“วิริยะตะกาฟุล” ประกันภัยตามหลักศาสนาอิสลาม คุ้มครองพี่น้องมุสลิมทั่วไทย พร้อมรับมือกับภัยทุกสถานการณ์

วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2567

“วิริยะตะกาฟุล” ประกันภัยตามหลักศาสนาอิสลาม คุ้มครองพี่น้องมุสลิมทั่วไทย พร้อมรับมือกับภัยทุกสถานการณ์


ความต้องการของผู้บริโภค เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นถึงความสำคัญ และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย ให้ครอบคลุมถึงประชาชนทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ประกอบกับประเทศไทยนั้น มีผู้นับถือศาสนาอย่างแตกต่างหลากหลาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ชาวไทยมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลาม โดยมีจำนวนผู้นับถือมากเป็นอันดับ 2 ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่การเข้าถึงประกันภัยของศาสนาอิสลามนั้น ยังมีข้อจำกัดที่แตกต่างจากการประกันไปทั่วไป บริษัทฯ จึงได้ริเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์การบริการประกันวินาศภัยที่ถูกต้องตามหลักการของศาสนาอิสลาม ภายใต้โครงการ “วิริยะตะกาฟุล”

สำหรับโครงการวิริยะตะกาฟุล ถูกริเริ่มขึ้นด้วยเจตนารมณ์ของบริษัทฯ ที่ต้องการให้พี่น้องมุสลิม รวมถึงประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย สามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้อย่างถูกต้อง และนำมาใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในชีวิตประจำวัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนยามเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด รวมทั้งเป็นหลักประกันที่มั่นคง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของโลกในปัจจุบัน โดยยังคงยึดหลักอยู่บนพื้นฐานสำคัญของหลักการตะกาฟุล คือ การให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน (อัต-ตะอาวุน) และการบริจาค (อัต-ตะบัรรุอ) ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการชะรีอะฮ์วิริยะตะกาฟุล ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของท่านจุฬาราชมนตรีปัจจุบัน

ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข รองประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ในนามคณะกรรมการชะรีอะฮ์ โครงการวิริยะตะกาฟุล ได้เปิดเผยถึง หลักการบริหารจัดการของโครงการฯ ว่ามีการจัดการเงินของสมาชิกอย่างชัดเจนและถูกต้องตามหลักการของศาสนา โดยแยกเงินสมทบ (กิสฎ์) แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรก คือ ค่าธรรมเนียมหรือค่าบริหารจัดการ (อัลอัจรุ) ส่วนที่สอง คือ กองทุนตะกาฟุลของสมาชิก (ตะบัรรุอ) กองทุนนี้จะถูกนำไปใช้ในการบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกที่ประสบความสูญเสีย ซึ่งปัจจุบันดำรงอยู่ที่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

โดยสาเหตุที่วิริยะตะกาฟุล มีหลักการบริหารจัดการที่แตกต่างจากประกันภัยทั่วไปนั้น เนื่องด้วยหลักการของประกันทั่วไป ถือเป็นสิ่งต้องห้ามในบัญญัติอิสลามหลายประการ ประการแรก คือ ความคลุมเครือ (ฆอรอร) การให้เงินชดเชยจะให้ก็ต่อเมื่อเกิดเหตุการณ์สูญเสียขึ้น ซึ่งเหตุการณ์อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ ประการที่สอง คือ การพนันเสี่ยงโชค (มัยซิร) กล่าวคือผู้เอาประกันภัยบางคนจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยน้อย แต่ได้รับเงินสินไหมทดแทนเป็นจำนวนมาก บางคนจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยมาก แต่ได้รับเงินสินไหมทดแทนน้อย หรือไม่ได้รับเลย คล้ายกับการเสี่ยงโชคไว้กับการสูญเสียในอนาคต ประการที่สาม คือ ระบบดอกเบี้ย (ริบา) ซึ่งถือเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเด็ดขาดสำหรับชาวมุสลิม และประการสุดท้าย คือ การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต้องห้ามในบทบัญญัติอิสลาม เช่น สุรา การพนัน สุกร สิ่งลามก รวมถึงการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยด้วยเช่นกัน

ดังนั้น วิริยะตะกาฟุล จึงเป็นการทำประกันที่ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นเรื่องของผลกำไรเป็นหลัก แต่ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกในกลุ่ม ตามหลักการพื้นฐานของตะกาฟุล จึงอยากสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องชาวมุสลิม รวมถึงประชาชนทั่วไป ในการใช้บริการของวิริยะตะกาฟุล ด้วยความน่าเชื่อถือของบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่มีประสบการณ์การให้บริการด้านประกันวินาศภัยมาอย่างยาวนานมากกว่า 77 ปี และมีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบโครงการนี้ขึ้นโดยเฉพาะ โดยมี คุณกาญจนา เอี่ยมโสภา ผู้จัดการโครงการวิริยะตะกาฟุล เป็นผู้ดูแลขับเคลื่อนโครงการ ทนทนพร้อมเน้นย้ำความเชื่อมั่น ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการชะรีอะฮ์วิริยะตะกาฟุล ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 ท่าน ได้แก่ 1. ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข ประธานกรรมการ 2. คุณสันติ (อาลี) เสือสมิง กรรมการ 3. ดร.สมิธ อีซอ กรรมการ และ 4. คุณนิมิตร เลาะมะ กรรมการ เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการบริหารจัดการกองทุนตะกาฟุล ด้านการเงินและการลงทุน ให้ถูกต้องไม่ขัดต่อบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้มีการพัฒนาการดำเนินงานและขยายงานโครงการวิริยะตะกาฟุลอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดอบรมเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้บริหารและพนักงานสาขาของวิริยะประกันภัย รวมถึงตัวแทนประกันวินาศภัยของบริษัทฯ ซึ่งมุ่งเน้นไปยังพื้นที่ของชุมชนมุสลิมขนาดใหญ่ ก่อนจะขยายเครือข่ายงานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้พี่น้องมุสลิม และประชาชนทุกเชื้อชาติ ศาสนาในสังคมไทย สามารถเข้าถึงการประกันภัยวิริยะตะกาฟุลอย่างทั่วถึง อีกทั้ง ทางโครงการยังได้มีการวางแผนจัดการกองทุน เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมการดำเนินภารกิจเพื่อสังคม (CSR) โดยในปีที่ผ่านมา กองทุนดังกล่าวได้ถูกนำไปช่วยเหลือประชาชนจากเหตุการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่ 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ และจะพัฒนาไปสู่การช่วยเหลือสังคมในด้านอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการชะรีอะฮ์

ทั้งนี้ กระบวนการทั้งหมดของโครงการวิริยะตะกาฟุล ดำเนินงานภายใต้หลักการ “ความเป็นธรรม คือนโยบาย” เพื่อให้พี่น้องมุสลิมทุกท่านได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นธรรมและได้รับความคุ้มค่า เฉกเช่นเดียวกับลูกค้าวิริยะประกันภัยทุกท่าน



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ