นายแมทธิว แลมมิ่ง Co-Founder & CEO แบรนด์ DOUGH BROS. Pizza & Doughnuts กล่าวว่า ตลาดอาหารจานด่วน (QSR) ปี 2566 จะมีมูลค่า 45,000 ล้านบาท เติบโต 6-8% แบ่งเป็น ตลาดไก่ทอด 31,000 ล้านบาท ตลาดเบอร์เกอร์ 9,800 ล้านบาท และตลาดพิซซ่า 4,200 ล้านบาท คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีมูลค่า 47,000 ล้านบาท ตลาดพิซซ่า แม้จะมีมาร์เก็ตไซซ์เล็กสุดในตลาด QSR แต่ก็มีโอกาสการเติบโต จากปัจจุบันมีผู้เล่นรายใหญ่ 3 เจ้า
โดยแบรนด์ “DOUGH BROS” บิ๊กพิซซ่าและโดนัทของเรานั้น มีจุดเริ่มต้นจากฮ่องกง เมื่อปี 2562 และขยายสาขาได้ถึง 20 แห่ง เน้นโมเดลดีลิเวอรี และได้รับผลตอบรับดี ที่โด่งดังเป็นพลุแตกจากเมนูโดนัทชาไทย จากคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวส่งผลให้ DOUGH BROS มองการเติบโตในต่างแดน จากทำเลที่มีความเป็นเมืองสูง และมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่ง “กรุงเทพ” ตอบโจทย์ในมุมเดสติเนชั่นอาหารระดับโลก และมีสภาพตลาดคล้ายฮ่องกง ทำให้เลือกกรุงเทพเป็นสาขาแรกในไทย
“การเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย ไม่ใช่เพื่อชิงส่วนแบ่งในตลาด QSR แต่คือการสร้างเซกเมนต์ใหม่ เป็นอาหารจานด่วนที่ดีต่อสุขภาพ ในราคาจับต้องได้ ขณะที่ไทยมีจุดเด่น เรื่องต้นทุนค่าแรง และการขอไลเซ่นที่ดีกว่าในฮ่องกง“ เบื้องต้น ได้ประเดิมเปิดสาขาแรกที่เกษรอมรินทร์ ย่านชิดลม แหล่งทราฟฟิกสูง และผู้บริโภคมีกำลังซื้อ ซึ่งแผนการดำเนินงานภายในปี 2567 เตรียมลงทุนเปิด 5 สาขาใหม่ พื้นที่ กทม. ใน 3 โมเดล ได้แก่ 1.โมเดลขนาดเล็ก เน้นการขายผ่านช่องทางเดลิเวอรี พื้นที่ 40-50 ตร.ม. 2. โมเดลขนาดกลาง มีพื้นที่ให้นั่งสร้างบรรยากาศ พื้นที่ 90 ตร.ม. 3. โมเดลขนาดใหญ่ มีไดน์อิน พื้นที่ 120-150 ตร.ม. โดยในอนาคตอาจเพิ่มโมเดลใหม่เพิ่ม คือ ไดร์ฟทรู สาขาที่เปิด 24 ชม. แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาตลาดและอินไซด์คนไทย”
ด้าน นายเอ็ดมันด์ รอล์สตัน Co-Founder & CMO แบรนด์ DOUGH BROS. Pizza & Doughnuts กล่าวเสริมว่า การทำตลาดในประเทศ หลัก ๆ มุ่งเน้นไปที่การสร้างเมนูใหม่ เจาะคนท้องถิ่น อาทิ พิซซ่าหน้าลาบ กะเพรา และต้มยำ เตรียมลอนช์สัปดาห์หน้า โดยมีไฮไลต์ คือ แป้งพิซซ่าแบบ Sourdough ที่ใช้เวลา 24 ชั่วโมง ในการหมักแป้ง และคงความสดใหม่ด้วยการทำเฉพาะออเดอร์ที่ถูกสั่ง ไม่ทำทิ้งไว้
“เราอยู่ระหว่างเรียนรู้ความชอบของคนไทย ในอนาคตจะทยอยออกเมนูใหม่ ๆ มาเพิ่ม เฉกเช่นการทำตลาดในฮ่องกงที่มีโดนัทมากกว่า 10 เมนู และนี่คือกลยุทธ์หลัก ที่คาดว่าจะทำให้เราแข่งขันได้ ในตลาด QSR ไทยที่มีเจ้าตลาดเดิมอยู่“