"กรมราง" เร่งสอบเหตุดินถล่มอุโมงค์รถไฟคลองไผ่ สั่งเช็กทุกโครงการทั่วประเทศ เบรก..เกิดเหตุซ้ำ

วันศุกร์ที่ 06 กันยายน พ.ศ. 2567



กรมการขนส่งทางราง หารือผู้ให้บริการระบบราง พร้อมติดตามข้อเท็จจริงเหตุการณ์ดินถล่มภายในอุโมงค์คลองไผ่ ของสัญญา 3 - 2 โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา พร้อมทั้งกำชับผู้รับจ้างและที่ปรึกษาควบคุมงานที่อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างของ รฟท. ทั่วประเทศ ตรวจสอบความปลอดภัยโครงการก่อสร้าง เพื่อให้มีมาตรการความปลอดภัยในการดำเนินงาน ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ

วันนี้ (6 กันยายน 2567) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางราง ครั้งที่ 4/2567 ร่วมกับหน่วยงานผู้ให้บริการระบบรางที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมฯ ได้มีการหารือประเด็นต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชนและผู้ใช้บริการระบบขนส่งทางราง รวมทั้งแนวทางการปรับปรุงและแก้ไขปัญหา โดยมีประเด็นหารือที่สำคัญ ดังนี้

สถิติเหตุขัดข้องของรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2567 รวม 12 ครั้ง ประกอบด้วย 

1. เดือนกรกฎาคม 2567 มีเหตุรถไฟฟ้าขัดข้องทั้งหมด 6 ครั้ง สาเหตุเกิดจากระบบขับเคลื่อน 2 ครั้ง จุดสับราง 2 ครั้ง ระบบอาณัติสัญญาณ 1 ครั้ง และอื่น ๆ 1 ครั้ง 

2. เดือนสิงหาคม 2567 มีเหตุขัดข้องทั้งหมด 6 ครั้ง สาเหตุเกิดจากระบบเบรก 1 ครั้ง ระบบประตูรถ 1 ครั้ง จุดสับราง 1 ครั้ง ระบบอาณัติสัญญาณ 1 ครั้ง และอื่น ๆ 2 ครั้ง ซึ่งกรมการขนส่งทางรางได้ประสานผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าเพื่อหาสาเหตุของการขัดข้อง และร่วมกันหาแนวทางการป้องกันเพื่อลดจำนวนเหตุรถไฟฟ้าขัดข้อง

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้มีการรายงานเหตุดินถล่มภายในอุโมงค์คลองไผ่ฯ โดย ขร. ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ข้างต้น ณ สถานที่เกิดเหตุดังกล่าว พร้อมทั้งมีหนังสือรายงานผลถึงกระทรวงคมนาคม (คค.) เพื่อมอบหมายให้ รฟท. พิจารณา ดังนี้

1. ตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งรายงานสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ รวมถึงดำเนินการปรับปรุงความปลอดภัย ให้เป็นไปตามมาตรฐาน แนวทาง มาตรการ ระเบียบ ข้อกำหนด คู่มือการก่อสร้าง และเอกสารที่แนบในสัญญาก่อสร้าง 

2. ประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตามกฎหมาย เพื่อกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือ และแผนปฏิบัติการพิเศษค้นหาและกู้ภัย ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักวิศวกรรม หลักความปลอดภัย และเป็นไปตามกฎหมายกำหนด ทั้งนี้ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ป้องกันการสูญเสียซ้ำซ้อน 

3. ตรวจสอบสัญญาจ้างก่อสร้าง ในส่วนของความรับผิดชอบ ประกันภัย รวมทั้งมาตรการเยียวยาให้กับผู้เสียหาย และสั่งการผู้รับจ้างและที่ปรึกษาควบคุมงานที่อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างของ รฟท. ทั่วประเทศ ตรวจสอบความปลอดภัยโครงการก่อสร้าง กรณีพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย ให้แจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการทราบ เพื่อดำเนินการปรับปรุงความปลอดภัยโดยเร็ว โดยเฉพาะโครงการที่มีการขุดเจาะอุโมงค์ให้เฝ้าระวังความปลอดภัยเป็นพิเศษโดยใช้มาตรการความปลอดภัยสูงสุด 

ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ) ได้สั่งการให้ รฟท. ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด พร้อมทั้งรายงานสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงดำเนินการปรับปรุงความปลอดภัย ซึ่งขณะนี้ให้หยุดการก่อสร้างอุโมงค์ไว้ชั่วคราว และรอผลการวิเคราะห์สาเหตุของอุบัติเหตุอย่างเป็นทางการ ก่อนดำเนินการก่อสร้างต่อไป

นอกจากนี้ คณะทำงานวิเคราะห์สาเหตุของอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ทางราง ซึ่งมีอธิบดีกรมการขนส่งทางรางได้กำหนดประชุมในวันที่ 10 กันยายน 2567 เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลด้านเทคนิคที่รวบรวมได้ หาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดดินถล่มภายในอุโมงค์คลองไผ่ และแนวทางการป้องกันเพื่อมิให้เกิดเหตุในลักษณะดังกล่าวซ้ำต่อไป



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ