จากกรณีพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย ได้ประสบอุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน บ้านเรือน รถยนต์ และพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และมีความห่วงใยต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน
เป็นอย่างมาก โดยได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) ในการลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก
ด้านประกันภัย พร้อมทั้งติดตามและรายงานความเสียหายเพื่อเตรียมพร้อมในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย และบูรณาการร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้แก่ประชาชนอย่างเต็มที่
สำนักงาน คปภ. ขอให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ซื้อไว้ว่าให้ความคุ้มครองภัยน้ำท่วมหรือไม่ อย่างไร โดยกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองภัยน้ำท่วม อาทิ การประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 การประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน การประกันอัคคีภัยที่ซื้อความคุ้มครองน้ำท่วมเพิ่มเติม และการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร เช่น การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การประกันภัยทุเรียน เป็นต้น การทำประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับอาคารนั้นมีทั้งภาคสมัครใจและภาคบังคับตามกฎหมาย โดยในส่วนของอาคารอยู่ภายใต้กฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่งบังคับให้เจ้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดำเนินการ สำหรับอาคารชนิดหรือประเภทตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ ต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอกตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และจำนวนเงินเอาประกันภัยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดในกฎกระทรวงโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคาร
สำหรับอาคารของเอกชนที่จะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าว ประกอบไปด้วย อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วย
สถานบริการ รวมถึงป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป จะต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองหรือความเกี่ยวเนื่องกับไฟไหม้ เช่น ประกันอัคคีภัย จะให้ความคุ้มครองตัวอาคาร เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้สำนักงาน สต๊อกสินค้า เครื่องจักร และเครื่องตกแต่งที่ติดตั้งไว้กับตัวอาคาร โดยให้ความคุ้มครองไฟไหม้ ฟ้าผ่า และการระเบิดของแก๊สที่ใช้ทำแสงสว่างหรือประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัย
ส่วนการประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย จะให้ความคุ้มครองสิ่งปลูกสร้างหรือตัวอาคารใช้เป็นที่อยู่อาศัย (ไม่รวมฐานราก) ทรัพย์สินภายในบ้าน สิ่งที่ติดกับตัวอาคาร หรือเครื่องมือเครื่องใช้ภายในบ้าน โดยให้ความคุ้มครองไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด ภัยจากยวดยานพาหนะ ภัยจากอากาศยาน ภัยจากน้ำที่เกิดจากการรั่วซึมภายในอาคาร (ไม่รวมน้ำท่วม) รวมถึง
ภัยธรรมชาติ 4 ภัย ได้แก่ ภัยน้ำท่วม ภัยลมพายุ ภัยลูกเห็บ และภัยแผ่นดินไหว ในขณะที่ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) จะให้ความคุ้มครองกว้างกว่าอัคคีภัย เช่น การโจรกรรม และอุบัติเหตุจากสาเหตุที่ไม่ได้ระบุไว้ในข้อยกเว้น เป็นต้น
ในส่วนของรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม ให้ยึดถือแนวปฏิบัติตามมาตรฐาน
การซ่อมรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ระดับ A น้ำท่วมถึงพื้นรถยนต์ ประเมินค่าซ่อม 8,000-10,000 บาท ระดับ B น้ำท่วมถึงเบาะนั่ง ประเมินค่าซ่อม 15,000-20,000 บาท ระดับ C น้ำท่วมถึงส่วนล่างของคอนโซลหน้า ประเมินค่าซ่อม 25,000-30,000 บาท ระดับ D น้ำท่วมถึงส่วนบนของคอนโซลหน้า ประเมินค่าซ่อมเริ่มต้นที่ 30,000 บาทขึ้นไป และ ระดับ E รถยนต์จมน้ำทั้งคันซึ่งในกรณีนี้บริษัทจะคืนทุนประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเรื่องประกันภัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือเว็บไซต์ www.oic.or.th หรือ สำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) 0-5311-2730-2