“มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ” เยี่ยมชมโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เครือข่ายป่าชุมชน ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

วันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2566

“มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ”  เยี่ยมชมโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เครือข่ายป่าชุมชน ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่


หม่อมหลวงดิสปนัดดา ดิสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นหลักระดับโลกที่สั่นคลอนและคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในวงกว้าง เมื่อ พ.ศ. 2564 มีรายงานว่า อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ นำมาสู่วาระในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) กว่า 200 ประเทศได้ปรับแก้ไขแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ NDCs (Nationally Determined Contributions) ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส โดยนักวิทยาศาสตร์แนะนำว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องลดลง 45% จาก พ.ศ. 2563 ภายใน พ.ศ. 2573 และการปล่อยมลพิษต้องเป็นศูนย์ภายใน พ.ศ. 2593 เพื่อให้อุณหภูมิของโลกเพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งนำมาสู่การลงนามร่วมกันภายใต้ข้อตกลงในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

พร้อมกันนี้ รัฐบาลไทยได้ร่วมกำหนดเป้าหมายและขับเคลื่อนความยั่งยืนในมิติต่างๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกัน ส่วนภาคเอกชน ในฐานะผู้ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศก็ได้ผลักดันนโยบายให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนตามแนวคิด ESG และเป้าหมาย SDGs กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงการมีส่วนร่วมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่แต่ละองค์กรปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ โดยมีป่าไม้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติที่สำคัญ มีคุณประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสิ่งมีชีวิต เป็นแหล่งต้นน้ำ รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารของสัตว์ คงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวต่อว่า ดังนั้น จากประสบการณ์ “ปลูกป่า ปลูกคน” เกือบ 40 ปีในการฟื้นฟูป่าอนุรักษ์ที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ตระหนักดีว่า ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จากความจำเป็นเรื่องปากท้อง และหากบริหารจัดการทรัพยากรอย่างถูกต้องให้คนอยู่กับป่าอย่างสมดุล ป่าจะสามารถเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้ชุมชนและประเทศได้ด้วย

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงนำความเชี่ยวชาญดังกล่าวมาปรับใช้กับป่าชุมชนใน พ.ศ. 2563 ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนริเริ่ม “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ภาคป่าไม้ ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.)  โดยเชื่อว่าคาร์บอนเครดิตเป็นกลไกที่ตอบโจทย์ให้ชุมชนดูแลป่าและดูแลตัวเองได้พร้อมๆ กัน ช่วยลดการสูญเสียพื้นที่ป่า ลดอัตราการเกิดไฟป่าให้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ลดปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 จากไฟป่า รวมทั้งมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาคนว่างงาน และหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และในขณะเดียวกันก็สามารถช่วยภาคเอกชนในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจได้ด้วย

ล่าสุด เมื่อไม่นานที่ผ่านมา ทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ทำการเยี่ยมชม โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เครือข่ายป่าชุมชน ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เริ่มที่ บ้านต้นผึ้ง หมู่ที่ 7 ตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีป่าชุมชนบ้านต้นผึ้งพื้นที่ประมาณ 984 ไร่ ที่ได้รับการจัดตั้งให้เป็นป่าชุมชนโดยสมบูรณ์จากกรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่กวง ลักษณะเป็นป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้ที่พบ คือ เหียง เต็ง รัง ตึง รัก เป็นต้น สัตว์ป่าที่พบ คือ แลน บ่าง นกท้องถิ่น กระต่าย งู และไก่ป่า จากอดีตที่พื้นที่ป่าถูกชาวบ้านทั้งภายในและภายนอก แผ้วถางบุกรุกเพื่อเป็นพื้นที่ทำกิน มีการลักลอบตัดไม้ กานไม้ และเผาป่า ทำให้พื้นที่ป่าเกิดความเสื่อมโทรมร่อยหรอ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาจากการเผาและไฟป่าในพื้นที่  ทำให้เกิดวิกฤติหมอกควันปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือ ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ค่า PM 2.5 เกินมาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจการท่องเที่ยวภาคเหนืออย่างมากมาย  ภาครัฐและทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญ และมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างเข้มข้นและจริงจังเพื่อควบคุมการเผาทุกรูปแบบ

ปัจจุบันหลังจากผู้นำและราษฎรบ้านต้นผึ้งได้เข้ามาศึกษาดูงาน และรับองค์ความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งทฤษฎี สาธิต และปฏิบัติจริงในพื้นที่ รวมถึงการรับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต วัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาดำเนินการในพื้นที่อย่างจริงจัง มีการฟื้นฟู บำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทรัพยากรทางธรรมชาติของป่าชุมชนบ้านต้นผึ้งฟื้นตัว และกลับคืนความอุดมสมบูรณ์ขึ้น ผ่านกิจกรรมมากมายบนพื้นฐานของความร่วมมือร่วมใจของคนในพื้นที่และการปฏิบัติตามกฎระเบียบของป่าอย่างเคร่งครัด ตัวอย่างของกิจกรรม เช่น การปลูกป่าทดแทน การปลูกเสริมป่าตามแนวพระราชดำริ การปลูกไม้ 3 อย่างประโยชน์ 4 ประการ การสร้างฝายชะลอน้ำ การบวชป่า การสร้างเสวียนเก็บใบไม้ ลดปัญหาเชื้อเพลิง กิจกรรมการศึกษาและกักเก็บคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กิจกรรมการทำแนวกันไฟ ปลูกป่า และลาดตระเวน  ซึ่งจะช่วยป้องกันพื้นที่ป่าชุมชน และสัตว์ที่อยู่อาศัยอยู่ในป่าชุมชนให้ปลอดภัยจากไฟป่า รวมทั้งเป็นการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ป่าไม้และระบบนิเวศให้มีความสมดุลตามธรรมชาติ และยังสามารถช่วยลดปัญหาสภาวะโลกร้อนได้อีกทาง ยังได้มีการเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน โดยการเข้าไปหาของป่า  เช่น ผักหวาน และเห็ดต่าง ๆ

นอกจากนี้ ทางป่าชุมชนบ้านต้นผึ้ง ยังมีกิจกรรมโครงการคุณดูแลป่า เราดูแลคุณ ซึ่งเป็นโครงการจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทางหมู่บ้านจึงมีแนวคิดในการนำใบไม้มาเพิ่มมูลค่าด้วยการทำเป็นผลิตภัณฑ์ใบไม้ ภายใต้แบรนด์ “วิสาหกิจชุมชนป่าต้นผึ้ง” เช่น จานชามใบไม้ กระถางและกระทงใบไม้ เป็นต้น เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงในพื้นที่ เพิ่มมูลค่าให้กับใบไม้ สร้างงานสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับคนในชุมชน สร้างความตระหนักถึงคุณค่าของป่าชุมชนและพื้นที่สีเขียว ก่อให้เกิดความรักความสามัคคีของคนในชุมชน เห็นคุณค่าของบ้านหลังใหญ่ของชุมชน ที่เรียกว่าป่าชุมชนบ้านต้นผึ้ง โดยวิสาหกิจชุมชนป่าต้นผึ้งสามารถสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ใบไม้ เฉลี่ยประมาณ  100,000 -120,000 บาท ต่อปี ซึ่งมีครัวเรือนเป็นสมาชิกประมาณ 52 ครัวเรือน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนป่าต้นผึ้งจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาต่อยอดกิจกรรม โดยทำรูปแบบจานใบไม้ให้มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นและมีแนวคิดที่จะนำเศษใบไม่ในป่าชุมชน เศษใบไม้จากการตัดแต่งกิ่งลำไย เศษที่เหลือจากการทำจานใบไม้และเศษฟางข้าวที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวใบช่วงฤดูกาลผลิตของเกษตรในพื้นที่ ซึ่งมีเกษตรผู้ปลูกข้าว อยู่ประมาณ 200 ไร่ และปลูกลำไย ประมาณ 100 ไร่ มาขึ้นรูปเป็นกระถางเพาะและปลูกกล้าไม้แบบธรรมชาติทดแทนใช้ถุงพลาสติกดำเพาะกล้าไม้ โดยสามารถนำกล้าไม้ที่ได้จากการเพาะผ่านกระถางใบไม้ธรรมชาติของทางกลุ่มลงปลูกลงดินทั้งกระถางได้เลย ลดการเผาในพื้นที่ทั้งพื้นที่ทางการเกษตรและพื้นที่ป่า ลดปัญหามลพิษจากค่า PM 2.5 สร้างสิ่งแวดล้อมให้สมดุล นอกจากนี้ยังทำให้สามารถเป็นรายได้ที่มั่นคงของชุมชนต่อไป เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและชุมชนวิถีชีวิตมั่งคั่ง

จากผลสำเร็จของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของป่าชุมชนบ้านต้นผึ้งที่เป็นประจักษ์และได้รับรางวัลแห่งความภาคภูมิใจเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันได้เป็นแหล่งเรียนรู้ และศึกษาของผู้สนใจเข้ามาดูงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และ บ้านห้วยบ่อทอง หมู่ 10 ตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่แยกมาจาก บ้านป่าไผ่ หมู่ที่ 2  มีเนื้อที่ประมาณ 1,235 ไร่ โดยมีนายสวัสดิ์ ทองใจดี เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก และนายมานพ ไชยโต เป็นผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน เดิมมีสภาพเป็นเพียงหย่อมบ้านหรือชุมชนเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณรอบพื้นที่ตั้งของวัดซึ่งย้ายมาจากในหมู่บ้านป่าไผ่ ชื่อ วัดกัญจน์นิธยาราม หรือวัดป่าไผ่   จึงเรียกหมู่บ้านหรือหย่อมบ้านนี้ว่า “บ้านวัด”หรือ “บ้านหล่ายวัด”  ต่อมามีราษฎรจากหมู่บ้านป่าไผ่ย้ายมาสมทบ ประกอบกับ มีหย่อมบ้านเดิมอีก 2 หย่อมบ้าน ชื่อ บ้านห้วยเต๋ย และบ้านบวกผา ได้ขยายครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น จึงได้แยกหมู่บ้าน เมื่อปี พ.ศ.2532 และตั้งหมู่บ้านใหม่ ชื่อ บ้านห้วยบ่อทอง ประกอบไปด้วย 3 หย่อมบ้าน/ชุมชน ได้แก่ 1) หย่อมบ้านวัดหรือบ้านหล่ายวัด 2) หย่อมบ้านห้วยเต๋ยและ 3) หย่อมบ้านบวกผา  สภาพโดยรวมของหมู่บ้านตั้งอยู่บริเวณที่ราบริมทุ่งนาใกล้เชิงเขาหรือดอย ชื่อ “ดอยผาผึ้ง”ซึ่งเป็นเทือกเขาทอดยาวตามทิศตะวันออก-ตะวันตก ลักษณะทั่วไปเป็นป่าเต็งรังที่ค่อยข้างมีความสมบูรณ์

เล่ากันว่าชื่อ “บ้านห้วยบ่อทอง” เหตุเพราะมีแหล่งน้ำซับเป็นหนองน้ำที่มีน้ำห้วยไหล ลักษณะเป็นสีเหลืองหรือสีทอง ผ่านเข้าสู่หมู่บ้านตลอดปี  แต่ยังมีความมหัศจรรย์ คือ ณ บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกัน มีบ่อน้ำเล็กๆ แห่งหนึ่งที่มีน้ำสะอาดใสไหลออกมาจากเชิงเขาดอยผาผึ้งโดยไม่มีแห้งเหือด ชาวบ้านถือเป็น”บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์”  ทางผู้นำและชาวบ้านจึงได้ร่วมกันทำการขุดขยายเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ ตั้งชื่อว่า “น้ำบ่อหลวง” ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ สำหรับผลิตน้ำประปาและน้ำดื่มสะอาด  ใช้ในการอุปโภคบริโภคของพี่น้องประชาชนทั้งหมู่บ้าน

บ้านห้วยบ่อทอง เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในกลุ่มริเริ่มการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมีส่วนร่วมของตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่  ในปี 2543 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนกับกรมป่าไม้ มีพื้นที่ป่าที่ต้องรับผิดชอบ จำนวน 512 ไร่ ลักษณะเป็นป่าที่มีพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด ได้แก่ เต็ง รัง สัก ยาง เหียง ตึง ไผ่ ไม้พื้นบ้าน และป่าสมุนไพรต่าง ๆ ประกอบกับเป็นป่าใกล้บ้านที่อยู่คู่กับวิถีชุมชนมาแต่ยาวนาน จึงได้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมไปกับการใช้ประโยชน์อย่างเกื้อกูล โดยชุมชนได้ร่วมกันพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อศึกษาธรรมชาติ และพัฒนาจุดชมวิว “ยอดดอยผาผึ้ง” สำหรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และสร้างเสริมสุขภาพ สอดคล้องตามวิถีแห่งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามเป็นชุมชนที่เกิดการพัฒนาอย่างยืน โดยความร่วมมือจากเครือข่ายป่าชุมชนในพื้นที่ และหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน

อนึ่ง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งโดย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “สมเด็จย่า” ดำเนินงานเรื่องการพัฒนาศักยภาพคนและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติมากว่า 50 ปี โดยมี โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงรายซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2531 มุ่งสร้างอาชีพให้ชาวไทยภูเขา 10,000 ชีวิต และฟื้นฟูป่ากว่า 100,000 ไร่ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล เป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในประเทศและต่างประเทศ



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ