ครม. ไฟเขียว พ.ร.บ.การท่าเรือฯ ฉบับใหม่ ลุยจัดตั้งบริษัทลูก เดินหน้าพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ-แหลมฉบังเต็มรูปแบบ

วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2568

ครม. ไฟเขียว พ.ร.บ.การท่าเรือฯ ฉบับใหม่ ลุยจัดตั้งบริษัทลูก เดินหน้าพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ-แหลมฉบังเต็มรูปแบบ


"มนพร" เผย ครม. ไฟเขียว พ.ร.บ.การท่าเรือฯ ฉบับใหม่ ลุยจัดตั้งบริษัทลูก เดินหน้าพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ-แหลมฉบังเต็มรูปแบบ มั่นใจช่วยดันเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น หนุนประชาชนมีรายได้เพิ่ม พร้อมมอบหมาย กทท. จัดทำแผนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผุดเป็นแผนแม่บท วางแนวทางการพัฒนากิจการของการท่าเรือให้มีความทันสมัยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (21 มกราคม 2568) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย ฉบับใหม่ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 โดยปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย เพิ่มเติมวัตถุประสงค์และอำนาจการดำเนินกิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) พร้อมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจของคณะกรรมการ กทท. ให้มีความเหมาะสม

ทั้งนี้ พ.ร.บ. การท่าเรือแห่งประเทศไทยฉบับใหม่นั้น กทท. สามารถดำเนินการกิจการต่าง ๆ ภายใต้ขอบเขตวัตถุประสงค์ของ กทท. ได้ ที่สำคัญให้ กทท. สามารถจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ทั้งในและนอกราชอาณาจักร เพื่อประกอบธุรกิจกับหรือเกี่ยวเนื่องในกิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาท่าเรือในประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ ดังนั้น จึงมีแนวทางที่จะให้ กทท. จัดจั้งบริษัทย่อย เพื่อต้องการให้มีการบริหารจัดการแบบเจาะจง โดยเฉพาะการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉะบัง ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีศักยภาพระดับสากล โเยการพัฒนาท่าเรือทั้ง 2 แห่ง ดังกล่าว จะทำมาซึ่งการเติบโตของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GPD) รวมถึงสร้างโอกาสให้กับประชาชนได้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วย

นางมนพร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ พ.ร.บ.การท่าเรือฯ ฉบับใหม่ ยังเพิ่มเติมให้ กทท. สามารถลงทุนหรือเข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดทั้งในและนอกราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์แก่กิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ด้วยเช่นกัน พร้อมกันนี้ กทท. สามารถทำนิติกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ การถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง มีทรัพยสิทธิ หรือเป็นการก่อตั้งสิทธิหรือกระทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์ได้ อีกทั้งกำหนดให้ กทท. มีเฉพาะอำนาจเรียกเก็บค่าภาระการใช้ท่าเรือ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ และค่าภาระต่าง ๆ ภายในอาณาบริเวณ ขณะเดียวกันได้กำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยเกี่ยวกับการใช้ท่าเรือ การให้บริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ รวมทั้ง การจัดการเกี่ยวกับการสาธารณสุขและคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาณาบริเวณ 

นอกจากนี้ กทท. สามารถออกพันธบัตรหรือตราสารเพื่อใช้ในการดำเนินการที่เป็นประโยชน์แก่กิจการของ กทท. ได้ และ สามารถเช่าหรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ กทท. ตามความจำเป็น โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะควบคู่ไปด้วย เนื่องจากปัจจุบันกรอบยุทธศาสตร์ของการท่าเรือฯ มีการกำหนด กลยุทธ์ในการจัดทำโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย หรือ Smart Community ที่ต้องมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของการท่าเรือฯ จึงต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้ กทท. จัดทำแผนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเป็นแผนแม่บทสำหรับการดำเนินการในอนาคต โดยแสดงถึงเป้าหมายและแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ กทท. และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ (ร่างมาตรา 27) ต่อไป



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ