ธนาคารกรุงเทพ เดินหน้าจัดมหกรรมจำหน่ายสินค้าเกษตรส่งท้ายปี ในงาน “วันเกษตรก้าวหน้า ประจำปี 2566” คัดสรรสินค้าเกษตรไทยคุณภาพส่งออก ส่งตรงจาก 56 ร้านค้า ทั้งสินค้าเกษตรนวัตกรรม สินค้าชุมชน และสินค้าเกษตรปลอดภัยต่อสุขภาพ ให้เลือกช้อปหรือซื้อเป็นของขวัญแก่คนรัก เนื่องในโอกาสส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ คาดมีเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพ ได้จัดงานมหกรรมจำหน่ายสินค้าเกษตร “วันเกษตรก้าวหน้า ประจำปี 2566” ภายใต้แนวคิด “เทคโนโลยีนำสมัย การจัดการเหมาะสม สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งปีนี้มีเกษตรกรและผู้ผลิตเข้าร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เป็น 56 ร้านค้า แบ่งเป็นโซนสินค้า เกษตรนวัตกรรม สินค้าชุมชน และสินค้าเกษตรปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยเป็นสินค้าคุณภาพส่งออก นำมาจำหน่ายในราคาพิเศษ เช่น กล้วยไม้และไม้ประดับนานาพันธุ์,เครื่องประดับจากดอกกล้วยไม้, ผลิตภัณฑ์จากแมคคาเดเมีย, สตอร์เบอร์รี่สดและแปรรูป, ผักสลัดที่ปลูกจาก Plant Factory, ขนมปังผักเคล, ส้มสายน้ำผึ้ง, เมล่อน, น้ำผึ้งคุณภาพดี, มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองคุณภาพส่งออก, ส้มโอทับทิมสยาม, ส้มโอขาวน้ำผึ้ง, ส้มโอทองดี, ปลากะพงสองน้ำพร้อมรับประทาน, ไส้อั่วเผาเตาหลวง, ไข่ไก่คุณภาพคัดพิเศษ, เต้าหู้ผัก, ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันอะโวคาโด, ปลาส้ม, ผลิตภัณฑ์จากนมแพะ, ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์และผลไม้ รวมทั้งอาหารปรุงสุกพร้อมรับประทานอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมชมงานไม่ต่ำกว่า 2,000 คน มีเม็ดเงินสะพัดตลอดทั้งงานไม่ต่ำว่า 3 ล้านบาท
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพ ได้ดำเนินโครงการเกษตรก้าวหน้า ตั้งแต่ปี 2542 ในสมัย อดีตท่านประธานกรรมการบริหาร คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ โดยมุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและยกระดับภาคการเกษตรของไทย โดยในยุคแรก ธนาคารมุ่งส่งเสริมองค์ความรู้โดยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเสี่ยงในด้านต่างๆ ของเกษตรกร รวมทั้งเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้ดีมากยิ่งขึ้น ยุคที่ 2 สนับสนุนการสร้างเครือข่าย ใน 2 ส่วนหลัก คือ เครือข่ายด้านการตลาด และ เครือข่ายด้านการผลิต โดยธนาคารยังทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการ Matching Business ระหว่างผู้ผลิตและผู้ส่งออก ทั้งในรูปแบบของการจัดนิทรรศการผลงาน และเปิดโอกาสให้เกษตรก้าวหน้า นำผลผลิตมาจำหน่ายถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ในงาน “วันเกษตรก้าวหน้า” อีกด้วย และปัจจุบัน คือ ยุคที่ 3 โดยธนาคารยังคงมุ่งมั่นในการผลักดันให้เกษตรกรไทย ก้าวสู่การเป็น Smart Farming หรือ การทำเกษตรแนวใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อเพิ่มคุณภาพ ปริมาณของผลิตผลทางการเกษตร และยังช่วยลดต้นทุนในระยะยาว ขณะเดียวกันยังเป็นการเสริมศักยภาพการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลกอีกด้วย
“ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม มีเกษตรกรกว่า 7.7 ล้านครัวเรือน เป็นพื้นฐานรายได้ที่สำคัญของไทย ดังนั้นภาคเกษตรไทยจำเป็นต้องเข้มแข็งและมีความยั่งยืน โดยตลอด 24 ปีที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพได้เล็งเห็นความสำคัญของภาคการเกษตร ไม่เพียงแต่บริการทางการเงิน แต่เรายังต้องการสนับสนุนให้ภาคเกษตรมีการปรับตัว และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันถือเป็นยุคที่ 3 หรือ ยุคของนวัตกรรม กระบวนการที่จะพัฒนาต่อไปขึ้นอยู่กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีค่อนข้างมาก ธนาคารกรุงเทพ ยังคงเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง และต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมยกระดับเกษตรกรไทยให้เป็น Smart Farming ก็ดี Precision Farming ก็ดี ตลอดจนถึงเรื่องของการใช้ผลผลิตทางการเกษตรอย่างครบวงจร (Zero Waste) ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นต้น” นายพิเชฐ กล่าว
“เกษตรกรไทยหลายคนเริ่มสนใจการนำนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้ แต่ยังมีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนเกษตรกรทั้งหมดในระบบ และส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เข้าใจและนำไปใช้ไม่ถูกต้อง สิ่งสำคัญคือภาครัฐจะต้องมาสนับสนุนส่งเสริมองค์ความรู้ เพื่อให้เกษตรกรก้าวข้ามการทำเกษตรกรแบบเดิมไป สู่การทำเกษตรแบบดิจิทัลเพราะตอนนี้สินค้าเกษตรไทยต้องเอาคุณภาพเข้าสู้ เจาะกลุ่มตลาดลูกค้าพรีเมียมที่ได้ราคาสูง หากไม่ปรับตัวก็จะไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าเกษตรจากต่างประเทศที่ต้นทุนต่ำกว่าได้ เราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ทั้งภาครัฐและเกษตรกรไทยได้เห็นถึงความสำคัญในจุดนี้ ” นายสุวิทย์ กล่าว