กรมชลฯ เติมน้ำในอ่างประแสร์ ป้องกันฝนขาดช่วงกระทบเศรษฐกิจภาคตะวันออก

วันศุกร์ที่ 02 มิถุนายน พ.ศ. 2566

กรมชลฯ เติมน้ำในอ่างประแสร์ ป้องกันฝนขาดช่วงกระทบเศรษฐกิจภาคตะวันออก


นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้วางแผนป้องกันและบรรเทาสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง รวมทั้งลดความเสี่ยงต่อปัญหาขาดแคลนน้ำ หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงระหว่างเดือนพ.ค.- ก.ค. 66  รวมถึงผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ส่งผลให้มีฝนน้อยกว่าค่าปกติ จึงได้กำชับให้ใช้โครงข่ายน้ำในภาคตะวันออกให้เต็มประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันปัญหาภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น โดยไม่ให้กระทบต่อน้ำอุปโภค บริโภคและเศรษฐกิจ ทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมสำรองเครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ ที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที และให้ตรวจสอบการทำงานของอาคารชลประทาน เครื่องมือ และเครื่องจักรต่าง ๆ ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพตลอดเวลา 

“ได้เน้นย้ำในเรื่องการผันน้ำว่า จะต้องเป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เมื่อระดับน้ำสามารถสูบได้ตามข้อตกลงกับกลุ่มผู้ใช้น้ำต้นทางให้ผันน้ำทันที เพื่อสำรองน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด โดยล่าสุดสำนักงานชลประทานที่ 9 ได้เริ่มสูบน้ำจากคลองสะพานไปเติมให้กับอ่างเก็บน้ำประแสร์ ศักยภาพสูงสุดได้มากถึง 470,000  ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวัน  ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ ที่ปัจจุบันมีน้ำอยู่ 196 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 67 ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น จนสามารถเป็นศูนย์กลางในการกระจายน้ำไปช่วยในการผลิตน้ำประปา และอุตสาหกรรม ในพื้นที่ EEC ได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ จะได้สูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต ไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อรักษาระดับน้ำและคุณภาพน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับปริมาณน้ำต้นทุนที่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปาของจังหวัดชลบุรีต่อไป”อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

ด้านนายทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 เปิดเผยว่า อธิบดีกรมชลประทานได้กำชับให้บริหารจัดการน้ำและบริหารการสูบผันน้ำตามแผนอย่างเคร่งครัด  ซึ่งทางสำนักงานชลประทานที่ 9 ได้วางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเตรียมระบบสูบกลับน้ำทั้งโครงข่าย อาทิ การผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปลงอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ก่อนจะผันต่อไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ตามที่ได้ประชุมร่วมกับคณะทำงาน Keyman Water Warroom ภาคตะวันออก โดยเริ่มสูบน้ำแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 66 ไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 66 ได้วันละประมาณ  250,000 ลบ.ม. หรือเดือนละ 7.50 ล้าน ลบ.ม. และเมื่อสิ้นฤดูฝนวันที่ 31 ต.ค. 66 จะหารือกับส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์

รวมทั้งเตรียมความพร้อมสูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต มาลงอ่างเก็บน้ำบางพระ ซึ่งในปีนี้วางแผนสูบผันน้ำตั้งแต่เดือน ส.ค.ถึงเดือน พ.ย. 66 แต่หากคุณภาพน้ำค่าความเค็มเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดก่อนแผนที่วางไว้ จะสูบผันน้ำในทันที เป็นการปรับแผนการผันน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อรองรับการใช้น้ำของพื้นที่ EEC จังหวัดชลบุรี  ระยอง และฉะชิงเทรา ภายใต้ข้อตกลงของกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ รวมไปถึงการเฝ้าระวังค่าความเค็มด้วย โดยปริมาณความต้องการใช้น้ำของพื้นที่ EEC จากโครงข่ายน้ำภาคตะวันออก จะอยู่ที่ประมาณ 1.20 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ