“กิจกรรมเพื่อสังคมขององค์กร” หรือที่เราเรียกว่า “การทำ CSR (Corporate Social Responsibility)” ถือเป็นหนึ่งนโยบายมาตรฐานที่ทุกองค์กรหรือภาคธุรกิจกำลังให้ความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน ด้วยทิศทางของประชาคมโลกที่ผู้คนให้การตระหนักถึงจริยธรรมและความยั่งยืนมากขึ้น การทำ CSR จึงไม่ใช่เพียงแค่การทำกิจกรรมเพื่อสังคม แต่ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบขององค์กรต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลดีในหลายด้าน ทำให้การทำ CSR ถูกดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ มีรูปแบบการทำกิจกรรมที่หลากหลาย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า สิ่งหนึ่งที่มักถูกหลงลืมไปในสมการนี้ กลับกลายเป็นสิ่งที่เรียบง่ายอย่าง “ความจริงใจ”
ดร.บ่าว (ผศ.ดร.สุริยะ ทองมุณี) รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) กล่าวว่า ในปัจจุบันการทำกิจกรรม CSR ส่วนใหญ่มีที่มาจากองค์กรหรือกลุ่มธุรกิจต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการ ซึ่งโดยมากมักเลือกที่จะมอบสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้กับชุมชน อาจเป็นเงินทุน เครื่องอุปโภค-บริโภค หรืออาคาร-สถานที่ แต่เป็นการมอบในรูปแบบ ‘ครั้งเดียวจบ’ โดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของชุมชนนั้น ๆ ส่งผลให้อาจถูกคนในพื้นที่มองว่าการเข้ามาของกลุ่ม CSR ไม่มีความจริงใจ กลายเป็นความไม่วางใจต่อกัน ทำให้ไม่อาจสานต่อความช่วยเหลือเพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาวได้
อุทยานวิทย์ฯ มช. จึงได้ออกแบบบริการการจัดกิจกรรม CSR รูปแบบใหม่ โดยใช้ ‘นวัตกรรม’ เป็นตัวนำในการเข้าไปช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนอย่างรอบด้าน ทั้งนวัตกรรมที่จับต้องได้ เพื่อแก้ไขปัญหาในกระบวนการต่าง ๆ และนวัตกรรมทางความคิดที่ช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ และปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในชุมชน เพื่อให้โอบรับวิถีใหม่ที่ยั่งยืนกว่าด้วยจุดแข็งของการเป็นองค์กรภายใต้สถาบันการศึกษาที่มีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ เทคโนโลยีวิทยากร บุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างหลากหลาย และเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้มแข็ง จึงไม่ใช่เรื่องยากนักที่จะดึงเอาทรัพยากรเหล่านี้เข้าไปช่วยเหลือชุมชนอย่างเต็มกำลัง แต่สิ่งสำคัญที่อุทยานฯ คำนึงอยู่เสมอ คือการชูความต้องการของชุมชนเป็นที่ตั้ง
“ผมมองว่าการทำซีเอสอาร์ (CSR) ในปัจจุบันเหมือนการไถ่บาป เราทำลายสิ่งหนึ่งลงไป แล้วเราชดเชยกลับด้วยอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งนั่นไม่ผิด แต่ส่วนใหญ่มักทำตาม ๆ กันไป โดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับจริง ๆ”
อย่างไรก็ตาม สำหรับทีม (CSR) ของเราที่ทำงาน เราไปอยู่กับชุมชนจริง ๆ ไปเรียนรู้วิถีชีวิตของเขา ไปทำความเข้าใจว่าเขาต้องการอะไร หรือไม่ต้องการอะไร ... เรียกง่าย ๆ ว่ากลืนเข้าไปเป็นลูกหลานในชุมชนเลย” ดร.บ่าว กล่าวถึงหัวใจหลักของบริการการทำ CSR ของอุทยานฯ ซึ่งเน้นการเข้าไปมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานระหว่างองค์กรผู้ต้องการทำกิจกรรมและชุมชนเป้าหมาย ร่วมออกแบบและคัดเลือกกิจกรรมที่เหมาะสม โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการลงมือทำ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นของตนไปด้วยกัน
“เรามองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนพื้นที่ภาคเหนือ เพราะอย่างนั้นเราจึงอยากเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้เขา (ชุมชน) ผมมองว่านั่นคือความจริงใจนะ” ดร.บ่าว ทิ้งท้าย
ปัจจุบันการทำกิจกรรม CSR ในความดูแลของอุทยานวิทย์ฯ มช. ยังดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่ต้องการให้ทุกนวัตกรรมที่ส่งมอบไป กลายเป็นกลไกที่ทำให้ชุมชนสามารถเดินทางต่อไปสู่ความยั่งยืนได้ด้วยตัวเอง จากนั้นจะเริ่มต้นมองหากลุ่มชุมชนใหม่ ๆ ที่ต้องการการสนับสนุนต่อไป เพื่อให้ความช่วยเหลือครอบคลุมยิ่งขึ้น ไม่ถูกกระจุกอยู่ยังที่ใดที่หนึ่ง อุทยานวิทย์ฯ มช. จึงเปิดรับเสมอ สำหรับกลุ่มองค์กร บริษัท หรือธุรกิจที่มีแนวคิดเดียวกัน นั่นคือการทำกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคมด้วยความจริงใจ ตั้งใจ และปรารถนาที่จะให้ชุมชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง มาร่วมสร้างคุณค่า ด้วยนวัตกรรม เพื่อพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน