"โรงไฟฟ้าถ่านหินหัวไทร" หายนะหรือพัฒนาบนวิถีชุมชน?

วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556



จากกรณีที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นหน่วยงานเดียวที่ให้รับผิดชอบการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาดกำลังการผลิตรวม 4,000 เมกะวัตต์ ตามแผนกำลัง การผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศฉบับปัจจุบัน หรือพีดีพี 2010 ซึ่งปัจจุบัน กฟผ.ยังไม่สามารถสร้างขึ้นได้แม้แต่โรงเดียว เนื่องจาก ยังอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นของชาวบ้าน

ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน นอกจากเพื่อใช้เป็นพลังงานสำรองทดแทนภายในประเทศแล้วแผนการดังกล่าวยังถูกกำหนด ขึ้นเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ร่วมด้วย เนื่อง จากในอีก 7-8 ปีข้างหน้า ไทยจะต้องเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้ากับประเทศเพื่อน-บ้านหลายประเทศ จนครอบคลุมทั้งอาเซียน ในอนาคต ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจะคำนึงถึงการ ใช้ของคนในอาเซียนอีกจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 250 ล้านคน ดังนั้น การวางแผน พีดีพีในอนาคตจะต้องพิจารณาปริมาณการใช้ดังกล่าวเพิ่มขึ้นด้วย

ปัจจุบัน กฟผ.อยู่ระหว่างการทำ ความเข้าใจกับชาวบ้านเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้า ถ่านหินโรงแรกตามกรอบที่ กพช.กำหนดไว้ทั้งสิ้น 4,000 เมกะวัตต์

สำหรับที่ อ.หัวไทร จ.นครศรี-ธรรมราช นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.กระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า..

"ล่าสุด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ได้ยื่น หนังสือมาว่าต้องการให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ถือเป็นเรื่องที่ดี และเพื่อให้ เกิดความมั่นใจว่าพื้นที่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินจริง กระทรวงจะแจ้งให้มีการลงชื่อ เพื่อให้มีหลักฐานประกอบในการทำแบบประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (อีเอไอเอ) เพราะที่ผ่านมาเสียเวลาไปกับการลงพื้นที่ เสียงบประมาณ แต่ไม่สามารถพัฒนาต่อได้"

แต่ในทางกลับกันถ้อยแถลงดังกล่าว ได้กลายเป็นสัญญาณการคุโชนขึ้นอีกครั้ง ของภาคประชาชนที่ไม่ต้องการถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงให้ได้มาซึ่งพลังงานไฟฟ้า จากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ในพื้นที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อให้เกิดการรวมตัวกันขึ้นมาของเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดลุ่มน้ำปากพนัง อีกครั้งหลังจากเฝ้าติดตามกระบวนการเคลื่อนไหว ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในพื้นที่มาโดยตลอด แม้ว่าจะพยายามตั้งคำถามไปยัง กฟผ.แต่ไม่ได้คำตอบที่เป็นชิ้นเป็นอันกลับมา แถลงการณ์อย่างเป็นทางการของ เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดลุ่มน้ำปากพนังจึงเกิดขึ้น

"สืบเนื่องจากการออกมาระบุว่ามีการร้องขอให้สร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่อำเภอหัวไทรโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเห็นว่า มีความไม่ชอบมาพากล บางอย่างเกิดขึ้น โดยเฉพาะจากงบประมาณ จำนวน 2 ล้านบาทที่ใช้ในการเดินทางไปลงนามของกำนันผู้ใหญ่บ้านบางราย ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับรู้ใน เรื่องนี้ และประชาชนไม่ได้คัดค้านเรื่องโรงไฟฟ้าแต่ที่คัดค้านคือการใช้ถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า อีกทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่นครศรีธรรมราชถึง 2 โรงมีกำลังผลิตกว่า 1,600 เมกะวัตต์ แต่ทั้งจังหวัด นครศรีธรรมราช ใช้ไฟฟ้าเพียง 320 เม-กะวัตต์ต่อวันเท่านั้น จึงเกิดคำถามว่าสร้าง โรงไฟฟ้าชนิดนี้เพื่อรองรับระบบอุตสาหกรรม หนักหรือไม่ และยืนยันว่าประชาชนในพื้นที่ หัวไทรไม่พร้อมแบกรับความเสี่ยงจากมลภาวะที่เกิดขึ้น ที่ไม่มีใครสามารถรับประกันได้ จึงเรียกร้องให้ยุติโครงการนี้ในพื้นที่ทันที และพร้อมที่จะคัดค้านอย่างต่อเนื่องรวมทั้งเพิ่มความเข้มข้นขึ้นตามลำดับ" นายครองศักดิ์ แก้วสกุล ปธ. เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดลุ่มน้ำปากพนังแถลงการณ์

นอกจากนี้ ปธ.เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดฯ ยังบอกด้วยว่าตั้งแต่ปี 2553 เครือข่ายของพวกเราซึ่งไม่ปฏิเสธโรงไฟฟ้าแต่สิ่งที่เราปฏิเสธคือการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง!!!.. และยังเสนอให้มีการใช้พลังงานทางเลือก ได้เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวและเฝ้าระวังมาโดยตลอด ประชาชนในพื้นที่ได้รับข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเพียงด้านเดียว ผ่านวิธีประชาสัมพันธ์ แจก สิ่งของแอบแฝงเข้ามาในเวทีทำแผนของหมู่บ้านเก็บรายชื่อชาวบ้าน จนเทศบาลตำบลเกาะเพชรต้องเปิดเวทีเชิญให้ กฟผ. นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ นักวิชาการในมหาวิทยาลัยมาให้ข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อให้ความรู้ประชาชน แต่กลับเป็นว่า กฟผ.ไม่ยอมส่งคนมา มีเพียงหนังสือแจ้งว่า กฟผ.ไม่มีแผนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในเขตหัวไทร แล้วที่เคลื่อนไหวกันอยู่คืออะไรไม่ใช่มาหลอกต้มกันหรือ

แต่แนวทางการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ของเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดลุ่มน้ำปากพนัง กลับสวนทางกับ "ไพโรจน์ เอียดแก้ว" กำนันตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร ในฐานะประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านหัวไทร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกหมายตาว่าจะเป็น พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ได้สนับสนุนการก่อสร้างอย่างเต็มที่

"ผมคิดว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของฝ่ายปกครองคือหมายถึงกำนันผู้ใหญ่บ้าน แพทย์และผู้ช่วย สนับสนุนให้มีการสร้าง เห็นด้วยกับการก่อสร้างในพื้นที่ การไฟฟ้า ฝ่ายผลิตได้พาพวกผมไปดูงานหลายแห่งแล้วเห็นว่ามีความน่าเชื่อถือ และหลายวัน ก่อนพวกผม 38 คนเดินทางไปลงนามบันทึกความร่วมมือกันที่กระทรวงพลังงาน ถึงการสนับสนุนให้สร้าง แต่ในพื้นที่ยอมรับ ว่ามีคนค้าน คนในพื้นที่ก็มีแต่คนนอกพื้นที่ เช่น ท่าศาลา หรือจะนะมาปลุกปั่นชาว-บ้านก็มาก แต่คนค้านยังเป็นส่วนน้อย" ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านหัวไทรแจง

ส่วนคนของ กฟผ.กลับอธิบายอีกทางหนึ่งว่าถ้าดูความคืบหน้าแล้วมั่นใจว่า จะเป็นกระบี่มากกว่านครศรีธรรมราช การ ทำงานขณะนี้ชุดในพื้นที่อาจเป็นชุดเดิม แต่ ฝ่ายควบคุมนั้นสับเปลี่ยนกันไปโดยใช้ฝ่าย ชุมชนสัมพันธ์ ลงพื้นที่ควบคุมกันเป็นหลัก

"ต้องพยายามขึ้นให้ได้ 1 แห่งก่อนตรงนี้เข้าใจว่าน่าจะกระบี่มากกว่า ที่รัฐมนตรี พูดนั้นเป็นนโยบายแต่คนทำคือ กฟผ. ถ้ามาไล่ดูเรียงตามจังหวัดแล้วคือ กระบี่ ประจวบ ตรัง และนครศรีธรรมราช 2 แห่ง คือหัวไทร ท่าศาลา น้ำหนักคงอยู่ที่หัวไทร ถ้าถามผมแห่งแรก ผมคิดว่าน่าจะเป็นกระบี่ นะไม่ใช่หัวไทร" นายไพโรจน์อธิบาย

แน่นอนว่าหากถามคน กฟผ.ในพื้นที่ นครศรีธรรมราช คงอธิบายเพียงแค่ว่าขั้นตอนมี 7 ขั้นที่จะต้องดำเนินการ เวลา นี้ยังอยู่ในขั้นตอนแรกคือทำความเข้าใจ ให้ความรู้เป็นขั้นตอนบนแผ่นกระดาษ ส่วนของจริงเกมที่กำลังเดินอยู่ใต้ดินคงเหลือเพียงแค่ปักเสาเข็มก่อสร้างอย่าง เต็มรูปแบบเท่านั้น

อนึ่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทยต้องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาค ใต้ 9 โรง เฉลี่ยกำลังการผลิตไฟฟ้าโรงละ 700 เมกะวัตต์ หรือบางจังหวัด เช่น จังหวัด กระบี่ 800 เมกะวัตต์ เป็นการสร้างโรง ไฟฟ้าเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก ตามที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาภาคใต้ของรัฐบาล

ส่วนล้อมกรอบ

+ ในการโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องมีอีกหลายอย่างที่ต้องพิจารณาดังนี้ :
1.ท่าเรือขนส่งถ่านหิน 2.โรงไฟฟ้าซึ่งใช้ความร้อนประมาณ 1,050-1,100 องศาเซลเซียส อุณหภูมิภายในห้องเผาไหม้ 3.ลานกองถ่านหิน ปริมาณสำรองประมาณ 45 วัน ประมาณ 300,000 ตัน ใช้เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ 4.น้ำหล่อเย็น ระบบสูบและทิ้งน้ำหล่อเย็นในทะเล 5.สารเคมีที่ใช้ในระบบเสริมการผลิตหรือระบบสาธารณูปโภคของโครงการ 6.ระบบบำบัดน้ำเสียจากโรงไฟฟ้า กิจกรรมของคนงาน และการใช้น้ำดักหรือกำจัดฝุ่น สารอันตราย 7.แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งต้องมีการรอนสิทธิในที่ดิน ที่เป็นเส้นทางสายส่งไฟฟ้า

+ โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดมีจริงหรือ :
การผลิตไฟฟ้าต้องใช้ถ่านหินบิทูมินัส นำเข้าจากอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย มีองค์ประกอบของสารซัลเฟอร์ ร้อยละ 0.1-1 แต่มีสารหนู 0.73-0.85 แคดเมียมต่ำกว่า 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปรอทต่ำกว่า 0.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วต่ำกว่า 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ มีโครเมียม ซีรีเนียม องค์ประกอบแบบนี้ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยบอกว่า มีโรงไฟฟ้า ถ่านหินสะอาด แต่ก็ยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแน่นอน โรงไฟฟ้าจะใช้ถ่านหินมีกำลังผลิตไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ ต้องใช้ถ่าน 1.968,600 ตันต่อปี ถ้าผลิต ไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ ต้องใช้ถ่านหินเพิ่มมากขึ้น

+ ผลกระทบต่อสุขภาพ :
การมีโรงไฟฟ้าถ่านหินจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ ปอด หอบหืด ปอดบวม เกิดพังผืดในปอด มะเร็งจากสารอินทรีย์ระเหย โรคจากโลหะหนัก จะทำให้ระบบการหมุนเวียนเลือดล้มเหลว ทำลายตับ ไตวายเฉียบพลัน เลือดออกมากผิดปกติ ทำให้กระบวนการเมทาบอลิซึมบกพร่อง เป็นพิษต่อตับ ไต ท่อปัสสาวะ กระเพาะ ลำไส้ ม้าม ไขกระดูก หัวใจ ระบบประสาท ส่วนกลาง


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ