Net Zero คืออะไร? สำคัญอย่างไร? ประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น “ศูนย์” ให้ได้ภายในปี 2065? นวัตกรรมอะไรที่ประเทศไทยและประเทศต่างๆ กำลังใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก? หากเรายังไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี ค.ศ. 2050 หรืออีก 27 ปีข้างหน้า น้ำอาจท่วมกรุงเทพฯ จริงหรือไม่?
ระหว่างวันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2566 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ระดับนานาชาติ FIDIC Asia Pacific Conference 2023 หัวข้อ "Engineering towards Net Zero" จัดโดย สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย (วปท.) งานนี้ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ตัวแทนภาครัฐ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อม และสมาชิกของ FIDIC ASIA PACIFIC หรือสหพันธ์วิศวกรที่ปรึกษานานาชาติ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กว่า 20 ประเทศ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ฯลฯ
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะตัวแทนภาครัฐของไทย ให้สัมภาษณ์ว่า "เรื่อง Engineering towards Net Zero มีสำคัญมาก เพราะกำลังจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของทั่วโลก ให้กลายเป็นเศรษฐกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ต่ำ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐกำลังหาแนวทางร่วมกับสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ปัจจุบันนี้ประเทศไทยติดอันดับ 9 ของโลกที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องภาวะโลกร้อน ดังนั้นเป้าระยะสั้นในปี 2030 ประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30-40% ภาครัฐจะสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน ส่งเสริมการขนส่งสาธารณะระบบราง ภาคเกษตรเปลี่ยนเป็นแบบใช้น้ำน้อย ปัจจุบันนี้ภาควิศวกรรม นอกจากมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ Net Zero ด้วยระบบที่เรียกว่า Climate Technology หรือเทคโนโลยีที่ควบคุมหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก งานสัมมนาครั้งนี้ น่าจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการปฏิบัติอย่างแท้จริง ภาครัฐจะสนับสนุนเรื่อง Climate Technology, การได้รับสิทธิพิเศษเรื่อง B.O.I และ ภาษีต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น”
ด้าน ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า “สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรที่ไม่ให้คำว่า Net Zero เป็นแค่สโลแกน กทม. นอกจากใส่ใจเรื่องปัญหาน้ำท่วม ฝุ่น PM 2.5 แล้ว ก็ยังมีนโยบายการลดปริมาณการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รณรงค์ให้เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED ที่คุณภาพดีและประหยัดไฟ ลดการใช้พลังงานในอาคาร ลดการใช้รถยนต์ ลดการสร้างขยะ รู้จักแยกขยะ เพราะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมล้วนมาจากการใช้พลังงานที่มีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น กทม.จึงตั้งเป้าระยะสั้นว่า จะต้องลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปี”
ด้าน นายชวลิต จันทรรัตน์ นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ก๊าซเรือนกระจก คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์ ที่มักเรียกรวมๆ กันในชื่อ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การทำกิจกรรมต่างๆ บนโลกนี้ ล้วนแต่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาทั้งนั้น ซึ่งเมื่อปล่อยแล้วจะคงอยู่ในบรรยากาศ เป็นเวลา 200 – 450 ปี จากการวิเคราะห์ของสหประชาชาติ หากเรายังไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี ค.ศ. 2050 หรืออีก 27 ปีข้างหน้า ระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยจะสูงขึ้น 70 เซนติเมตร มีความเสี่ยงที่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ
ความท้าทายของการเปลี่ยนประเทศไทยให้กลายเป็น Net Zero คือการเปลี่ยนแนวความคิดของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับแวดวงธุรกิจก่อสร้าง ตั้งแต่ ดีไซน์เนอร์ วิศวกร สถาปนิก ผู้ประกอบการ นักลงทุน ผู้บริโภค ให้ตระหนักรู้ถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง ตอนนี้ทางสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย มีการทำงานร่วมกับอีก 3 สมาคม ได้แก่ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งดูแลมาตรฐานการก่อสร้าง เช่น อาคารที่เป็น Green Building สมาคมสถาปนิกสยาม และสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (TCA) ช่วยกันผลักดันแนวคิด Net Zero ลดใช้พลังงาน ต้นทุนการผลิตอาจสูงขึ้น 10% แต่เป็นต้นทุนที่ช่วยลดการใช้พลังงานยาวไปถึง 30 ปี ข้างหน้า”
ขณะที่ นายนิวัฒน์ ธัญปิตินันทน์ ประธานการจัดงาน FIDIC Asia Pacific Conference 2023 กล่าวว่า “Net Zero เป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญอย่างมาก ต้องสร้างความตื่นตัวให้กับเจ้าของโครงการ หรือ ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ หันมาใส่ใจเกี่ยวกับการรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งเสริมระบบก่อสร้างที่เรียกว่า PREFAB (พรีแฟบ) หรือการก่อสร้างบ้านหรืออาคารโดยผลิตชิ้นส่วนแต่ละชิ้นให้สำเร็จก่อนจะนำมาประกอบกันที่หน้างาน ซึ่งมีส่วนช่วยควบคุมปริมาณฝุ่นที่เกิดจากการผลิตมากกว่าการก่อสร้างแบบก่ออิฐฉาบปูน และก็มีความแข็งแรงคงทนที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วกว่า 20 ปี เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้”
ภายในงานดังกล่าว มีการจัดสัมมนา 5 หมวด ได้แก่ 1. กลุ่มอาคาร เกี่ยวกับอาคารที่ใช้คาร์บอนต่ำ 2. กลุ่มพลังงาน 3. กลุ่ม Transportation และ Logistics การขนส่งคาร์บอนต่ำ 4. กลุ่มการพัฒนาเมืองและการพัฒนาชนบท ด้านผังเมือง ชุมชน 5. กลุ่มสาธารณสุขและน้ำประปา และหมวดพิเศษ FFL กลุ่มวิศวกรรุ่นใหม่หัวใจสีเขียว (FIDIC Future Leaders)
หัวข้อการสัมมนามีความหลากหลายและน่าสนใจ อาทิ นวัตกรรมเพื่ออาคารสีเขียวสู่ Net Zero โดย บริษัท SCG ประเทศไทย , การบำบัดน้ำเสียหนทางสู่ Net Zero โดยบริษัท ธรรมสรณ์ จัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม จำกัด ประเทศไทย, EV คือตัวช่วยให้ไทยสู่ Net Zero จริงหรือไม่ โดย บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ประเทศไทย รวมไปถึงหัวข้อจากประเทศอื่นๆ เช่น การถอดบทเรียนของเมืองซูวอน เกาหลีใต้ ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นกลางได้สำเร็จจากความร่วมมือของชุมชน อาคาร Net Zero ในมาเลเซีย เวียดนามกับแนวทางลดคาร์บอนในอาคาร อินโดนีเซียกับการสร้างอาคารที่ไม่ก่อให้เกิดขยะ อินเดียกับพลังงานน้ำ ฟิลิปปินส์กับเรื่องพลังงานทดแทน เทคโนโลยีในแบบของชนพื้นเมืองศรีลังกา การจัดการ Net Zero แบบเนปาล มาตรฐานเรื่อง Net Zero ในสิงคโปร์ เป็นต้น