กรมการขนส่งทางรางเผยรถไฟฟ้าฟรีวันแรกตามมาตรการลดฝุ่นละออง PM2.5 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลของรัฐบาล พบว่ามีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ารวม 1.63 ล้านคน-เที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.29 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยวันเสาร์ในสามสัปดาห์ของเดือนมกราคม 2568
วันนี้ (26 มกราคม 2568) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า เมื่อวาน (25 มกราคม 2568) เป็นวันแรกที่มีมาตรการส่งเสริมให้ใช้บริการขนส่งสาธารณะรถไฟฟ้าทุกสายทางและรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ฟรี ระหว่างวันที่ 25-31 มกราคม 2568 รวม 7 วัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกิดจากยานพาหนะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามข้อสั่งการของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ พบว่า มีผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 1,634,446 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 45.29 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยวันเสาร์ในสามสัปดาห์ของเดือนมกราคม 2568 (ค่าเฉลี่ยฯ) ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. รถไฟฟ้า Airport Rail Link มีผู้ใช้บริการจำนวน 68,903 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 14,049 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.61)
2. รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) มีผู้ใช้บริการจำนวน 35,705 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 8,951 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.46)
3. รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) มีผู้ใช้บริการจำนวน 451,251 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 124,247 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.00)
4. รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) มีผู้ใช้บริการจำนวน 59,160 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 13,361 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.17)
5. รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) มีผู้ใช้บริการจำนวน 857,878 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 270,591 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.07)
6. รถไฟฟ้าสายสีทอง มีผู้ใช้บริการจำนวน 18,691 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 10,966 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 141.95)
7. รถไฟฟ้าสายนัคราพิพัฒน์ (สีเหลือง) มีผู้ใช้บริการจำนวน 63,796 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 30,687 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 92.68)
8. รถไฟฟ้าสายสีชมพูให้บริการ มีผู้ใช้บริการจำนวน 79,062 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 36,619 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 86.28)
ซึ่งหากเรียงลำดับ จะพบว่า มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีทองเพิ่มมากขึ้น 2.42 เท่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยสามเสาร์ที่ผ่านมา รองลงมาคือรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู เพิ่มขึ้นร้อยละ 92.68 และร้อยละ 86.28 ตามลำดับ โดยทั้งสามสายทางเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (feeder) ที่มีเส้นทางผ่านที่อยู่อาศัยของประชาชนและเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนหลัก
นายพิเชฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับรถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ให้บริการรวม 215 ขบวน มีผู้ใช้บริการจำนวน 75,303 คน-เที่ยว ประกอบด้วย ผู้โดยสารขบวนรถเชิงพาณิชย์ 31,850 คน-เที่ยว และขบวนรถเชิงสังคม 43,453 คน-เที่ยว ลดลงจำนวน 3,116 คน-เที่ยว หรือลดลงร้อยละ 3.97 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยวันเสาร์สามสัปดาห์ของเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ภาพรวมวันที่ 25 มกราคม 2568 มีผู้ใช้บริการระบบรางรวมทั้งสิ้น 1,709,749 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 506,355 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.08 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยวันเสาร์สามสัปดาห์ของเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา
นายพิเชฐ กล่าวปิดท้ายว่า นับเป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนร่วมเข้าใช้ระบบรถไฟฟ้าที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน ช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล อันเป็นแนวทางที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ช่วยลดมลภาวะทางอากาศ รวมทั้งจะช่วยส่งผลให้ฝุ่นละออง PM2.5 ลดลงอีกด้วย สำหรับในวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นวันจันทร์วันแรกของสัปดาห์คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้าจำนวนมากในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเช้าและเย็น แม้ว่ารัฐบาลและกรุงเทพมหานครมีนโยบายส่งเสริมการทำงานที่บ้าน (work from home :WFH) ควบคู่ด้วยเช่นกัน กรมการขนส่งทางรางจึงได้ประสานผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าเพิ่มความถี่ในการให้บริการในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ปริมาณผู้โดยสารที่สถานีรถไฟฟ้าต่างๆ เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มความถี่ในการให้บริการและเพิ่มช่องทางการออกบัตร/เหรียญโดยสารเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนได้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้ผู้ใช้บริการระบบรางได้รับความสะดวก รวดเร็วและมีความปลอดภัยสูงสุดต่อไป