โครงการเพื่อสังคม “จัดการวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขยะไม่ติดเชื้อ” สู่วัสดุรีไซเคิล เพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน

วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

โครงการเพื่อสังคม “จัดการวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขยะไม่ติดเชื้อ” สู่วัสดุรีไซเคิล เพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน


กรุงเทพมหานคร จับมือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-มูลนิธิคุณ และ สมาคมอาเซียนไวนิล เคาน์ซิล จัดโครงการเพื่อสังคม ขยายผลและต่อยอด การจัดการวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ “ขยะไม่ติดเชื้อ” หลังใช้งาน เพื่อลดมลพิษ ลดโลกร้อน สร้างมูลค่าเพิ่มสู่วัสดุรีไซเคิล เพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2566 กรุงเทพมหานคร โดย รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช  รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ศ.ดร.ปราโมช รังสรรค์วิจิตร คณบดี วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณไพศาล หล่อพงศ์ไพบูลย์ ผู้จัดการสมาคมอาเซียนไวนิล เคาน์ซิล และ คุณปรางค์ทิพย์ อนันตวิภาต ประธานมูลนิธิคุณ และ ก้อง- คุณสหรัถ สังคปรีชา ร่วมกันจัดโครงการขยายผลและต่อยอดการจัดการวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตจาก พีวีซี หลังการใช้งาน เพื่อจัดการขยะไม่ติดเชื้อสู่การเป็นวัสดุรีไซเคิลอีกครั้ง ภายใต้แนวคิด “ลดมลพิษ ลดโลกร้อน สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อความยั่งยืน” โดยมี พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง  ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร  นพ.สุรชัย ภูพิพัฒน์ผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ คุณอานันท์ อาชวกุลเทพ ประธานบริษัท MPI คุณชนัมภ์ ชวนิชย์ ประธานบริษัทรีไซเคิลเดย์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข) มาร่วมเป็นเกียรติเปิดตัวโครงการ และพร้อมให้การสนับสนุนโครงการอย่างเต็มที่ ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

ศ. ดร. ปราโมช รังสรรค์วิจิตร คณบดี วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการระดมความคิดของผู้เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการ ได้แสดงให้เห็นถึงข้อกังวลในหลายประเด็น ที่เชื่อมโยงไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมของการกำจัดขยะผลิตภัณฑ์พีวีซีในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ซึ่งขยะจากโรงพยาบาล ถือเป็นขยะที่มีความแตกต่างไปจากขยะทั่วไปจากชุมชนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามสภาพสังคม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วย และ โรคอุบัติใหม่เพิ่มมากขึ้น จนทำให้มีผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องมากขึ้น “การบริหารจัดการขยะในโรงพยาบาลถือเป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะการกำจัดที่ไม่ถูกหลักมาตรฐานสาธารณสุข ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดอันตราย และส่งผลกระทบร้านแรงต่อสุขภาพวะของผู้คน และระบบนิเวศ”

เช่นเดียวกับ ผศ. ดร.มานิตย์ นิธิธนากุล วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการฯ ยังอธิบายถึงวัตถุประสงค์ของโครงการด้วยว่า เพื่อต้องการลดปริมาณขยะจากวัสดุ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ถูกจัดการโดยการเผา ไปพร้อมกับ การช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะประเภทดังกล่าว "ปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดโครงการนี้ มาจากแนวคิดที่ว่า วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตจากพีวีซี เมื่อใช้งานแล้วจะถูกทิ้งเป็นขยะติดเชื้อทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่มีบางส่วนเป็นขยะไม่ติดเชื้อ เนื่องจากไม่ได้สัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือปนเปื้อนเชื้อโรค จึงควรนำส่วนที่ไม่ปนเปื้อนมารีไซเคิล  ด้วยเหตุนี้ จึงมีแนวคิดในการนำวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตจากพีวีซีส่วนที่ไม่ติดเชื้อมารีไซเคิล และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยกระบวนการ และแนวคิดการเพิ่มมูลค่าของเหลือใช้ด้วยกระบวนการรีไซเคิล เช่น นำมาผลิตเป็นม่านกั้นห้องผู้ป่วย ถุงห่อศพ เสื้อกันฝน หรือ ผ้ากันเปื้อน ทำให้ลดปริมาณขยะลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

ปรางค์ทิพย์ อนันตวิภาต ประธานมูลนิธิคุณ กล่าวด้วยว่า โครงการดังกล่าว ถือเป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ ไปจนถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำ ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญ ที่จะก่อให้เกิดการตระหนักรู้ในเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน “ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตพีวีซี ผู้รวบรวม ตลอดจน มูลนิธิคุณ ซึ่งช่วยในการทำประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนทั่วไป ถือเป็นความร่วมมือที่จะทำให้ผลสำเร็จในระยะยาว ในเวลาเดียวกัน หากขยายเครือข่ายได้มากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ผลสำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นเช่นกัน”

ด้านก้อง-สหรัถ สังคปรีชา ศิลปิน และนักร้องชื่อดัง ในฐานะผู้นำกิจกรรมรักษ์โลก ที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิคุณ กล่าวเสริมด้วยว่า อยากให้หน่วยงานรัฐ และ เอกชน มีความตั้งใจจริงกับการจัดการปัญหาขยะอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการวางแผยงานที่จริงจัง “เพราะวันนี้ ขยะไม่ใช่เรื่องขยะอีกต่อไป และในฐานะที่ผมเป็นศิลปิน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสื่อมวลชนด้วยดี ผมพร้อมที่จะเป็นตัวแทนของทุกคนในการร่วมรณรงค์ให้โลกของเราน่าอยู่มากขึ้น ไม่ว่าจะผ่านเสียงเพลง หรือการเสวนาที่ผมพร้อมจะทำให้กับมูลนิธิคุณตลอดไป"

นอกจากนี้ ก้อง-สหรัถ ยังกล่าวถึงการจัดกิจกรรม Road Show 4 ภาค ด้วยว่า ล่าสุดทางมูลนิธิคุณ ได้เดินทางไปยังหาดบ้านกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อสอนเด็ก ๆ ให้รู้จักการแยกขยะ อย่างถูกต้อง “กิจกรรมที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นความต่อเนื่องที่จัดขึ้นเป็นภาคที่ 3 ของปีนี้ โดยภายในงาน มีการเสวนา การทำกิจกรรม CSR ด้วยการเก็บขยะตามชายหาด พร้อมกับการรณรงค์ไม่ให้มีการทิ้งขยะบนชายหาด ซึ่งร่วมกับหน่วยงานของเทศบาลบ้านกรูด และตัวแทนครูจากโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ ก่อนจะปิดท้ายด้วยการแสดงดนตรีริมหาด จากวงนูโว และผมเชื่อว่า กินกรรมที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากจะทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความรักและใส่ใจ รวมถึงเกิดความร่วมมือกันของประชาชนในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเชื่อมั่นว่า จะเป็นพลังสำคัญในการสร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมต่อไป”

อย่างไรก็ดี มูลนิธิคุณ และวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Ppc) ถือเป็นกลุ่มพันธมิตรที่ร่วมรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการจัดเสวนาแนวทาง zero waste ให้กับบุคลากรของจุฬาฯ รวมถึงจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่เด็กและผู้ปกครองในการแยกขยะอย่างถูกต้อง  ผ่านกิจกรรมวันเด็กเมื่อเดือนมกราคม 2566 ผ่านมา โดยการแสดงละครหุ่น “Puppet Show” เรื่อง "วาฬน้อยท้องผูก" ที่มีปลาวาฬดูดู (DoDo) เป็นตัวละครหลัก และมีเพื่อน ๆ หุ่นละคร อีกหลายตัว เช่น หมาจร (KhunKhun) ลุงนกฮูก (Boppa) มาร่วมสร้างความสนุกสนาน ตลอดจน ยังได้จัดทำวิดีโอ Clip สอนเด็ก ๆ ในตอนต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้ด้วย และที่สำคัญยังมีนักแสดง และ ศิลปินมาร่วมให้ความรู้บนเวทีเสวนาด้านสิ่งแวดล้อมในวันงานด้วย อาทิ ก้อง-สหรัถ และ ภูวินทร์ ตั้งศักดิ์ยืน ซึ่งเรียกเสียงปรบมือ จากเด็กๆ ได้อย่างกึกก้องทุกครั้งที่มีการจัดกิจกรรม

 

 

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ