ดร. สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันนี้เทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เราเคยพูดถึงกันเรื่องของดิสรัปชันมากมายในวงการการเงิน และมาจนถึงวงการประกันภัยที่เค้าเรียกกันว่า อินชัวรันส์ ดิสรัปชั่น ดังนั้นเราในฐานะบริษัทในกลุ่มธุรกิจประกันต้องถามตัวเองว่าเราจะรอให้ดิสรัปชันเกิดขึ้นกับเราหรือเราจะลุกขึ้นมาดิสรัปชันด้วยตัวเอง เพราะในทุกวันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความเติบโตที่ยั่งยืนของธุรกิจประกันเช่นกัน ส่งผลให้ทาง ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เราได้มีการศึกษาในเรื่องดังกล่าวมาเป็นเวลายาวนานในการจะพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงได้ง่ายผ่านระบบดิจิทัลพลิกโฉมวงการประกันภัย
ล่าสุด บริษัทได้ตั้ง บริษัท อินชัวร์เวิร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ Insurverse เป็นครั้งแรกของบริษัทประกันวินาศภัยที่ให้บริการดิจิทัลเต็มรูปแบบ เพื่อนำเสนอการประกันภัยในมุมมอง ของผู้บริโภคให้สามารถออกแบบความคุ้มครองเฉพาะบุคคล โดยไม่ผ่านนายหน้า (The first D.I.Y. Direct Digital Insurance) ถือเป็นโลกใหม่ของวงการประกันวินาศภัย ที่มีระบบการซื้อ การเคลม และการติดตามสถานะครบวงจร บนแพลตฟอร์มออนไลน์ 100% รวดเร็ว โปร่งใส และลดขั้นตอนยุ่งยาก เพื่อให้ลูกค้าได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด
“ทางเราได้ทำการ M&A หรือการไปร่วมทุนกันมาเพื่อมาเปิดบริษัท อินชัวร์เวิร์ส จำกัด (มหาชน) ด้วยเริ่มแรกทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 500 กว่าล้านบาท และภายหลังจากที่ได้มีการร่วมทุนเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ได้มีการเพิ่มทุนอีก 100 กว่าล้านบาท โดยใช้ในการพัฒนาระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยรวมทั้งหมดน่าจะอยู่ที่ 620 ล้านบาท ซึ่งมองว่างบลงทุนทั้งหมดนี้จะเป็นจำนวนที่สิ้นสุดแล้วและคาดว่าจะไม่มีการเพิ่มเงินลงทุนมากไปกว่านี้อีก”
บิ๊กบอส ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวต่อว่า สำหรับประกันภัยของอินชัวร์เวิร์สนี้ในช่วงแรกเราจะมุ่งเน้นทำตลาดภายในประเทศไทยก่อน เพื่อเป็นการทดสอบระบบว่า เราสามารถรองรับปริมาณของลูกค้าและเรื่องของฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่เราได้พัฒนาขึ้นเน้นเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในการสร้างการรับรู้เรื่องของประกันภัยไปยังกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวที่ใช้ดิจิทัลตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์อย่างตรงจุด และภายหลังจากนี้อย่างน้อยประมาณ 2 ปี เราตั้งเป้าให้อินชัวร์เวิร์ส เป็นหัวหอกสำคัญในการขยายตลาดไปยังภูมิภาคต่างๆ ในอาเซียนด้วย โดยวางแผนจะไปแถบประเทศ CLMV เป็นหลักก่อน
ด้าน นายพุทธา วิริยะบวร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า “Insurverse มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน คนรุ่นใหม่กลุ่มมิลเลนเนียล ที่มีอายุระหว่าง 25-39 ปี ที่คุ้นชินกับการใช้ดิจิทัลเป็นอย่างดีและให้ความสำคัญกับการเลือกและปรับแต่งผลิตภัณฑ์เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ซึ่งกำลังจะเป็นกำลังซื้อหลัก ในอนาคต จุดเด่นของ Insurverse คือการให้อำนาจลูกค้าคอนโทรลความคุ้มครองได้เองโดยไม่ผ่านนายหน้า สามารถปรับ ความคุ้มครองจนกว่าจะพอใจและเหมาะสมกับงบประมาณที่มี ตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบความยืดหยุ่น เทคโนโลยี OCR ลดการกรอกข้อมูลที่ยุ่งยาก เว็บไซต์มีการออกแบบและการใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดี ในการใช้บริการด้านประกันภัย”
ด้าน นายกิตตินันท์ ภู่พงศ์พันธ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินชัวร์เวิร์ส จำกัด (มหาชน) กล่าวต่อว่า ประกันภัยดิจิทัล Insurverse มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ประกอบด้วย ประกันภัยรถยนต์ พ.ร.บ. ประกันการเดินทาง ประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ และประกันสัตว์เลี้ยง โดยนำร่องเปิดตัวประกันภัยรถยนต์ก่อนเป็นเฟสแรก แต่ในส่วนของรถยนต์เราก็จะเน้นเฉพาะสำหรับบุคคลก่อน เราไม่ได้รับทำประกันรถยนต์ทุกประเภท อย่างรถบรรทุก รถหรูซุปเปอร์คาร์ เราก็ไม่ทำ เป็นต้น เนื่องจากบริษัทอินชัวร์เวิร์สเราจะโฟกัสในการเปิดผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Personal lines หรือ กลุ่มสินค้าประกันภัยสำหรับบุคคลเท่านั้น โดยเราตั้งเป้าจะรอนผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ต่อจากรถยนต์ในทุกๆ เดือนจนถึงสิ้นปีนี้คาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์ครบทุกประเภทที่เราได้วางไว้ครบทุกตัวอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม หลังจากการเปิดตัวอินชัวร์เวิร์สอย่างเต็มเป็นทางการ บริษัทตั้งเป้าหมายปีนี้จะมีเบี้ยประกัน 300 ล้านบาท เริ่มจากประกันรถยนต์ที่ขณะนี้เรามีอยู่ที่ 80 % ที่เหลือ 30 % และภายในปีหน้าเราจะมีลูกค้าที่มาใช้บริการกับอินชัวร์เวิร์สประมาณ 3 แสนราย และคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีนับจากนี้ จะมีเบี้ยประกันอยู่ที่ราว 6 พันล้านบาท และจะมีมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 5 % ของในกลุ่ม Personal lines หรือ กลุ่มสินค้าประกันภัยสำหรับบุคคล