“กรุงเทพประกันภัย” ชี้ ธุรกิจประกันวินาศภัยปีนี้ท้าทาย การลงทุนภาครัฐล่าช้า ภาวะสงคราม ภัยธรรมชาติ เดินหน้าโชว์แผนธุรกิจปี 67 มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการประกันรูปแบบ Personalized Insurance ตั้งเป้าเบี้ยฯ 32,500 ล้านบาท

วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2567

“กรุงเทพประกันภัย” ชี้ ธุรกิจประกันวินาศภัยปีนี้ท้าทาย การลงทุนภาครัฐล่าช้า ภาวะสงคราม ภัยธรรมชาติ เดินหน้าโชว์แผนธุรกิจปี 67 มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการประกันรูปแบบ Personalized Insurance ตั้งเป้าเบี้ยฯ 32,500 ล้านบาท


ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI กล่าวว่า  แนวโน้มของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2567 สมาคมประกันวินาศภัยไทยประเมินว่าจะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 5.0 - 6.0 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยได้รับผลบวกจากประกันภัยสุขภาพที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ขณะเดียวกันด้านตลาดที่อยู่อาศัยแม้จะได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนและอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจนส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค แต่ด้วยต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นผนวกกับผู้ประกอบการได้เปิดโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้สูงมากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการถูกปฏิเสธสินเชื่อน้อยกว่า ทำให้มูลค่าที่อยู่อาศัยต่อหน่วยที่เข้าสู่ระบบประกันภัยปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อเนื่องไปยังเบี้ยประกันอัคคีภัย สำหรับประกันภัยรถยนต์นั้น แม้ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่โดยรวมจะมีแนวโน้มหดตัวลงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แต่ในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) คาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งรถยนต์ EV มีอัตราเบี้ยประกันภัยโดยเฉลี่ยที่สูงกว่ารถยนต์ใช้เชื้อเพลิง ส่งผลให้ปริมาณเบี้ยประกันภัยรถยนต์โดยรวมน่าจะยังคงเติบโตได้

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจประกันวินาศภัยจะได้รับผลกระทบจากมูลค่าการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะหดตัวลงอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา จากความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เช่นเดียวกับผลกระทบจากสงครามและความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อ ซึ่งจะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าที่อาจไม่สามารถเติบโตได้เท่าที่ควร จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการขนส่งสินค้าทางเรือที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางเสี่ยงภัย รวมถึงปัญหา Supply Chain Disruption ที่กระทบต่อการผลิตเพื่อการส่งออก

นอกจากนี้ ธุรกิจประกันวินาศภัยจะยังคงได้รับประโยชน์จากการที่ตลาดรับประกันภัยต่อโดยรวมมีการปรับอัตราเบี้ยประกันภัยขึ้น แม้จะเป็นการเพิ่มในอัตราที่ลดลงจากปีที่ผ่านมา และจะยังคงมีแรงกดดันจากภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงและมีความถี่สูงขึ้นจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change) โดยเฉพาะภัยจากพายุฝนและน้ำท่วม ตลอดจนต้นทุนการชดใช้ค่าสินไหมทดเเทนที่ยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ตลาดเริ่มเห็นสัญญาณของอัตราเบี้ยประกันภัยที่คงที่หรือเริ่มลดลงในบาง Segment อันเป็นผลจากการที่ตลาดรับประกันภัยต่อมีกำไรจากการดำเนินงานที่ดีในปีที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มีมหันตภัยขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดค่าสินไหมทดแทนจำนวนมหาศาล รวมถึงการปรับเพิ่มอัตราเบี้ยประกันภัยต่อมาหลายปีติดต่อกัน

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2567 นี้ กรุงเทพประกันภัยได้ตั้งเป้าหมายด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวมที่ 32,500 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 8.0 แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ 13,690 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยที่ไม่ใช่ประกันภัยรถยนต์หรือ Non-Motor 18,810 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะขยายธุรกิจด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด พร้อมยกระดับนวัตกรรมการบริการให้ดียิ่งขึ้น นำมาซึ่งการสร้างความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้าและคู่ค้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงและเข้าใจไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ เพื่อรองรับโครงสร้างประชากรไทยและวิถีชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับความเสี่ยงต่างๆ ในรูปแบบ Personalized Insurance พร้อมส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงและเข้าใจไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ เพื่อรองรับโครงสร้างประชากรไทยและวิถีชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับความเสี่ยงต่างๆ ในรูปแบบ Personalized Insurance พร้อมส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า

“ในปี 2567 นี้ นับเป็นอีกปีเเห่งโอกาสครั้งสำคัญที่จะต่อยอดความสำเร็จ พร้อมขยายธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงกับสภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม และความท้าทายของโลกยุคใหม่ ผ่านการฟื้นฟูยกระดับการสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าให้องค์กรเติบโตแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อมุ่งสู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืนต่อไป”

ผู้บริหาร กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากในปี 2566 เป็นปีแห่งการ Resilience พลิกฟื้นบริษัทฯ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ให้กลับไปสู่จุดที่แข็งแกร่งและมั่นคงยิ่งกว่าเดิมในทุกมิติ ผ่านการปลูกฝัง Mindset แก่บุคลากรให้เรียนรู้จากวิกฤตเพื่อให้เกิดการพัฒนาและปรับตัวให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงสร้างจิตสำนึกความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้บริษัทฯ สามารถสร้างเบี้ยประกันภัยและผลกำไรให้เติบโตได้ดี โดยผลการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทฯ สามารถสร้างเบี้ยประกันภัยรับรวมได้ถึง 29,915.7 ล้านบาท เติบโตจากปี 2565 ร้อยละ 12.1 มีกำไรจากการรับประกันภัย 2,070.1 ล้านบาท มีรายได้สุทธิจากการลงทุน 1,299.5 ล้านบาท และบริษัทฯ มีผลกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3,043.8 ล้านบาท โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 5.50 บาท รวมทั้งปี 16.75 บาท พร้อมยืนหยัดความแข็งแกร่งทางด้านการเงินด้วยการมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) สูงกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยอยู่ที่ร้อยละ 185.9 (ณ 30 ก.ย. 66) และรักษาอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินในระดับสูงหรือ Credit Rating A- (Stable) (ณ พ.ย. 66) โดย Standard & Poor’s (S&P) สถาบันการจัดอันดับทางการเงินชั้นนำของโลก



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ