กรมทางหลวง โชว์นวัตกรรม! สร้างสะพาน Network Tied Arch ไร้เสาตอม่อข้ามเจ้าพระยาแห่งแรกในไทย

วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

กรมทางหลวง โชว์นวัตกรรม! สร้างสะพาน Network Tied Arch ไร้เสาตอม่อข้ามเจ้าพระยาแห่งแรกในไทย


กรมทางหลวง โชว์นวัตกรรม! สร้างสะพาน Network Tied Arch ไร้เสาตอม่อข้ามเจ้าพระยาแห่งแรกในไทย เชื่อม ทล.311 และ ทล. 32 ผ่านกลางเมืองสิงห์บุรี บรรเทารถติด กระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

กรมทางหลวงภายใต้การนำของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขับเคลื่อนนโยบาย "คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย" เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง ลดปัญหาจราจร และส่งเสริมเศรษฐกิจ

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวงได้รับงบประมาณปี 2568 ให้ดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 311 ช่วงแยกศาลหลักเมือง - แยกไกรสรราชสีห์ จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งจะช่วยเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 32 บริเวณแยกต่างระดับสิงห์บุรี เพื่อเข้าสู่ตัวเมืองสิงห์บุรี โดยโครงการนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดสิงห์บุรีและพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากทางหลวงหมายเลข 311 เป็นเส้นทางหลักที่เชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 32 เพื่อเข้าสู่ตัวเมืองสิงห์บุรี 
ปัจจุบันมีปริมาณการจราจรหนาแน่น ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง การดำเนินโครงการนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัย ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ส่งเสริมการท่องเที่ยวและพัฒนาเศรษฐกิจ

ลักษณะการก่อสร้างสะพานแห่งนี้ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ตัวสะพานหลักที่ทอดข้ามแม่น้ำ (Arch Bridge) และสะพานเชื่อมทางขึ้นลง หรือที่เรียกว่า (Approach Bridge)

- ก่อสร้างสะพานหลัก เป็นสะพานโค้งแบบเครือข่ายที่มีระบบค้ำยันภายใน (Network Tied Arch Bridge) แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งมีความโดดเด่นทางวิศวกรรมด้วยช่วงยาว 150 เมตร ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาโดยไม่มีเสาตอม่อในน้ำ ทำให้ดูสวยงามและไม่กีดขวางการไหลของน้ำ โดยสะพานนี้ใช้เทคโนโลยี "Network Tied Arch" ที่ทันสมัย ด้วยการใช้สายเคเบิลลายเส้นขึงไขว้กันเป็นรูปแบบเครือข่าย (network cable pattern) ทำให้สะพานสามารถรับน้ำหนักได้มาก เพิ่มความแข็งแรง ลดการโก่งตัวของโครงสร้าง แตกต่างจากสะพานโค้งทั่วไปที่ใช้สายเคเบิลขึงตรง อีกทั้ง ส่วนโค้งและสายเคเบิลยังทำงานร่วมกันเพื่อช่วยถ่ายแรงไปยังพื้นสะพาน ทำให้สะพานมีความมั่นคงและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ผิวจราจรแบบแอสฟัลต์คอนกรีต ขนาด 3 ช่องจราจร (ขาเข้าตัวเมือง) ขนาดความกว้าง 3.50 เมตร ไหล่ทาง 2.50 เมตร พร้อมทางเท้าข้างละ 4.95 เมตร มีความสูงประมาณ 30 เมตร พร้อมงานประดับตกแต่งไฟบนสะพานเพื่อความสวยงามในยามค่ำคืน 

- ก่อสร้างสะพานเชื่อมทางขึ้นลง (Approach Bridge) เป็นสะพานที่เชื่อมต่อถนนหรือทางลาดเข้ากับตัวสะพานหลัก ทำหน้าที่รองรับการจราจรที่เข้าและออกจากสะพานหลัก ช่วยกระจายแรงและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงความสูงระหว่างถนนกับสะพาน สร้างด้วยคอนกรีตอัดแรงแบบ (I - Girder) มีเสาเข็มเจาะเป็นฐานราก มีทั้งหมด 6 ช่วง แบ่งเป็นช่วงยาว 20 เมตร จำนวน 3 ช่วง และช่วงยาว 25 เมตร จำนวน 3 ช่วง รวมความยาว 135 เมตร ขนาด 3 ช่องจราจร (ขาเข้าตัวเมือง) ขนาดความกว้าง 3.50 เมตร ไหล่ทาง 2.50 เมตร ผิวทางแบบแอสฟัลต์คอนกรีต  นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างเชิงลาดคอสะพาน กำแพงกันดิน เพื่อให้การเชื่อมต่อระหว่างสะพานกับถนนเป็นไปอย่างราบรื่น ปลอดภัย และลดการทรุดตัวบริเวณรอยต่อ" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรและลดปัญหาการจราจรติดขัด 

นอกจากนี้ กรมทางหลวงได้ออกแบบปรับปรุงจุดตัดทางแยกบนทางหลวง บริเวณแยกศาลหลักเมือง (จุดตัดระหว่าง ทล.311, ทล.309 และ ทล.3030) ถึงบริเวณแยกไกรสรราชสีห์ (จุดตัดระหว่าง ทล.311, ทล.335 และทางหลวงชนบท สห.3032) โดยปรับจากสี่แยกไฟแดงเป็นวงเวียน และปรับปรุงแยกขุนสรรค์ (จุดตัดระหว่าง ทล.311 และถนนขุนสรรค์) พร้อมทั้งดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์และสร้างพื้นที่สันทนาการริมฝั่งแม่น้ำ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะได้อย่างเต็มที่ 

โครงการดังกล่าวดำเนินการโดยสำนักสำรวจและออกแบบ และสำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 1,100 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างกลางปี พ.ศ. 2568 และมีกำหนดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2570

เมื่อโครงการแล้วเสร็จ ประชาชนในจังหวัดสิงห์บุรีและพื้นที่ใกล้เคียงจะได้รับประโยชน์มากมาย อาทิ การเดินทางที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น ช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นจากการลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน การจราจรที่คล่องตัว บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ ส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวทำให้เศรษฐกิจเติบโต คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น และการพัฒนาพื้นที่ ปรับปรุงภูมิทัศน์และสร้างพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ