นพ. นิยม วิวรรธนดิฐกุล ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เผย กมธ. วิสามัญฯ เสนอ 3 แนวทางจัดการบุหรี่ไฟฟ้า ระบุเสียงส่วนใหญ่เห็นควรให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย โดยเน้นควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อปกป้องเยาวชน และลดปัญหาสุขภาพในระยะยาว พร้อมย้ำการทำงานโปร่งใส ปราศจากการแทรกแซงใดๆ
นพ. นิยมกล่าวว่า “ขณะนี้ปัญหาการใช้งานบุหรี่ไฟฟ้าแพร่หลายในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างน่ากังวล ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่จำเป็นต้องถูกปรับปรุงและเข้มข้นขึ้น จากการศึกษาของ กมธ. ได้เสนอแนวทางการจัดการกับบุหรี่ไฟฟ้าเป็น 3 แนวทาง ได้แก่
แนวทางที่ 1. คงมาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้าในทุกประเภทอย่างเข้มงวดเหมือนปัจจุบัน พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมายให้ครอบคลุมและรัดกุมยิ่งขึ้น
แนวทางที่ 2. การทำให้ผลิตภัณฑ์ Heated Tobacco Products ถูกกฎหมาย แนวทางนี้เสนอให้นำผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ให้ความร้อน หรือ Heated Tobacco Products ขึ้นมาถูกกฎหมาย แต่ยังคงแบนบุหรี่ไฟฟ้าประเภทไอระเหย (Vaping) ที่ได้รับความนิยมในหมู่เยาวชน
แนวทางที่ 3. การยอมรับบุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภทให้ถูกกฎหมาย แนวทางนี้เสนอให้นำบุหรี่ไฟฟ้าทั้งหมด รวมถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ให้ความร้อนขึ้นมาบนดิน แต่จะต้องถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด โดยห้ามแต่งสีหรือกลิ่นที่อาจจูงใจเยาวชน”
นพ. นิยม เปิดเผย ต่อว่า “จากการรวบรวมความเห็นของ กมธ. พบว่า กมธ. ส่วนใหญ่ 21 คน สนับสนุนแนวทางที่ 3 ซึ่งเสนอการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ให้ความร้อนทุกประเภทถูกกฎหมาย พร้อมกำหนดมาตรการควบคุมที่เข้มงวด ขณะที่แนวทางที่ 2 ได้รับการสนับสนุนจาก 5 คน และแนวทางแรกมีผู้สนับสนุน 8 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนตัวผมงดออกเสียง เพื่อรักษาความเป็นกลาง” ตอนนี้รายงานได้ถูกนำส่งให้สภาผู้แทนราษฎรแล้ว ตอนนี้ก็รอบรรจุเพื่อสภาฯ รับทราบแล้วก็จะลงมติเฉพาะที่เป็นข้อสังเกตต่างๆ แล้วส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
เกี่ยวกับข้อกังวลเรื่องการเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศจีน นพ. นิยมชี้แจงว่าการเดินทางครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการผลิตและมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่หลากหลาย โดยไม่ได้มีธงสนับสนุนหรือคัดค้านแนวทางใด “วัตถุประสงค์หลักคือการศึกษาระบบการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในภาพรวม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานที่เป็นของภาครัฐเกี่ยวกับนโยบาย และดูมาตรฐานการผลิตในโรงงานซึ่งทำให้เห็นว่ามีการรักษามาตรฐานการผลิตอย่างไร ทดสอบผลิตภัณฑ์อย่างไร”
ด้าน นายทศพร ทองศิริ โฆษก กมธ. เสริมว่า “โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าการแบนบุหรี่ไฟฟ้าตลอด 10 ปีของประเทศไทยไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย ควรเอาขึ้นมาบนดิน ใช้กฎหมายควบคุม และยิ่งได้ไปศึกษาแลกเปลี่ยนกับจีน ได้เห็นกระบวนการผลิต การบังคับใช้กฎหมาย การไปศึกษาดูงานทำให้เห็นมิติต่างๆ ที่หลากหลาย จะมองในด้านมิติสุขภาพอย่างเดียวไม่ได้ มันมีหลายๆ มิติ มีมิติทางเศรษฐกิจ สังคม ทางกฎหมายอีกหลากหลายที่ต้องนำเข้ามาพิจารณาด้วย”
ด้านข้อกังวลเรื่องการแทรกแซงจากอุตสาหกรรมยาสูบ นพ.นิยม ยืนยันว่า กรรมาธิการทั้ง 35 คน มาจากการแต่งตั้งตามสัดส่วนของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ส่วนกรณีมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับกรรมาธิการ 2 ท่าน ก็ไม่พบหลักฐานชัดเจน และทั้งสองท่านก็ไม่ได้มีบทบาทโน้มน้าวกรรมาธิการท่านอื่น
นายแพทย์นิยมยืนยันว่าการศึกษาครั้งนี้ไม่มีผลประโยชน์หรือการแทรกแซงจากธุรกิจยาสูบ ทุกอย่างทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก โดยเฉพาะการปกป้องเยาวชนจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า
“ไม่ว่ารัฐบาลจะเลือกแนวทางใด สิ่งสำคัญคือต้องมีการปรับปรุงกฎหมายให้มีความชัดเจนและครอบคลุม เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า และลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาว” นพ. นิยม ย้ำปิดท้าย