ถอดรหัส {apos}แลนด์บริดจ์{apos} ใครได้..? ใครเสีย..?

วันพุธที่ 06 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ถอดรหัส {apos}แลนด์บริดจ์{apos} ใครได้..? ใครเสีย..?


โครงการสร้างท่อส่งน้ำมันฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย หรือ "แลนด์บริดจ์" ที่จะก่อสร้างในพื้นที่ภาคใต้เป็นอีกหนึ่งในหลายเมกะโปรเจกต์ที่คนในพื้นที่ภาคใต้แสดงพลังคัดค้าน "ไม่เอา" ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ "ล้าหลัง" ในด้านความมั่นคงทางด้านพลังงาน โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาคเทียบชั้นประเทศสิงคโปร์
"แลนด์บริดจ์" ได้ผ่านการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เป็นที่เรียบร้อย โดยได้เลือก 2 เส้นทางคือ เส้นทางกระบี่-ขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และเส้นทางปากบาราจังหวัดสตูล-สงขลา โดยการลงทุนจะมีการสร้างท่อน้ำมันขนาด 46 นิ้ว และ 52 นิ้ว พร้อมคลังน้ำมันทั้งด้านอันดามันและอ่าวไทย วงเงินลงทุน 6 พันล้านบาท โดยจะเชิญชวนเอกชนจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และตะวันออกกลางเข้ามาร่วมทุน เพราะโครงการดังกล่าวเป็นการสำรองน้ำมันสร้างความมั่นคงของทั้งไทย-จีน และญี่ปุ่น
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้หยิบยกโครงการแลนด์บริดจ์เป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะต้องเร่งดำเนินการ เพราะในระยะ 7 ปีจากนี้ไปช่องแคบสิงคโปร์จะมีปริมาณเรือขนส่งน้ำมันแออัดมากจนส่งผลระทบต่อการขนส่งไม่เพียงพอกับความต้องการ แต่ถ้าจะเปลี่ยนเส้นทางขนส่งไปผ่านแถวประเทศออสเตรเลียก็จะทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูง ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องเตรียมความพร้อมในการก่อสร้างแลนด์บริดจ์ให้แล้วเสร็จในช่วงเวลา 7 ปีนับจากนี้
"แลนด์บริดจ์ต้องตัดสินใจให้ได้ภายใน 1-2 ปีนี้ เพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ อีก 2-3 ปี ก่อนที่จะลงมือก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 7 ปี" ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าว
การก่อสร้างแลนด์บริดจ์แห่งนี้นอกจากจะได้ประโยชน์จากการเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันทางท่อแห่งใหม่ของโลกแล้ว ประเทศไทยังมีน้ำมันสำรองทางอ้อมอีกวิธีหนึ่งด้วย
หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นตามยุทธศาสตร์เพิ่มความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ กระทรวงพลังงานจึงได้แจ้งไปยังผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ให้ต้องเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากปกติ 5% ของปริมาณการจำหน่ายเป็น 6% หรือเทียบเท่ากับผู้ค้าน้ำมันจะต้องเพิ่มปริมาณการสำรองจาก 36 วันเป็น 43 วัน ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556
ทั้งนี้ แผนรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินด้วยการเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมัน 43 วัน ยังต่ำกว่ามาตรฐานโลกที่กำหนดไว้ 90 วัน
"แลนด์บริดจ์จะมีการก่อสร้างคลังสำรองน้ำมันของสองชายฝั่งทะเล ก็เท่ากับว่าเป็นการสำรองอีกวิธีหนึ่งทางอ้อมให้กับประเทศไทย ซึ่งตอนนี้เรามีความต้องการใช้น้ำมันทุกประเภทวันละ 80 ล้านลิตร" นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว
อย่างไรก็ตาม แผนการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ได้ถูกคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่คล้ายๆ กับโครงการโรงไฟฟ้าที่จังหวัดกระบี่ และท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล
โดยชาวบ้านเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล และ จ.สงขลา ร่วมกันนำทรายจากหาดทรายของ 3 จังหวัด คือ สตูล สงขลา และนครศรีธรรมราช มาเทรวมกันที่บริเวณชายหาดบ้านสวนกล ต.นาทับ อ.จะนะ เพื่อร่วมประกาศพันธสัญญาทรายในการเดินหน้าคัดค้านโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ทั้งโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา, ท่าเรือน้ำลึกสวนกง และแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล โดยมีภาคประชาชนจาก 3 จังหวัด ทั้งสงขลา สตูล และนครศรีธรรมราช รวมถึงนักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชน เข้าร่วมอย่างคับคั่ง ถือเป็นการสิ้นสุดกิจกรรม "เดินด้วยรัก ปกป้องปากบารา-จะนะ" ที่มีการเดินเท้าจาก จ.สตูล มายัง อ.จะนะ
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกสตูล ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 และแลนด์บริดจ์ โดยประกาศพันธสัญญาทราย พร้อมเททรายรวมกันเป็นพันธสัญญาว่า อย่ายอมจำนนต่อความอยุติธรรมของโครงการสะพานเศรษฐกิจสตูล สงขลา และทุกสิ่งอื่นใดที่กำลังคุกคามอย่างรวดเร็ว ซึ่งการหลอมรวมเม็ดทรายทุกเม็ดเข้าด้วยกันเป็นสัญลักษณ์แทนข้อเรียกร้อง
ทางด้านพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ โพตส์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงแนวทาง โครงการ Land Bridge ฝั่งตะวันตก (อันดามัน) มาตะวันออก (อ่าวไทย) ในหัวข้อเรื่องว่า "Turn My Exile to Learning Period (3)" โดยใจความในเฟซบุ๊กตอนหนึ่งระบุถึงโครงการแลนด์บริดจ์ว่า "ทำไมความพยายามสร้างคอคอดกระหรือแม้กระทั่งไม่ขุดเป็นคลองแต่ทำเป็นเหมือนสะพานบกเชื่อม 2 ฝั่ง (Land Bridge) ตะวันตก (อันดามัน) มาตะวันออก (อ่าวไทย) จึงไม่เกิดซักที เพราะถ้าเกิด ท่าเรือทั้งสิงคโปร์และมาเลเซียแห้งตายทั้งคู่ เพราะสินค้าที่เป็นสินค้าผ่าน (Transhipment) จะไม่ไปทางใต้แน่ รวมทั้งน้ำมันเพราะประหยัดการเดินทางอย่างน้อย 8 วัน"
"ประเทศไทยของเราอยู่มาอย่างไม่ค่อยจะมียุทธศาสตร์ เราแก้ปัญหาวันต่อวัน เราไม่ค่อยคิดอะไรเป็น Long Term เพราะการเมืองเราไม่พัฒนา มีการทะเลาะเบาะแว้ง รัฐบาลจะอยู่สั้น ก็เลยไม่มีข้าราชการ องค์กรรัฐ เอกชนก็ไม่เคยคิดจะทำอะไรที่เป็น Long Term อย่างมียุทธศาสตร์ สงสัยคงต้องมีหลักสูตรหมากรุกสากลในโรงเรียนเสียแล้ว เพราะจะสอนให้เด็กได้คิดวิธีเดินแบบมียุทธศาสตร์ มีสมาธิ และรู้เขา รู้เรา"
โครงการ "แลนด์บริดจ์" เกิด ใครได้...ใครเสีย น่าจะมีคำตอบอยู่ในใจกันแล้ว..!!


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ