พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU ว่าด้วยการส่งเสริมให้เยาวชนของศาลเยาวชนและครอบครัวขับขี่ปลอดภัย ใส่ใจวินัยจราจร ระหว่างศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กับ บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด
ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดย นายรัฐธีย์ ยมจินดา อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และ บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด โดย ดร.อารักษ์ พรประภา รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมให้เยาวชนของศาลเยาวชนและครอบครัวขับขี่ปลอดภัย ใส่ใจวินัยจราจร และลดการเกิดอุบัติเหตุให้แก่เยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการของศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วราชอาณาจักรและศาลจังหวัดที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว เพื่อผูกจิตสำนึกให้แก่เยาวชนในการขับขี่ให้ปลอดภัย ส่งเสริมให้เยาวชนได้รับการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู เพื่อเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคม รวมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมอันจะส่งผลให้อยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปกติสุข
ซึ่งการลงนามในครั้งนี้มี นางดวงใจ นาคินทร์ ใจจันทร์เดือน รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง นายนพพร วิวัฒนาภรณ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง พร้อมคณะผู้บริหารศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้พิพากษา ดร.นิลุบล ลิ่มพงศ์พันธุ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารผู้พิพากษาสมทบในศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง พร้อมคณะผู้พิพากษาสมทบในศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้ประนีประนอมคดีครอบครัว เจ้าหน้าที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และคณะผู้บริหาร จากบริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชนที่ต้องหาว่ากระทำความผิด ตั้งแต่ชั้นถูกกล่าวหา จับกุม และดำเนินคดี ซึ่งศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วราชอาณาจักรและศาลจังหวัดที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัวในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายดังกล่าว มีภารกิจสำคัญในการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู พิทักษ์ และคุ้มครองสิทธิ์ มุ่งเน้นในการให้เด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการของศาลได้รับการฝึกอบรม สั่งสอน และสงเคราะห์ให้กับตัวเป็นพลเมืองดียิ่งกว่าการที่จะลงโทษ โดยพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว 2553 มาตรา 73 วรรคท้าย มาตรา 90 มาตรา 132 มาตรา 138 กำหนดมาตรการในการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กและเยาวชนให้กับตนเป็นคนดีของครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ดังนั้นศาลเยาวชนและครอบครัวกลางซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญตามหลักการดังกล่าว จึงได้จัดโครงการ “เยาวชนไทย ขับขี่ปลอดภัย ใส่ใจวินัยจราจร” เพื่อให้เยาวชนได้รับความรู้และทักษะด้านการจราจรมากขึ้น รวมทั้งมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาจราจร และลดปัญหาการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน อันเป็นการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเยาวชนและสังคมให้ดียิ่งขึ้น “รักศาล ร่วมใจ รับใช้ประชาชน”