สนข. พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนแผนงานคมนาคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน

วันอาทิตย์ที่ 04 สิงหาคม พ.ศ. 2567

สนข. พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนแผนงานคมนาคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน


สนข. แถลงผลการดำเนินงานสำคัญในปี 2567 และแผนการดำเนินงานในอนาคต พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนแผนงานคมนาคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร ภายใต้โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วม ต่อการพัฒนาระบบการขนส่งและจราจรของ สนข. ประจำปี 2567 โดยนำคณะสื่อมวลชน “ศึกษาดูงานการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และลงพื้นที่เยี่ยมชมสนามบินหัวหิน ระหว่างวันที่ 2-3 สิงหาคม 2567 ณ จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ สนข. พร้อมด้วยคณะสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ จำนวน 60 คน เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

นายปัญญา กล่าวว่า สนข. ได้จัดกิจกรรม “สื่อมวลชนสัญจร” เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือและการมีส่วนร่วมต่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร โดยเน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้บริหารและบุคลากรของ สนข. ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเครือข่ายสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ให้เกิดการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารด้านการขนส่งและจราจรของ สนข. เพื่อใช้เป็นกลไกในการสื่อสารข้อมูลไปยังประชาชน ให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รวดเร็ว และทันท่วงที

ทั้งนี้ นอกจากจะนำคณะสื่อมวลชน “ศึกษาดูงานการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์” และเยี่ยมชมพื้นที่สถานีหัวหินแห่งใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ ที่ สนข. ได้ทำการศึกษาความเหมาะสมและส่งต่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ และให้บริการอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งเยี่ยมชมท่าอากาศยานนานาชาติหัวหินแล้ว ยังได้แถลงผลการดำเนินงานสำคัญในปี 2567 และแผนการดำเนินงานในอนาคต สามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่ม หลัก ดังนี้

งานที่อยู่ระหว่างการนำเสนอกระทรวงคมนาคม จำนวน 6 โครงการ ได้แก่

1) พระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ โดยใช้บัตรโดยสารเพียงใบเดียว

2) พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ พ.ร.บ. SEC เพื่อใช้ในการกำกับดูแล และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุน การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน มีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่เชื่อมโยงกันทั้งในและนอกระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

3) แผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (W-MAP) เพื่อพัฒนาการเดินทางทางน้ำ ยกระดับการบูรณาการเดินทางกับรูปแบบอื่น เพิ่มการใช้ประโยชน์เพื่อการสัญจรและการท่องเที่ยว

4) แผนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทาง เพื่อเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าและสนามบินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (Feeder) พัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทาง ล้อ - ราง - เรือ พร้อมปรับปรุงลักษณะกายภาพ และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนใช้บริการได้อย่างสะดวก

5) แผนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (พ.ศ. 2566 - 2580) โดยเร่งผลักดันและขับเคลื่อนนโยบาย EV ภาคคมนาคม พัฒนาการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการขนส่งสาธารณะ พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนใช้งานระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น และลดมลพิษ 

6) แผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ โดยอาศัยแนวคิด Transit Oriented Development หรือ TOD เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ 177 สถานี ทั่วประเทศ

งานที่อยู่ระหว่างการศึกษา จำนวน 8 โครงการ ได้แก่

1) การศึกษาจัดทำ Model การพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อเชื่อมโยงกับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภายใต้กรอบ GMS สนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาในพื้นที่ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออก คาดว่าจะแล้วเสร็จและนำเสนอกระทรวงคมนาคมได้ภายในเดือนสิงหาคม 2567 ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ คาดว่าจะแล้วเสร็จและนำเสนอกระทรวงคมนาคมได้ภายในปี 2568

2) การศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นและออกแบบแนวคิดเบื้องต้นเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ช่วงจังหวัดระนอง – จังหวัดสตูล (Andaman Riviera) ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568

3) การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองหลักในภูมิภาค เพื่อให้มีฐานข้อมูลการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะและข้อมูลการจราจรในเขตเมืองหลักในภูมิภาคที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

4) การศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเชื่อมโยงและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมรองรับ EEC เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากถนนไปสู่ทางรางและทางน้ำให้เพิ่มมากขึ้น

5) การศึกษาเพื่อจัดทำข้อมูลฐาน (Baseline Data) และการประเมิน (Tracking) การลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของยานพาหนะ

6) การศึกษาเพื่อพัฒนาศูนย์ข้อมูลคมนาคมของประเทศไทย (Transport Data Center) เพื่อจัดทำศูนย์ข้อมูลคมนาคมของประเทศไทย (Transport Data Center) สำหรับเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศด้านคมนาคมแก่ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน และใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำนโยบายและแผนด้านคมนาคม รวมทั้งเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในระดับนโยบายของผู้บริหารของกระทรวงคมนาคม

7) การพัฒนาระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transport System : ITS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการจราจรและขนส่ง ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

8) โครงการ Landbridge ได้ดำเนินการศึกษาและวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงการขนส่ง ระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร - ระนอง) ในรูปแบบ One Port Two Sides ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจะนำเสนอ ครม. ในปีนี้ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการให้ สนข. ดำเนินการเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากเอกชน ทั้งนี้ ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2568 และจะก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2573

งานที่จะดำเนินการศึกษาในอนาคต จำนวน 3 โครงการ ได้แก่

1) การศึกษาเพื่อจัดทำกรอบการดำเนินงานและระบบบริหารจัดการภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อภาคคมนาคมอย่างยั่งยืน (ระยะที่ 1) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำกรอบการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในภาคคมนาคม โดยมีแผนปฏิบัติการ แบ่งเป็น 3 ระยะ และจัดทำข้อมูลระบบการรายงานและบริหารจัดการข้อมูลภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพ และจัดทำแบบจำลอง

2) การพัฒนาระบบเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ กทม. และพื้นที่ต่อเนื่อง

3) การพัฒนารูปแบบการกำกับดูแลและการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม

นายปัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนงานของกระทรวงคมนาคมมีความสมบูรณ์ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด สนข. ได้มีการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อรับความช่วยเหลือทางวิชาการในการพัฒนาระบบคมนาคม ประกอบด้วย

1) ประเทศญี่ปุ่น ความร่วมมือภายใต้ - บันทึกความร่วมมือ (MOC) ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ด้านแผนงานนโยบายและเทคโนโลยีการจราจร เพื่อศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด (นราธิวาส - สำโรง)

2) ประเทศเยอรมนี ความร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit: GIZ) (Technical Assistance: TA) ภายใต้ “E-Mobility Initiative for Thailand: Supporting Thailand’s Net Zero Commitments” สนับสนุนการพัฒนามาตรการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีความท้าทายของภาคขนส่ง

3) The Asian Development Bank (ADB) โครงการความช่วยเหลือด้านเทคนิค (Technical Assistance: TA) ภายใต้ “E-Mobility Initiative for Thailand: Supporting Thailand’s Net Zero Commitments”

4) ประเทศออสเตรเลีย โครงการขยายความร่วมมือด้านคมนาคมผ่านหุ้นส่วนความร่วมมือ ด้านโครงสร้างพื้นฐานและกระทรวงคมนาคม ประเทศไทย (Project on Expanding Transport Cooperation through Partnerships for Infrastructure and the Ministry of Transport : P4I - MOT)

5) ประเทศสหรัฐอเมริกา การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ(Technical Assistance : TA) ระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และองค์การการค้าและการพัฒนาของสหรัฐอเมริกา (U.S. Trade and Development Agency : USTDA) แผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการขนส่งต่อเนื่องอย่างบูรณาการของประเทศไทย

นายปัญญา กล่าวตอนท้ายว่า สนข. พร้อมผลักดันขับเคลื่อนแผนงานด้านคมนาคมที่สำคัญต่าง ๆ ไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม คือ ต้องพลิกโฉมระบบคมนาคมทั่วประเทศ มุ่งเน้นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน และเชื่อมโยงการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ