1 ก.ย. ระเบิดเวลา "ยิ่งลักษณ์" นับถอยหลังขึ้นราคาแอลพีจี

วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

1 ก.ย. ระเบิดเวลา


รายงานพิเศษ
นับถอยหลังไม่ถึง 10 วันจะได้ฤกษ์ดีเดย์ปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม หรือ "แอลพีจี" ในวันที่ 1 กันยายน 2556 โดยกระทรวงพลังงานได้เตรียมแผนช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย ร้านค้าหาบแร่ แผงลอย ไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะมีการปรับขึ้นเดือนละ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อขยับขึ้นไปอยู่ที่ 24.82 บาทต่อกิโลกรัม
เช่นเดียวกับก๊าซแอลพีจีภาคขนส่งก็จะมีการปรับขึ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่จะต้องปรับราคาเดือนละ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม และราคาสุดท้ายจะไปยืนอยู่ระดับราคา 24.82 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือนสิงหาคม 2557 เช่นเดียวกับภาคครัวเรือน
อย่างไรก็ตาม ได้มีการเคลื่อนไหวคัดค้านการปรับโครงสร้างราคาพลังงานครั้งนี้แล้ว โดยเครือข่ายประชาชนเจ้าของพลังงานไทย นำโดยนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านนายสมภาส นิลพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้หยุดการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ปรับขึ้นเดือนละ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เป็นต้นไป จนกว่าจะสะท้อนราคาที่แท้จริงที่ 24.82 บาทต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ เครือข่ายฯจะติดตามผลหลังจากยื่นหนังสือภายใน 7 วัน หากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องในวันที่ 23 สิงหาคม 2556 เวลา 15.00 น. จะไปรวมตัวกันที่หน้าสำนักงานใหญ่ ปตท. ถนนวิภาวดีรังสิตเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงเพราะปัจจุบันรัฐบาลได้นำเงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันไปเพิ่มกำไรให้ ปตท. และโรงกลั่น โดยอ้างอิงราคาตลาดโลก ทั้งที่ก๊าซแอลพีจีผลิตในไทยเกือบทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปกิจการพลังงานของประเทศโดยด่วนด้วยการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบต้นทุนราคาก๊าซแอลพีจีของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ยกเลิกการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากประชาชนเพราะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป พร้อมทั้งให้ธุรกิจปิโตรเคมีจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันในอัตราเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นคือ 12.55 บาทต่อกิโลกรัม และขอให้ยกเลิกระบบสัมปทานการขุดเจาะก๊าซและน้ำมันที่โปร่งใสตรวจสอบได้
แต่ทางด้าน "ซีออยล์" กลับเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ โดยนายอภิสิทธิ์ รุจิเกียรติกำจร ประธานกรรมการบริษัท ซีออยล์ มองแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกว่า โอกาสที่ราคาจะลดต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็นไปได้ยาก เพราะต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาระยะสั้น กลาง คงอยู่ระดับ 100-110 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพราะราคายังขึ้นอยู่กับผู้ใช้รายใหญ่ อย่างสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ที่ไม่ต้องการเห็นราคาพุ่งสูงมาก มากระทบกับเศรษฐกิจ
ส่วนการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มตนเห็นด้วยกับรัฐบาลที่ทยอยปรับราคาแอลพีจี ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้ เพราะที่ผ่านมาเกิดการบิดเบือน นำเงินจากผู้ใช้น้ำมันไปอุดหนุนแอลพีจี ผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
ส่วนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เตรียมชงแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการ LPG เพื่อความยั่งยืนเสนอนายกรัฐมนตรี โดยนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า คลัสเตอร์ปิโตรเคมี ส.อ.ท.เตรียมเสนอยุทธศาสตร์การบริหารจัดการก๊าซแอลพีจี เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศไทย ให้แก่นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณากำหนดเป็นมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ก๊าซแอลพีจีอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นคงในการจัดหาก๊าซ LPG ของประเทศอย่างยั่งยืน เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 พร้อมช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการ SMEs อย่างเหมาะสม
สำหรับข้อเสนอแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการแอลพีจีของสภาอุตสาหกรรมฯ มีเจตนาที่ต้องการเห็นภาครัฐมีนโยบายเชิงบูรณาการในการสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งในด้านของนโยบายเชิงปฏิบัติการ และนโยบายด้านโครงสร้างราคา โดยมีข้อเสนอนโยบายเชิงปฏิบัติการ ดังนี้
1.บูรณาการปรับปรุงระบบขนส่ง ลอจิสติกส์ของประเทศด้วยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2.กำหนดผังเมือง ที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม อาคารพาณิชย์ ศูนย์ธุรกิจ
3.ส่งเสริมและผลักดันการดำเนินการตามนโยบายการอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการกำหนดมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงาน (Building Code) รวมถึง บ้านเรือนและโรงงานตลอดจนวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ไฟฟ้า (เบอร์ 5) รวมถึงการส่งเสริม การใช้รถยนต์ประหยัดพลังงาน (Eco car/Flex-Fuel car) และการศึกษาการใช้วัตถุดิบในอุตสาหกรรมเซรามิก แก้วและกระจก ที่ประหยัดพลังงาน
4.สนับสนุนเงินลงทุน สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Soft Loan และมาตรการจูงใจทางด้านภาษี ให้เกิดการปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
5.ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอื่นแทนการใช้แอลพีจีเพื่อช่วยเหลือ SMEs อาทิ มีการศึกษาและวิจัยเชื้อเพลิงเผาไหม้ประเภทอื่นที่มีประสิทธิภาพ และต้นทุนต่ำ เพื่อทดแทนการใช้แอลพีจี เช่น ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) พลังงานชีวมวล (Biomass) ก๊าซธรรมชาติ (NGV) เพื่อรองรับการใช้พลังงานของผู้ประกอบการ SMEs ภายในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมเซรามิก แก้วและกระจก ฯลฯ
และ 6.เสนอให้แก้ไขกฎระเบียบ เรื่องการครอบครองแอลพีจี เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเซรามิก SMEs ภายในประเทศ
ส่วนข้อเสนอนโยบายด้านโครงสร้างราคา ได้แก่
1.ให้ใช้กลไกราคาตลาดเป็นตัวกำหนดราคาพลังงาน เพื่อให้ประชาชนตระหนักคุณค่าที่แท้จริง และเกิดการประหยัด ด้วยการลดบทบาทกองทุนฯ ในการ Cross subsidy เชื้อเพลิงบางประเภท, ทยอยปรับราคาขายให้สะท้อนราคาตลาดโลกและต้นทุนที่แท้จริง, การตรึงราคาชั่วคราวอาจดำเนินการได้ โดยใชงบประมาณส่วนกลาง ภายใต้กรอบระยะเวลาที่ชัดเจน และไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงประเภทอื่น, ยกเลิกการเก็บภาษีหรือเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ จากการใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นวัตถุดิบในการผลิตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีตามหลักสากล
2.เสนอให้มีการปรับนโยบายภาษีสรรพสามิตของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดให้เหมาะสมและเป็นธรรมตามประสิทธิภาพค่าความร้อนของเชื้อเพลิง และตามหลักสากล
3.เสนอให้เปลี่ยนการอุดหนุนราคา (Product subsidy/ Universal subsidy) เป็นการช่วยเหลือผู้ใช้ที่มีรายได้น้อยโดยตรง (Demand subsidy/Direct subsidy) ภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจน โดยการกำหนดเกณฑ์ในการจัดกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และหรือผู้ประกอบการ SMEs ที่สมควรได้รับการอุดหนุนราคา LPG อย่างเหมาะสม และเข้าถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เช่น ประเทศอินเดียอุดหนุนราคาพลังงานให้กับกลุ่มเกษตรกรโดยตรง
ส.อ.ท.เชื่อว่า หากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนและร่วมผลักดันแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแอลพีจีข้างต้นให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้วนั้น จะสามารถ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ประเทศไทยในอนาคตมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่แนวทางการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ