อาหารฮาลาล! อุตสาหกรรมแห่งความหวัง

วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

อาหารฮาลาล! อุตสาหกรรมแห่งความหวัง


ปัจจุบัน ประชากรมุสลิมคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของประชากรโลก ที่มีกว่า 7,871 ล้านคน หรือคิดเป็นกว่า 2,000 ล้านคน ตลาดอาหารฮาลาลจึงเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูง มีมูลค่าตลาดทั่วโลกประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของโลก ในปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไทยมีมูลค่าส่งออกถึง 35,037 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 2.44 % ของมูลค่าตลาดอาหารฮาลาลโลก

หากนับเฉพาะ มูลค่าการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลของไทยไปตลาด OIC (Organisation of Islamic Cooperation หรือ องค์การความร่วมมืออิสลาม) พบว่าโตกว่าภาพรวมการส่งออกไปตลาดโลกถึง 1 เท่าตัว โดยในช่วงปี 2020-2023 เติบโตกว่า 14.5% ต่อปี ขณะที่ภาพรวมการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปตลาดโลกเติบได้ราว 7.5% ต่อปี ส่วนหนึ่งเพราะตลาด OIC เป็นตลาดผู้บริโภคมุสลิมขนาดใหญ่กว่า 57 ประเทศทั่วโลก ที่มีจำนวนประชากรรวมกันมากกว่า 1,200 ล้านคน อีกทั้งบางประเทศยังมีความมั่นคงทางอาหารต่ำ จากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ไม่เอื้อต่อการเพาะปลูก ทำปศุสัตว์และแปรรูปอาหาร อาทิ กลุ่มประเทศในตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกา จึงทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มสูง

ปี 2024 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลของไทยไปตลาด OIC น่าจะยังเติบโต 0.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน

สินค้าที่น่าจะเติบโตต่อเนื่อง คือ อาหารฮาลาลโดยการรับรอง ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวในตลาดนี้ได้ราว 5.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการส่งออกอาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป ที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัว ตลอดจนความต้องการไก่สด/แช่เย็นแช่แข็ง ที่มากขึ้นในกลุ่มประเทศที่ไม่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอ โดยเฉพาะมาเลเซียและประเทศในแถบตะวันออกกลาง อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ โอมาน ซาอุดีอาระเบีย

อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไม่เพียงแต่สามารถเจาะตลาดชาวมุสลิมที่เป็นตลาดหลักได้เท่านั้น แต่ยังเป็นที่สนใจและต้องการในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม (Non-OIC) อีกหลายประเทศด้วย เช่น อินเดีย จีน สิงคโปร์ เนื่องจากอัตราประชากรมุสลิมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภายใต้โอกาสทางการค้า ยังมีปัจจัยท้าทายที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับตัว โดยเฉพาะในเรื่องของการแข่งขันและเงื่อนไขทางการค้าที่มีความเฉพาะเจาะจง อาทิ การแข่งขันกับคู่แข่งประเทศมุสลิม โดยเฉพาะกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งที่ผู้บริโภคมุสลิมส่วนใหญ่ให้การยอมรับในมาตรฐานและเชื่อมั่นในคุณภาพการผลิตถูกต้องตามหลักศาสนา แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมให้แข่งขันได้ไม่ยาก



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ