“สคพ.” ผลักดันนโยบายการส่งเสริมการส่งออก MSMEs ไทยสู่ตลาดโลก”

วันพฤหัสบดีที่ 04 เมษายน พ.ศ. 2567

“สคพ.” ผลักดันนโยบายการส่งเสริมการส่งออก MSMEs ไทยสู่ตลาดโลก”


สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) (สคพ.) จัดงาน “ITD Research Forum 2024: Upgrading Thailand’s Gateway and MSMEs’ Export” เพื่อผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกและธุรกิจขนส่ง เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ 2567 เวลา 8.30-15.00 น. ณ ห้อง Mayfair A ชั้น 11 โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร โดยมีการถ่ายทอดสดทางออนไลน์ทั้งช่องทางเฟซบุ๊กและยูทิวบ์

สำหรับ ITD Research Forum 2024: Upgrading Thailand’s Gateway and MSMEs’ Export” MSMEs มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ การช่วยยกระดับ เพิ่มศักยภาพธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ไม่เพียงแต่ สร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจ สร้างรายได้ให้ประชาชนส่วนใหญ่ แต่ยังเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับประเทศ หากพัฒนาคุณภาพ MSMEs ให้ถึงระดับสากล

นายวิมล ปั้นคง รองผู้อำนวยการ (วิชาการ) สคพ. เล็งเห็นว่า ตลาดของ MSMEs ควรจะได้รับการสนับสนุนในการออกไปสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพราะนายวิมล เชื่อว่า MSMEs มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไม่น้อยไปกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ แต่สำหรับการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศของ MSMEs ยังมีข้อจำกัดและอุปสรรคหลายด้าน ผลวิจัยในครั้งนี้ได้ทำการประเมินศักยภาพของ MSMEs และศึกษาถึงช่องทางออกไปสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน

​“ปัจจุบันนี้ MSMEs สามารถเป็นแหล่งการจ้างงาน สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในสินค้าและบริการให้กับผู้บริโภคได้ด้วย เป็นธุรกิจที่เปิดโอกาสให้คนได้มีโอกาสในการเป็นผู้ประกอบการและการมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ MSMEs มักเป็นวิสาหกิจที่เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่น จึงเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยในการเติบโตของเศรษฐกิจฐานรากและภาพรวมของประเทศ”

​อย่างที่ทราบกันดี MSMEs เป็นส่วนสำคัญที่มีบทบาทในเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างสำคัญมาก การมีส่วนร่วมของ MSMEs ใน GDP ของประเทศตั้งแต่ปี 2015 มีแนวโน้มสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกปี แม้จะลดลงบ้างบางส่วนในปี 2019 จากสถานการณ์โควิด-19 แต่เมื่อพิจารณามูลค่าการค้าของ MSMEs พบว่าบทบาทของ MSMEs ยังถูกจำกัดในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทด้านการส่งออกและการมีส่วนร่วมในตลาดต่างประเทศ ซึ่งสัดส่วนมูลค่าการส่งออกและการสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่อุปทานของ MEMEs ยังน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับวิสาหกิจรายใหญ่ นับว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีการสนับสนุนและการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจ MSMEs ในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศเพื่อโอกาสเติบโต

​“ข้อจำกัดของ MSMEs ในด้านการส่งออก และการมีส่วนร่วมในตลาดต่างประเทศ มีข้อจำกัดและอุปสรรคหลายด้านทั้งการเข้าถึงข้อมูล ต้นทุนการปฏิบัติตามระบบศุลกากรและมาตรการทางการค้า ความไม่คุ้นเคยในระบบศุลกากร การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน อีกทั้ง MSMEs ยังมีข้อจำกัดด้านกำลังการผลิตที่มีจำกัด ทำให้เกิดจุดคุ้มทุนได้ยาก และการไม่มีอำนาจต่อรองในตลาด รวมทั้งการแบกรับต้นทุนการดำเนินเอกสารต่าง ๆ”

​การแถลงผลการศึกษาครั้งนี้ได้เลือกนำเสนอ MSMEs ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในกรณีศึกษา เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่และเชื่อมโยงกับหลายอุตสาหกรรมทั้งภาคเกษตร ภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคการขนส่ง และภาคบริการ และเป็นอุตสาหกรรมที่มีจำนวน MSMEs กว่าร้อยละ 27 ของ MSMEs ไทยทั้งหมด ดังนั้น การประเมินศักยภาพการส่งออกของ MSMEs เพื่อให้เข้าใจสภาพแวดล้อมทางการค้า จึงเป็นสิ่งสำคัญในการเปิดโอกาสให้ MSMEs เติบโต และสามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศเพื่อมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจโลกอย่างเต็มที่ในอนาคต

​ITD Research Forum 2024 ช่วงบ่าย มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “นโยบายการส่งเสริมการส่งออก MSMEs ไทยสู่ตลาดโลก” จาก นายวัณณะวัฒน์ โอภาสวัฒนา รองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผนส่งเสริม SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่เป็นแนวทางตอบสนองต่อผลงานวิจัยของ สคพ. ในเรื่องการผลักดัน สนับสนุน MSMEs สู่ตลาดต่างประเทศได้เป็นอย่างดีเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในทุก ๆ ด้าน หลายประเทศจึงให้ความสำคัญในการสนับสนุนให้ MSMEs สามารถเติบโตได้ แต่ปัจจุบัน MSMEs ของไทยยังเผชิญกับข้อจำกัดและเสียเปรียบธุรกิจรายใหญ่ โดยเฉพาะในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ โดยในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศมีทั้งปัจจัยภายในของธุรกิจเอง และสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลต่อการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศของ MSMEs ดังนั้น นโยบายของภาครัฐในสนับสนุน MSMEs ในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็น เช่นเดียวกับผู้ประกอบการก็ประเมินศักยภาพของตัวเองให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและความต้องการของธุรกิจ เพื่อสามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ