เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจาก 3.0% ในไตรมาสที่ 3 ปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ เช่น การแจกเงิน 10,000 บาทให้แก่กลุ่มเปราะบางราว 14 ล้านคน รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น นอกจากนี้ ฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนยังช่วยเสริมให้การเติบโตในไตรมาสนี้เด่นชัดยิ่งขึ้น ล่าสุดวิจัยกรุงศรีจึงปรับเพิ่มประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP ในปี 2567 เป็น 2.7% จากเดิมที่คาดไว้ 2.4%
สำหรับปี 2568 วิจัยกรุงศรีคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตในอัตรา 2.9% เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญดังนี้ (1) การใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งขึ้น ตามการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ซึ่งขาดดุลงบประมาณสูงถึง 4.5% ของ GDP และการจัดสรรงบลงทุนสูงถึง 0.91 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.5% จากปีงบประมาณก่อนหน้า ช่วยสนับสนุนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (2) ภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่ 40 ล้านคนในปี 2568 จาก 35.6 ล้านคนในปี 2567 ปัจจัยหนุนมาจากแรงส่งด้านความต้องการเดินทางต่างประเทศ ความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และอานิสงส์จากมาตรการวีซ่าฟรี (3) การลงทุนโดยรวม คาดว่าจะเติบโตในระดับปานกลาง โดยมีแรงหนุนสำคัญจากการเร่งลงทุนของภาครัฐ ในขณะที่การเติบโตของการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะพลิกเป็นบวกเล็กน้อย ท่ามกลางปัญหาเชิงโครงสร้างในอุตสาหกรรมหลัก (4) การส่งออก มีแนวโน้มขยายตัว 2.7% ในปี 2568 แม้จะชะลอลงบ้างจากปี 2567 ที่คาดว่าจะเติบโต 3.9% ปี 2567 ท่ามกลางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ทรงตัว ความตึงเครียดทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของภาคการผลิตในประเทศ (5) การบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงสู่ระดับที่ใกล้เคียงกับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (GDP growth) ท่ามกลางแรงกดดันจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปี 2567 สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ 2.00% ในไตรมาส 1 ปี 2568 เพื่อบรรเทาความตึงตัวของภาวะทางการเงินและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2568 คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1% ซึ่งใกล้ขอบล่างของกรอบเป้าหมายของทางการ แม้จะเพิ่มขึ้นจากปี 2567 แต่ยังอยู่ในระดับต่ำและเอื้อให้กนง.สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้บ้าง
ดร. พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (จำกัด) มหาชน กล่าวว่า “ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากปี 2567 โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการใช้จ่ายภาครัฐและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงและความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายในและภายนอกยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม อาทิ ความตึงเครียดทางการค้าที่อาจรุนแรงขึ้นจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การทะลักเข้าของสินค้านำเข้าจากจีน ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงครึ่งแรกของปี รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงซึ่งจะยังคงกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม”