ปรัชญาใหม่ของนิด้า: ปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (WISDOM for Sustainable Development)

วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2566

ปรัชญาใหม่ของนิด้า: ปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (WISDOM for Sustainable Development)


สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ปรับเปลี่ยนปรัชญาใหม่เป็น  “ปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Wisdom for Sustainable Development)”  เป็นการปรับเปลี่ยนปรัชญาในรอบ 15 ปี เพื่อรองรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ศาสตราจารย์ ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)  เปิดเผยว่า นิด้าได้มีการปรับเปลี่ยนปรัชญาใหม่จาก “ปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลง (WISDOM for Change)” เป็น “ปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน WISDOM for Sustainable Development” โดยในช่วงเริ่มก่อตั้งนิด้าซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐในปี พ.ศ. 2509 นิด้ามีปรัชญาที่อิงกับพุทธสุภาษิต คือ “นตถิ ปัญญา สมา อาภา” (ไม่มีแสงสว่างใดเสมอเท่าปัญญา)  

แสงสว่างที่มาจากแหล่งต่าง ๆ ทำให้ดวงตาเห็นหนทางและเห็นสรรพสิ่งรอบตัวได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามของธรรมชาติและพฤติกรรมต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตทั้งปวง (Visual Perception)  หากแต่แสงสว่างจากปัญญาต่างจากแหล่งอื่น  เพราะเป็นแสงสว่างที่ส่องไปถึงจิตใจ สามารถนำพาความคิด ชีวิตและองค์การของเราจากความมืดมิดให้ไปสู่ความรุ่งโรจน์ได้  ช่วยทำลายความงมงายไปสู่ความมีเหตุมีผล และสร้างความปลื้มปิติให้กับผู้มีปัญญา

อย่างไรก็ดี นิด้าได้ใช้พุทธสุภาษิตดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2550 เมื่อสถาบันมีการจัดทำแผนพัฒนาระยะยาว  และได้เสนอเปลี่ยนปรัชญาของสถาบันเป็น “ปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลง (WISDOM for Change)”  ในยุคนั้นมีกระแสการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูงโดยเฉพาะกระแสสากล  เพื่อต้องการสะบัดให้แรงเฉื่อยที่อยู่ในระบบเก่าให้ลดน้อยลง  และเข้าสู่โหมดของการเปลี่ยนแปลง   การเปลี่ยนปรัชญาในครั้งนั้นจึงช่วยสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจปรัชญาของสถาบันได้ดีขึ้นและทันกับกระแสโลก

หลังจากใช้ปรัชญา “ปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลง” มาประมาณ 15 ปีแล้ว ผู้บริหารสถาบันได้เสนอการปรับปรัชญาให้มีความชัดเจนขึ้นว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร  และเนื่องจากนิด้ามีอัตลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา  ประกอบกับกระแสเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้ ซึ่งได้รับการยอมรับจาก 193 ประเทศทั่วโลก  จึงเสนอปรับปรัชญาของสถาบันเป็น “ปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (WISDOM for Sustainable Development)”

อธิการบดี นิด้า กล่าวถึง ปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ว่า ปัญญาเป็นองค์ความรู้และหลักการที่สะสมและพัฒนาต่อเนื่องมาจนเกิดเป็นความเข้าใจและความลุ่มลึกในเรื่องนั้น ๆ โดยผ่านกระบวนการแสวงหาความรู้และการค้นหาความจริง ปัญญาจึงเป็นลักษณะเฉพาะของมนุษย์  และเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำคัญที่สุดที่มนุษย์พึงแสวงหา (แนวคิดของปัญญานิยม) ปัญญาช่วยลดอคติ (ความลำเอียง) อันจะนำไปสู่ความไม่แบ่งแยกกลุ่มเขากลุ่มเราและความเป็นธรรมก็จะตามมา  ปัญญาสามารถลดความลำเอียงในรูปแบบต่าง ๆ คือ ความลำเอียงซึ่งเกิดจากความรักใคร่ (ฉันทาคติ)  ความลำเอียงซึ่งเกิดจากโกรธและเกลียดชัง (โทสาคติ) ความลำเอียงซึ่งเกิดจากความกลัว (ภยาคติ) และความลำเอียงซึ่งเกิดจากความเขลาหรือความไม่รู้ของตนเอง (โมหาคติ)

การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาที่มีความสมดุลระหว่างด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  เป็นการพัฒนาที่พิจารณาถึงผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย  บทเรียนเกี่ยวกับผลการพัฒนาที่ผ่านมาของประเทศต่าง ๆ มีปัญหาอันเนื่องมาจากแนวทางการพัฒนาที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการบูรณาการกับการพัฒนาด้านอื่น ๆ  ทำให้เราเห็นรูปธรรมและผลของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และกลายมาเป็นภาระที่หนักอึ้งของคนรุ่นหลัง  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำของสังคม  ความไม่เท่าเทียมในการรับบริการด้านการศึกษาและสาธารณสุข รวยกระจุกจนกระจาย การว่างงาน หนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น  โรคเครียดและซึมเศร้าเพิ่มขึ้น  และเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย  เรื่องมลภาวะของสิ่งแวดล้อม  ฝุ่น PM 2.5  ความเอารัดเอาเปรียบจากผู้ที่ด้อยกว่ายังเป็นปรากฏการณ์ที่เราเห็นอยู่เป็นประจำ

ศาสตราจารย์ ดร.ทิพวรรณ กล่าวถึง การพัฒนาที่ยั่งยืนเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ภาครัฐมีนโยบายและแผนและการดำเนินงานในด้านนี้อยู่แล้ว  ในส่วนของภาคเอกชนเป็นภาคที่มีส่วนสำคัญอย่างมากเพราะมีบทบาทในการสร้างงานและมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ  การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นแนวทางที่ช่วยให้ภาคเอกชนสามารถระบุได้ว่าผลกระทบที่ธุรกิจได้สร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมได้สร้างหรือเพิ่มคุณค่า (Value) ให้กับสังคมอย่างไรบ้าง  เป็นการคำนึงผลระยะยาวมากกว่ากำไรด้านการเงินระยะสั้นอย่างเดียว   อันจะช่วยสร้างชื่อเสียงและความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่มีหลากหลายของธุรกิจได้ดีขึ้น  สามารถดึงดูดและรักษาลูกค้า พนักงาน และนักลงทุน  ตลอดจนได้รับการสนับสนุนจากลูกค้าเพิ่มขึ้น

จากความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นความหมายที่เกี่ยวกับคนสองรุ่นคือคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นใหม่ กล่าวคือ  การพัฒนาที่สนองต่อความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยที่ต้องไม่ไปสร้างภาระให้กับคนรุ่นหลัง  เนื่องจากเรามีทรัพยากรธรรมชาติจำกัด ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ น้ำสะอาด และอาหาร  ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ที่จะมาร่วมกันสร้าง ออกแบบ และพัฒนาระบบ กระบวนการ และกลไกต่างๆ เพื่อให้เกิดผลของการพัฒนาดังกล่าว  หากคนรุ่นใหม่ไม่สนใจในเรื่องนี้  ไม่มีส่วนร่วมในการรังสรรค์สังคมให้ยั่งยืน  คนรุ่นลูกรุ่นหลานของเราคงไม่มีโอกาสที่จะดำรงชีวิตอย่างมีความสุขได้

ศาสตราจารย์ ดร.ทิพวรรณ  กล่าวในท้ายที่สุดว่า นิด้ามีแนวทางที่จะช่วยให้ผู้นำรุ่นใหม่พัฒนาธุรกิจ สังคม และประเทศชาติให้เติบโต โดยพันธกิจที่สำคัญประการหนึ่งของนิด้าคือการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) โดยนำปัญญาที่เป็นองค์ความรู้ที่ตนเองมีมาประยุกต์ใช้ในการเปลี่ยนแปลงหรือพลิกโฉมเพื่อให้เกิดการพัฒนา  คนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาและได้นำความรู้ แนวคิดและทักษะที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการเปลี่ยนแปลงจึงถือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง  นิด้ามีตัวแบบในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการเป็นพลเมืองของสังคมและของโลกในศตวรรษที่ 21 มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิทยาการข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาใช้ในการเรียนการสอน และการประยุกต์ใช้ในการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม  มีตัวแบบการตัดสินใจสำหรับองค์การสมัยใหม่  มีเครือข่ายทางสากลในหลายประเทศเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้  รวมทั้งมีพื้นที่เรียนรู้ให้คนรุ่นใหม่ได้มีประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการเรียนและสามารถนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้ได้อย่างเต็มที่

หน้าที่ของการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ใช่หน้าที่ของคนรุ่นใดรุ่นหนึ่ง  การพัฒนาที่ยั่งยืนจะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้หากไม่มีความร่วมมือระหว่างคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นหลัง  วัยหนุ่มสาวเป็นวัยที่เต็มไปด้วยพลัง  มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  เรียนรู้ได้เร็ว  มีความอิสระ เป็นคุณลักษณะของความก้าวหน้าของสังคม ผู้นำรุ่นใหม่จะเป็นพลังที่มีความใฝ่รู้ ความฝันและความหวังเป็นแรงขับเคลื่อน  ส่วนผู้นำรุ่นก่อนจะอาศัยพลังของประสบการณ์ ความเข้าใจ และจิตสาธารณะเป็นแรงผลักดัน  

นิด้าจึงเชื่อมั่นว่าด้วยต้นทุนทางปัญญาที่เราสะสมมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติของคณาจารย์ที่มีผลงานวิจัยระดับนานาชาติและบทบาทในการบริการวิชาการที่มีต่อสังคม การเรียนการสอนสำหรับคนรุ่นใหม่ ประกอบกับทิศทางของการสร้างปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นคำตอบที่ช่วยสร้างผู้นำรุ่นใหม่  นิด้ามีเครือข่ายศิษย์เก่าที่เข้มแข็งอยู่ในทุกภาคส่วนทั่วประเทศ  เราสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงรวมเกือบ 90,000 คน  สถาบันจะช่วยสร้างโอกาสในการรวมพลังระหว่างผู้นำรุ่นใหม่และรุ่นเก่า อันจะทำให้พลังการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นในระดับองค์การ ชุมชน สังคม และประเทศเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนมากขึ้น



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ