตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านฟอง เป็น 2 ล้านฟองต่อวัน เร่งระบายผลผลิตและสร้างสมดุลราคาในประเทศ มุ่งลดการขาดทุนของเกษตรกรผู้เลี้ยงจากราคาไข่ไก่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ล่าสุดไต้หวันติดต่อขอซื้อจากไทยเพื่อแก้ปัญหาในประเทศขาดแคลนและราคาสูง 

นายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ กล่าวว่า ขณะนี้หลายประเทศประสบปัญหาไข่ไก่ขาดแคลนจากสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดนก เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ เป็นต้น ทำให้ผลผลิตไข่ไก่ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศ จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ผลิตไข่ไก่ของไทยจะเจรจาเปิดตลาดส่งออกไปยังประเทศดังกล่าว เพื่อเพิ่มปริมาณส่งออกและนำเข้าเงินตราต่างประเทศมากขึ้น คาดว่าเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2566 ไทยจะส่งออกไข่ไก่ได้เพิ่มขึ้นจากปกติวันละ 1 ล้านฟอง เป็น 2 ล้านฟองต่อวัน เชื่อว่าภายใน 1-2 สัปดาห์ สถานการณ์ราคาในประเทศจะดีขึ้น 

“ไข้หวัดนก ทำให้หลายประเทศขาดแคลนไข่ไก่และราคาสูงมาก เนื่องจากผู้ผลิตบางส่วนในประเทศดังกล่าวข้างต้น เลิกกิจการเนื่องจากภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของไทยในการขยายตลาดส่งออกไข่ไก่ในช่วงนี้ โดยเฉพาะไต้หวัน ที่ติดต่อเข้ามาขอซื้อไข่ไก่จากไทย จากที่ปกติไทยมีตลาดส่งออกหลัก คือ ฮ่องกงและสิงคโปร์” นายมงคล กล่าว  

สำหรับสถานการณ์ตลาดไข่ไก่ในประเทศเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566  จากสภาพอากาศหนาวเย็น ส่งผลแม่ไก่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น  จึงมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น   เป็นผลให้ราคาย่อตัวลงไปด้วย  ประกอบกับกำลังซื้อในประเทศลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ  ซึ่งขณะนี้ราคาไข่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงประสบกับภาวะขาดทุน โดยราคาไข่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ 3.20 บาทต่อฟอง ขณะที่ราคาต้นทุนการผลิตไข่ไก่ไตรมาสที่ 4/2565 อยู่ที่ 3.47 บาทต่อฟอง 

นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงไก่ไข่ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมากกว่า 30% ทั้งจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ น้ำมันเชื้อเพลิง และพันธุ์สัตว์  ขณะที่ราคาไข่ไก่ไม่มีเสถียรภาพสวนทางกับต้นทุนการผลิต ทำให้ผู้เลี้ยงขาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และอาจเลิกเลี้ยง ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดแคลนไข่ไก่ในอนาคตได้ หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ ยังขอความร่วมมือผู้เลี้ยงไก่ไข่ทุกราย ให้เร่งปลดแม่ไก่ยืนกรงไม่ให้มีอายุเกิน 80 สัปดาห์ ยกเว้นรายย่อยที่เลี้ยงต่ำกว่า 30,000 ตัว ส่วนผู้เลี้ยงรายใหญ่ 100,000 ตัวขึ้นไปไม่ให้เกิน 78 สัปดาห์ และขอให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ช่วยผลักดันการส่งออกหรือปลดไก่ไข่ยืนกรงก่อนกำหนด 

ก่อนหน้านี้ อินเดียเตรียมส่งออกไข่มากเป็นประวัติการณ์จำนวน 50 ล้านฟอง ให้กับมาเลเซียที่ประสบปัญหาขาดแคลนไข่เฉียบพลัน เนื่องจากราคาอาหารสัตว์พุ่งสูงขึ้นจากสงครามยูเครน ทำให้เกษตรกรรายย่อยจำนวนมากจำเป็นต้องลดกำลังการผลิตลง ขณะที่ญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดแคลนไข่ไก่เนื่องจากไข้หวัดนกแพร่ระบาดใน 47 จังหวัดของประเทศ และต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาขายส่งไข่ขนาดกลางในกรุงโตเกียว ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ 335 เยน (ประมาณ 86 บาท) ต่อกิโลกรัม สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 81 ./



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ