นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 1 และสำนักก่อสร้างทางที่ 2 ได้ดำเนินการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 11 สาย อ.อินทร์บุรี - อ.สากเหล็ก ระยะทาง 80.188 กิโลเมตร เสร็จสมบูรณ์แล้ว โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย "คมนาคม เพื่อโอกาสประเทศไทย" เพื่อพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่ง ยกระดับการเดินทางและขนส่ง เชื่อมโยงระบบขนส่ง เพิ่มความคล่องตัว และลดระยะเวลาการเดินทางระหว่างภาคกลางและภาคเหนือ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12
ทางหลวงหมายเลข 11 สาย อ.อินทร์บุรี - อ.สากเหล็ก เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลข 11 สายอินทร์บุรี - เชียงใหม่ ซึ่งเป็นทางหลวงสายหลักแนวเหนือ - ใต้ เชื่อมการคมนาคมระหว่างภาคกลางกับภาคเหนือ มีระยะทางประมาณ 545 กิโลเมตร
เริ่มต้นจากทางแยกต่างระดับอินทร์บุรี บนทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ผ่านจังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน และสิ้นสุดที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ผ่านมา กรมทางหลวงได้ดำเนินการพัฒนาทางหลวงสายนี้อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้เดินทาง
สำหรับการดำเนินการโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 11 สาย อ.อินทร์บุรี - อ.สากเหล็ก ระยะทาง 80.188 กิโลเมตรนี้ ประกอบด้วย
1.ตอน บ.หนองขว้าว - ไดตาล ตอน 2 พื้นที่ จ.นครสวรรค์ ที่ กม.61+000 ถึง กม.71+665 ระยะทาง 10.665 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 699,543,870 บาท
2.ตอน ไดตาล - เขาทราย ตอน 1 พื้นที่ จ.นครสวรรค์ ที่ กม.72+275 - กม.92+275 ระยะทาง 20 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 998,888,000 บาท
3.ตอน ไดตาล - เขาทราย ตอน 2 พื้นที่ จ.นครสวรรค์ ที่ กม.92+275 - กม.112+275 ระยะทาง 20 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 999,399,338 บาท
4.ตอน ไดตาล - เขาทราย ตอน 3 พื้นที่ จ.พิจิตร ที่ กม.112+275 - กม.131+798 ระยะทาง 19.523 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 999,559,709 บาท
การดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้ได้ยกระดับมาตรฐานทางชั้นพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร (ไป - กลับ) เดิมขนาด 2 ช่องจราจร (วิ่งสวนกัน) ผิวจราจรแอสฟัลต์คอนกรีต ช่องจราจรกว้าง 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร มีเกาะกลางถนนแบบร่อง พร้อมก่อสร้างสะพานคอนกรีตและติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างตลอดเส้นทาง รวมงบประมาณ 4,297,068,357 บาท
ปัจจุบันโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้ประชาชนใช้เส้นทางแล้ว ทางหลวงสายนี้เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ เชื่อมโยงการเดินทาง การท่องเที่ยว และการขนส่งโลจิสติกส์ ระหว่างภาคกลางและภาคเหนือ ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร ลดความเสี่ยงอุบัติเหตุ เพิ่มประสิทธิภาพการจราจร รองรับปริมาณจราจรในอนาคต ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวในภูมิภาค
กรมทางหลวงมุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายทางหลวงให้มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการเดินทางและการขนส่ง กระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมทางหลวง 1586 (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง)"