กรมทางหลวง เปิดงานวิจัย “การศึกษาเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากอุบัติเหตุบนทางหลวงที่เกี่ยวเนื่องจากการขับขี่หลับใน” นำร่องแล้ว 3 จังหวัด

วันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2566

กรมทางหลวง เปิดงานวิจัย “การศึกษาเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากอุบัติเหตุบนทางหลวงที่เกี่ยวเนื่องจากการขับขี่หลับใน” นำร่องแล้ว 3 จังหวัด


กรมทางหลวงเปิดเผยข้อมูลรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2562 ระบุว่า การหลับในเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเป็นลำดับที่ 3 รองลงมาจาก ขับรถเร็วเกินกำหนด และคนหรือรถตัดหน้ากระชั้นชิด กรมทางหลวงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินการศึกษาเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากอุบัติเหตุบนทางหลวงที่เกี่ยวเนื่องจากการขับขี่หลับใน ซึ่งผลการดำเนินการจะสรุปเป็นแนวทางและมาตรการอำนวยความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพแก่ผู้ใช้ทางต่อไป

นายสราวุธ  ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวง โดยสำนักวิจัยและพัฒนางานทาง ได้ดำเนินการศึกษามาตรการในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากการขับขี่หลับใน โดยประยุกต์ใช้เครื่องมือตรวจวัดระดับความอ่อนล้าหรือความง่วง ประกอบด้วยเครื่องสแกนคลื่นสมอง (EMOTIVE) นาฬิกาวัดอัตราการเต้นของหัวใจ (Smartwatch) กล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว และการใช้แบบสอบถามประเมินความง่วง 

โดยการศึกษานี้แบ่งการทดลองเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการซึ่งเป็นการทดลองด้วยเครื่องขับขี่เสมือนจริง (Driving Simulator) เพื่อจำลองมาตรการต่างๆ โดยจำลองเป็นสถานการณ์ที่เกิดจากการผสมผสาน (Combination) ระหว่างรูปแบบของป้าย และ Rumble strips 

และส่วนที่ 2 เป็นการทดลองมาตรการจริงบนพื้นที่นำร่อง โดยพบว่ามาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการหลับใน คือ การติดตั้งระบบป้ายแนะนำผู้ขับขี่อ่อนล้าและป้ายพิเศษที่สร้างความตื่นตัวรูปแบบ คำถาม – คำตอบ ร่วมกับการติดตั้งแถบเสียงแนวขวาง (Rumble strips) อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของมาตรการควรต้องพิจารณาร่วมกับสภาพแวดล้อมของสายทางนั้นๆ ด้วย เช่น การติดตั้งป้ายบริเวณข้างทางของเอกชน การจอดรถบริเวณไหล่ทาง การปรับปรุงภูมิทัศน์ข้างทางและจุดพักรถ 

โดยปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการติดตั้งป้ายเขตแก้ง่วงในพื้นที่นำร่อง จำนวน 3 สายทาง ได้แก่ 

1.ทางหลวงหมายเลข 340 สาย สาลี – สุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี กม.ที่ 50+000 -70+000 ขาออก

2.ทางหลวงหมายเลข 1 สาย ประตูน้ำพระอินทร์ – หนองแค จ.สระบุรี กม.ที่ 76+000 – 56+000 ขาเข้า

3.ทางหลวงหมายเลข 344 สายหนองรี – คลองเขต จ.ชลบุรี กม.ที่ 20+350 – 40+350 ขาออก
 
ซึ่งจากผลการทดสอบในพื้นที่นำร่องร่วมกับการสอบถามผู้ใช้ทาง ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การนำระบบป้ายพิเศษเพื่อสร้างความตื่นตัว (ป้ายคำถาม - คำตอบ) สามารถกระตุ้นให้ผู้ขับขี่มีความตื่นตัว เนื่องจากเป็นการกระตุ้นให้ผู้ขับขี่ได้ใช้ความคิด ลดความง่วงลงได้ รวมถึงการใช้มาตรฐานป้ายต่างๆ ร่วมกับแถบสั่นแนวขวางจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพทั้งความตื่นตัวและช่วยให้สังเกตเห็นป้ายได้ง่ายมากขึ้น โดยหากจะนำระบบป้ายพิเศษเพื่อสร้างความตื่นตัว (ป้ายคำถาม - คำตอบ) ไปใช้งานในพื้นที่จริงควรเพิ่มคำถามให้หลากหลายขึ้น อาจจะมีการเปลี่ยนคำถามทุก ๆ 1 - 3 เดือน เพื่อลดความจำเจ และเพิ่มความแปลกใหม่ให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน หากจะนำมาตรการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่จริงเพื่อลดอุบัติเหตุจากการขับขี่หลับใน 

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของมาตรการควรต้องพิจารณาร่วมกับสภาพแวดล้อมของสายทางนั้นๆ ด้วย เช่น การติดตั้งป้ายบริเวณข้างทาง การจอดรถบริเวณไหล่ทาง การปรับปรุงภูมิทัศน์ข้างทางและจุดพักรถ เป็นต้น

ประโยชน์จากการศึกษาโครงการดังกล่าวจะช่วยให้ทราบถึงปัจจัยและสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการขับขี่หลับใน สามารถสรุปเป็นแนวทางในการเสนอแนะมาตรการในการป้องกันอุบัติเหตุบนทางหลวงต่อไป  กรมทางหลวงขอความร่วมมือผู้ใช้ทางปฏิบัติตาม “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” ขับขี่ด้วยความระมัดระวังเพื่อความปลอดภัยของตัวท่านและผู้ร่วมทาง ประชาชนสามารถสอบถามเส้นทางการเดินทางได้ที่ สายด่วนกรมทางหลวง โทร 1586 (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง)



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ