ITD รุกเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์ "ขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง"

วันพฤหัสบดีที่ 04 เมษายน พ.ศ. 2567

ITD รุกเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์


สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD จัดงานสัมมนา ITD Research Forum 2024: Upgrading Thailand’s Gateway and MSMEs’ Export เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัย ITD เกี่ยวกับ การพัฒนาการใช้ประโยชน์ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross-Border Transport Facilitation Agreement: GMS CBTA) การปาฐกถาพิเศษและเสวนาเรื่องการพัฒนาและยกระดับการขนส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาค GMS การบรรยายเกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมการส่งออก MSMEs ไทยสู่ตลาดโลก และการแถลงผลงานวิจัย การประเมินศักยภาพและส่งเสริมการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) : อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม  จัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2567  เวลา 08.30 - 15.00 น. รูปแบบ Hybrid Forum โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร และรับชมผ่านทางออนไลน์ Zoom Webinar โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ นักศึกษา และบุคคลทั่วไป

ITD Research Forum 2024 เผยแพร่ผลงานวิจัย 2 โครงการ โดยในช่วงเช้า ได้แก่ “การพัฒนาการใช้ประโยชน์ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross-Border Transport Facilitation Agreement: GMS CBTA)” และในช่วงบ่าย จะจัดการแถลงผลงานวิจัยในหัวข้อ “การประเมินศักยภาพและส่งเสริมการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) : อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม”

“การพัฒนาการใช้ประโยชน์ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross-Border Transport Facilitation Agreement: GMS CBTA)”

ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) เป็นความตกลงที่ช่วยอำนวยความสะดวกการผ่านแดนและข้ามแดนของคนและสินค้าในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีนตอนใต้ (มณฑลยูนนาน และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง) ซึ่งได้ร่วมกันจัดตั้งแผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ภายใต้การสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) GMS มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาด้านการค้า การลงทุน และการพัฒนาในอนุภูมิภาค โดยกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาอนุภูมิภาคผ่าน 3 เสาหลัก 3C คือ Connectivity, Competitiveness และ Community ซึ่งในระยะที่ผ่านมาผลการดำเนินงานที่โดดเด่นของอนุภูมิภาค GMS คือ การเชื่อมโยง (Connectivity) ในด้านการขนส่งที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งอย่างไร้รอยต่อ มีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ และเป็นระบบขนส่งที่ยั่งยืน ดังปรากฏโครงการก่อสร้างและปรับปรุงเส้นทางคมนาคมในกลุ่มประเทศ GMS ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ABD) การพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งจึงเป็นหัวใจสำคัญของการบรรลุเป้าหมายการเชื่อมโยง GMS และการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ East-West Economic Corridor (EWEC) และ North-South Economic Corridor (NSEC)

ความตกลง GMS CBTA จำแนกสาระสำคัญออกเป็น 17 ข้อบท (Annex) ได้แก่ การขนส่งสินค้าอันตราย การขึ้นทะเบียนยานพาหนะระหว่างประเทศ การขนส่งสินค้าเน่าเสียง่าย การอำนวยความสะดวก ณ จุดข้ามแดน การข้ามแดนของบุคคล พิธีการศุลกากรผ่านแดน ข้อบังคับการจราจรและสัญญาณจราจร การนำเข้ารถยนต์ชั่วคราว กฎเกณฑ์ในการออกใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ เงื่อนไขการขนส่ง มาตรฐานการออกแบบถนนและสะพาน สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสำหรับการข้ามแดนและผ่านแดน ระบบรับผิดทางแพ่งของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ระบบศุลกากรสำหรับตู้คอนเทนเนอร์ ระบบการจัดหมวดหมู่พิกัดสินค้า หลักเกณฑ์เรื่องใบอนุญาตขับขี่ และ 3 พิธีสาร (Protocol) ได้แก่ การกำหนดเส้นทางและจุดเข้า-ออก (การข้ามแดน) ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการผ่านแดน โควตาการบริการขนส่งและการออกใบอนุญาต 

การที่ประเทศสมาชิก GMS ทั้ง 6 ประเทศมีรูปแบบการบริหารปกครอง ระบบเศรษฐกิจ ระบบกฎหมาย และกระบวนการข้ามพรมแดนที่แตกต่างกัน ส่งผลให้กระบวนการเจรจารายละเอียดความตกลง GMS CBTA ในแต่ละข้อบทมีกระบวนการที่ซับซ้อน แต่ละประเทศจึงทยอยลงนามในความตกลงให้สัตยาบันในแต่ละข้อบทและพิธีสารตั้งแต่ปี 2542 กระทั่งสามารถเริ่มใช้ความตกลง GMS CBTA ได้ในปี 2558 

อย่างไรก็ตาม หลังความตกลง GMS CBTA มีผลบังคับใช้แล้ว ในทางปฏิบัติพบว่าทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานบริเวณด่านพรมแดนและผู้ประกอบการขนส่งข้ามพรมแดนยังคงมีอัตราการใช้ประโยชน์จากความตกลงดังกล่าวในระดับต่ำ สาเหตุประการหนึ่งมาจากการที่ประเทศภาคีในความตกลง GMS CBTA ยังไม่ได้นำสาระสำคัญมาปฏิบัติอย่างครบถ้วนและเป็นรูปธรรม เนื่องจากบางประเทศมีกระบวนการเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศจึงยังไม่สามารถออกใบอนุญาตต่าง ๆ หรือขึ้นทะเบียนการขนส่งข้ามพรมแดนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ประกอบกับเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการในพื้นที่ยังขาดความรู้และความเข้าใจในการนำสิทธิประโยชน์จากความตกลง GMS CBTA มาใช้ในกระบวนการขนส่งข้ามพรมแดนให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

เพื่อให้การขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว ลดต้นทุน และเป็นฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนโดยการใช้ประโยชน์ความตกลง GMS CBTA และแสวงหาโอกาสของไทยทั้งมิติเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในระยะเปลี่ยนผ่านการขนส่งในภูมิภาคได้สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ดังนี้

การเร่งการเจรจาทำพิธีสาร (Protocol) ทวิภาคี   ไทยควรเร่งเจรจากับกับ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และจีน (ประเทศปลายทางที่มีส่วนกำหนดกฎระเบียบ) เพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางร่วมกันในรายสินค้าและรายด่านพรมแดน โดยจัดลำดับความสำคัญของสินค้าส่งออก และเส้นทางการขนส่งที่เกิดอุปสรรคและต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากกฎระเบียบและมาตรการการขนส่งข้ามพรมแดนที่แตกต่างกัน เพื่อระบุปัญหาในรายด่านและประเทศคู่เจรจาได้อย่างตรงจุด จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานด้านมาตรฐาน กฎระเบียบ และมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งข้ามพรมแดนให้กับเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการบริเวณด่านพรมแดน จัดตั้งกลไกความร่วมมือของคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชนในพื้นที่ชายแดน เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งในรายด่านชายแดน โดยประกอบด้วยผู้แทนจากฝ่ายไทย (ระดับจังหวัด) และฝ่ายประเทศเพื่อนบ้าน(ระดับจังหวัด) เนื่องจากในทางปฏิบัตินั้นการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านบางประเด็นต้องอาศัยการสนับสนุนจากคู่ค้า (Partners) ซึ่งเป็นภาคเอกชนของประเทศเพื่อนบ้านในการสะท้อนปัญหาไปยังหน่วยงานภาครัฐและรัฐบาลผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์ควรเร่งแสวงหาคู่ค้า (Partners) ในสปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และจีน ในลักษณะของการลงทุนในกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ให้มากขึ้นเพื่อสร้างโอกาสในกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าใน สปป.ลาวและเมียนมา ลดต้นทุนในการจ้างช่วงขนส่งสินค้า และก้าวข้ามข้อจำกัดด้านกฎระเบียบในประเทศทางผ่านและประเทศปลายทางสินค้าทั้งนี้ควรเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 ปี

การพัฒนาผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจด้านมาตรฐาน กฎระเบียบ มาตรการ และสิทธิประโยชน์จากกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ทั้งมาตรการระดับสากล มาตรการภายในแต่ละประเทศ และสาระสำคัญของกรอบความร่วมมือต่าง ๆ โดยจัดตั้งหน่วยงานกลาง (Focal Point) ระดับท้องถิ่นในการประสานงานด้านกฎระเบียบการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาค GMS ในรูปแบบคณะทำงานที่บูรณาการหลายหน่วยงาน และมีผู้แทนผู้ประกอบการภาคเอกชนท้องถิ่น เพื่อรวบรวมปัญหาจากการขนส่งข้ามพรมแดนและกำหนดท่าทีร่วมกันสำหรับการเจรจาในรายด่านพรมแดน ริเริ่มการเจรจากรอบความตกลงด้านการขนส่งข้ามพรมแดนอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงฉบับใหม่ที่มีความสอดคล้องกับสภาพการณ์จริงและเพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับตัวตามรูปแบบการขนส่งที่หลากหลาย (Multimodal Transportations)  

การจัดตั้งคณะทำงานติดตามและเฝ้าระวัง (Monitor) สถานการณ์ด้านการขนส่งข้ามพรมแดน รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของเส้นทางในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อให้ได้ข้อมูลเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง สามารถวางแผนและคาดการณ์สถานการณ์การขนส่งในภูมิภาคซึ่งผันแปรตามบริบทเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาโดยให้มีการประชุมคณะทำงานทุก 6 เดือนประเมินสถานการณ์และกำหนดแผนรับมือความเปลี่ยนแปลงด้านการขนส่ง โดยการเจรจาผลักดันด้านการขนส่งข้ามพรมแดนในกรอบอื่น ๆ ของภูมิภาค เช่น ACMECS, Lancang-Mekong Cooperation (LMC), ASEAN, หรือ ASEAN-China เพื่อสร้างบรรทัดฐานเชิงมาตรการและกฎระเบียบการขนส่งข้ามพรมแดนในระดับภูมิภาคขั้นสูงกว่า ซึ่งประเทศไทย สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และจีนเป็นสมาชิก การพัฒนาระบบการขนส่งข้ามพรมแดนผสมผสานหลายรูปแบบ (Multimodal Transportations) ทั้งการขนส่งทางรถยนต์ รถไฟ และเรือ เพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งไทยมีความสามารถในการปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้อันเนื่องจากการเปลี่ยนเส้นทางนำเข้าสินค้าหรือการเปลี่ยนด่านของประเทศผู้นำเข้าสินค้า จัดทำแผนพัฒนาระบบการขนส่งที่ยั่งยืน (Sustainable Transportation) ที่คำนึงถึงการใช้พลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความคุ้มทุนในการขนส่งสินค้าไป-กลับ การพัฒนาระบบดิจิทัลในกระบวนการขนส่งข้ามพรมแดน ตั้งแต่กระบวนการขอใบอนุญาต ถึงการผ่านพิธีการศุลกากร ทั้งนี้การพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีต้องพัฒนาไปพร้อมกันทุกประเทศ เพื่อสร้างพื้นฐาน (Baseline) ทางเทคโนโลยีที่เท่าเทียมกันและสามารถอำนวยความสะดวกการขนส่งร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การประเมินศักยภาพและส่งเสริมการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) : อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม”

ปัจจุบันวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) มีสัดส่วนจำนวนธุรกิจมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ และเป็นแหล่งรองรับการจ้างงานที่สำคัญของประเทศ แต่ MSMEs ยังคงมีข้อจำกัดในการแข่งขัน รวมทั้งการขยายธุรกิจ โดยเฉพาะในมิติการค้าระหว่างประเทศที่บทบาทหลักในการส่งออกส่วนใหญ่ดำเนินการโดยธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจาก MSMEs ยังมีข้อจำกัดด้านกำลังการผลิตเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้คุ้มทุนได้ยาก ดังนั้น MSMEs ควรได้รับการประเมินศักยภาพการส่งออกและสภาพแวดล้อมทางการค้าที่ MSMEs มีส่วนร่วม เพื่อเข้าใจข้อเท็จจริงและรับการส่งเสริมศักยภาพการส่งออกอย่างตรงจุด นอกจากนี้ นโยบายหรือมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกของ MSMEs ควรมีความเป็นธรรมและเปิดโอกาสให้ MSMEs เติบโตได้ง่าย โดยในการแถลงผลการศึกษาครั้งนี้ได้นำเสนอ MSMEs ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เป็นกรณีศึกษา 

​อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และเชื่อมโยงกับหลายส่วนทั้งในภาคเกษตร ภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคการขนส่ง และภาคบริการ และมีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมของไทย เห็นได้จากการที่ GDP อุตสาหกรรมอาหารมีสัดส่วนเป็นอันดับที่ 1 ใน GDP ภาคอุตสาหกรรม ผลการศึกษาพบว่า ความท้าทายที่สำคัญที่ธุรกิจ MSMEs ต้องเผชิญในปัจจุบัน เช่น การเข้าถึงสินเชื่อ กฎระเบียบและมาตรฐาน การสนับสนุนของภาครัฐในการประชาสัมพันธ์สินค้าและสร้างเครือข่ายธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การคุ้มครองสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ วัตถุดิบ และคู่แข่งในต่างประเทศ โดยเพื่อส่งเสริมการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศของ  MSMEs 

การศึกษาครั้งนี้ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญ เช่น การผลักดันให้ในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศผู้ประกอบการ MSMEs ควรประเมินความพร้อมทางธุรกิจก่อนที่จะออกไปแข่งขันทั้งในส่วนของเงินทุน บุคลากร รวมถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้รับทราบถึงความพร้อมและสามารถส่งเสริมอบรมความรู้เพื่อพัฒนาทักษะที่ผู้ประกอบการขาดไปได้อย่างตรงจุด และการมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการสร้างสภาพแวดล้อมทดสอบ (Sand Box) เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้จากการทดลองลงมือทำจริง  เรียนรู้จากประสบการณ์จริงโดยเสนอให้เอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในการดำเนินการโดยมีภาครัฐคอยสนับสนุนเชิงนโยบาย  

นอกจากนั้นควรมีมาตรการการสนับสนุนด้านการเงินที่เหมาะสมในการสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อ โดยพิจารณาจากความสามาถในการเติบโตในอนาตคร่วมกับแผนการดำเนินของธุรกิจ เพื่อป้องกันการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อรายได้ ภาครัฐควรสนับสนุนในการอำนวยความสะดวกข้อมูลทางการตลาดให้แก่ MSMEs อย่างเพียงพอ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเห็นโอกาสและมีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ โดยต้องไปอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างเครือข่ายความเชื่อใจทางธุรกิจกับคู่ค้า และเรียนรู้ความต้องการของตลาดนั้น ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงการความต้องการของตลาด ผลักดันให้ผู้ประกอบการใช้กลยุทธ์การรุกตลาดคู่ขนาน ทั้งการส่งออกสินค้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์รสชาติดั้งเดิมในตลาดเฉพาะ (Niche Market) และส่งออกสินค้าที่ปรับปรุงตามรสชาติของผู้บริโภคในประเทศนั้น เพื่อขายในตลาดขนาดใหญ่ที่มีกลุ่มลูกค้าจำนวนมาก (Mass Market)



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ