การวิเคราะห์กราฟเทคนิคเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการทำงานของนักลงทุนในการพยากรณ์แนวโน้มราคาในอนาคตของตลาดการเงินต่าง ๆ โดยใช้ข้อมูลประวัติศาสตร์เทคนิคนี้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมตลาดสามารถตัดสินใจอย่างมีเหตุผลและทำนายการเคลื่อนไหวของราคาได้ ในบทความนี้ เราจะมาสำรวจหลักการของการวิเคราะห์กราฟเทคนิค ข้อได้เปรียบและเครื่องมือที่นักลงทุนใช้ในการซื้อขายกันอย่างแพร่หลาย
เข้าใจเทคนิคการวิเคราะห์กราฟทางเทคนิค
การวิเคราะห์กราฟทางเทคนิคเป็นการศึกษาแนวโน้มราคาในอดีตตลาดการเงินเพื่อหาแนวโน้มของราคาหรือการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แนวคิดนี้มีประวัติยาวนาน ร่วมหลายร้อยปี โดยเริ่มต้นมาจากนายโจเซฟ เดอ ลา เวก้า นักธุรกิจชาวยิวผู้ใช้เทคนิคนี้ในการทำนายตลาดดัตช์ในปี ค.ศ. 1683 แม้ว่าเทคโนโลยีการเงินและเครื่องมือต่าง ๆ จะถูกพัฒนาขึ้นเรื่อย แต่วิธีการวิเคราะห์ทางเทคนิคนี้ก็ยังเป็นที่นิยมมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ในตลาดเงินตราเท่านั้น ในกลุ่มสินทรัพย์อื่นๆ ก็ยังถูกใช้กันอย่างแพร่หลายเช่นกัน
ในการวิเคราะห์กราฟทางเทคนิคนั้น มีรายละเอียดเล็ก ๆ มากมายเชิงคณิตศาสตร์ที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น ในทางเทคนิค กราฟจะมีแกน X ที่คอยแสดงราคาของสินทรัพย์นั้น ๆ และแกน Y แสดงเวลา และนอกจากนั้นการตีความของกราฟแต่ละประเภทก็มีความแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นหลักเลย ก็คือ การวิเคราะห์แนวโน้ม (Trends) แนวรับและแนวต้านทาน (Support and Resistance Levels) สภาวะการซื้อเกิน (Overbought) หรือการขายเกิน (Oversold) และรูปแบบที่เกิดขึ้นจากราคา
เครื่องมือและวิธีการที่ได้รับความนิยมในการวิเคราะห์เทคนิค
1. กราฟแท่งเทียน (Candlesticks): สามารถใช้ในการติดตามแนวโน้มและรูปแบบการเคลื่อนไหวของราคา ซึ่งกราฟแท่งเทียนจะแสดงข้อมูลได้มากกว่ากราฟทั่ว ๆ ไป ทำให้เห็นถึงราคาสูงสุดและต่ำสุดที่สินทรัพย์ทำเอาไว้ในกรอบเวลาที่ระบุ รวมถึงราคาเปิดและราคาปิดของสินทรัพย์นั้น ๆ ได้
2. เส้นแนวโน้ม (Trend lines): ช่วยในการระบุทิศทางแนวโน้มของราคาที่เกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงนั้น ๆ
3. อัตราส่วนฟีโบนาชชี่ หรือเทคนิค Fibonacci (Fibonacci Retracement): ช่วยในการวิเคราะห์ทิศทางของกราฟราคา เพื่อมองหาราคาเป้าหมายและจุดที่ราคาพักตัว
4. ตัวชี้วัดเทคนิค (Technical Indicators): เครื่องมือเชิงสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์แนวโน้มราคา ได้แก่ ปริมาณการซื้อขาย (Volume) ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ของราคา (Moving Averages) และอื่น ๆ
หลักการของการวิเคราะห์กราฟทางเทคนิค
1. ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับราคา: การวิเคราะห์เทคนิคเชื่อว่าราคาของหุ้นหรือสินค้าใด ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมนั้น เป็นผลมาจากการสะท้อนข้อมูลทั้งหมดที่สำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ข้อมูลพื้นฐาน เหตุการณ์ทางการเมือง ภาพรวมของเศรษฐกิจ เป็นต้น
2. แนวโน้มมีส่วนทำให้ราคาเปลี่ยนแปลง: แนวโน้มเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญของการวิเคราะห์กราฟทางเทคนิค เพราะราคามักเคลื่อนไหวตามแนวโน้ม ซึ่งสามารถแบ่งแนวโน้มออกได้เป็น 3 แบบ คือ แนวโน้มขาขึ้น (Up Trend) แนวโน้มขาลง (Down Trend) และแนวโน้มด้านข้าง (Sideways Trend) หรือรูปแบบของราคาที่มีทิศทางไม่แน่นอน มีการเคลื่อนที่อยู่ในกรอบแคบและปริมาณการซื้อขายในตลาดค่อนข้างต่ำ ดังนั้น นักลงทุนจึงมักมองหาแนวโน้มของราคาที่จะเกิดขึ้นในกราฟ เพื่ออ้างอิงแนวโน้มที่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต
3. โอกาสในการเกิดขึ้นซ้ำกับกราฟในอดีต: นักลงทุนที่มีประสบการณ์จะใช้รูปแบบการเคลื่อนไหวของราคาในอดีตเพื่อดูความน่าจะเป็นของโอกาสที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากรูปแบบการเคลื่อนไหวในอดีตมักมีโอกาสจะเกิดซ้ำอีกครั้ง
นักลงทุนที่มีประสบการณ์เชื่อมั่นว่าทุกสิ่งที่เหล่านักลงทุนล้วนต้องการทราบนั้น อยู่ในประวัติการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์อยู่แล้ว เพียงเริ่มต้นการเรียนรู้ด้วยรูปแบบของกราฟและข้อมูลจากอดีต เครื่องมือ และแนวโน้ม อ้างอิงจาก 3 ข้อนี้ ทำให้นักลงทุนสามารถที่จะวิเคราะห์ราคาของสินทรัพย์ต่าง ๆ ได้อย่างมีหลักการ
ประโยชน์จากการวิเคราะห์กราฟเชิงเทคนิค
การวิเคราะห์กราฟทางเทคนิคมีประโยชน์หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ช่วยให้เห็นภาพรวมของตลาด มีโอกาสในการตัดสินใจซื้อหรือขายสินทรัพย์ได้ดียิ่งขึ้น เพราะการวิเคราะห์สามารถทำให้เราคาดเดาจุดที่ควรเข้าและจุดที่ควรออกในการซื้อขายเพื่อให้ได้กำไรและไม่เสี่ยงในการขาดทุน ซึ่งหมายความว่า การวิเคราะห์กราฟทางเทคนิคเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงและสามารถช่วยให้นักลงทุนเข้าใจความผันผวนของแนวโน้มราคาสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นในตลาดนั้น ๆ ได้ เพียงนักลงทุนต้องมีความเข้าใจ ใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม และปรับกลยุทธ์ของตนเองให้เข้ากับสภาวะของตลาดในแต่ละช่วงเวลาอยู่เสมอ ก็จะทำให้การลงทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตามความสำเร็จในการใช้เทคนิคต่าง ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับความเข้าใจและประสบการณ์ของนักลงทุนเช่นเดียวกัน ควรใช้การวิเคราะห์เทคนิคร่วมกับข้อมูลอื่น ๆ ด้วย เช่น ข่าวสารเศรษฐกิจ และปัจจัยทางเทคนิคอื่น ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและครอบคลุมการตัดสินใจในการซื้อขายสินทรัพย์
แม้ว่าการวิเคราะห์เชิงเทคนิคจะเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการช่วยตัดสินใจลงทุนกับสถานการณ์ต่าง ๆ ของตลาด ณ เวลานั้น แต่นักลงทุนต้องตระหนักอยู่เสมอว่าไม่มีใครสามารถคาดเดาได้เป็นอย่างแม่นยำทุกครั้งและควรประเมินความเสี่ยงต่อการกิจกรรมการลงทุนอยู่เสมอ