ม.รังสิต รุกธุรกิจการแพทย์ทุ่ม 7.5 พันล้านบาท ผุดโรงพยาบาล อาร์เอสยู อินเตอร์เนชั่นเนล ยึดหัวหาดทำเลทองเพชรบุรีตัดใหม่ เจาะลูกค้าต่างชาติ-คนไทย ชูจุดแข็งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ล่าสุด MOU พันธมิตร ตอกเข็มเร็วๆนี้ คาดปี2570
.
นายอภิวัฒิ อุไรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RSU International Hospital – RIH เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยรังสิตกำลังเดินหน้าดำเนินธุรกิจโรงพยาบาล ภายใต้ชื่อโรงพยาบาล อาร์เอสยู อินเตอร์เนชั่นเนล ซึ่งล่าสุดได้ จัดพิธีลงนามสัญญาการก่อสร้างหลักกับบริษัท พรีบิลท์ จํากัด (มหาชน) และสัญญาว่าจ้างระบบสัญจรแนวดิ่งกับบริษัท โคเน่ จำกัด (มหาชน) ในวันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 ณ มหาวิทยาลัยรังสิต โดย ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานกรรมการ และคุณอภิวัฒิ อุไรรัตน์ พร้อมทั้งคณะผู้บริหารของแต่ละองค์กร
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยรังสิตได้เล็งเห็นศักยภาพว่ามีความเชี่ยวชาญด้านแพทย์ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากธุรกิจกลุ่มโรงพยาบาลเครือพญาไทเมื่อ 30-40 ปีก่อน หลังจากนั้นได้มาสร้างมหาวิทยาลัยรังสิตเพื่อเป็นการเสริมสร้างบุคลากรทางการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ รังสีเทคนิค ทั้งนี้โรงพยาบาลอาร์เอสยู อินเตอร์เนชั่นเนล จะให้บริการทางการแพทย์อย่างครบถ้วน ด้วยเทคโนโลยีที่สูงขึ้นไป เพื่อสามารถรองรับความเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของประเทศไทย
โดยโรงพยาบาลอาร์เอสยู อินเตอร์เนชั่นเนลจะมี 280 เตียง สามารถรองรับผู้ป่วยนอกได้ประมาณวันละ 3,000 คน ผู้ป่วยในประมาณ 300-400 คนต่อวัน ด้วยลงทุนประมาณ 7,000-7,500 ล้านบาท ตั้งอยู่บนทำเลทองถนนเพชรบุรีตัดใหม่ นับได้ว่าเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่ติดถนนใหญ่ สำหรับความพิเศษของโรงพยาบาล คือได้รับการสนับสนุนจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณณ์ รวมถึงทีมบริหารที่มีประสบการณ์ในการบริหารโรงพยาบาลเอกชนทั้งเครือโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์โรงพยาบาลกรุงเทพ ที่จะเข้ามาช่วยกันสร้างเสริมความแข็งแกร่งเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ไปได้
อย่างไรก็ตามกำลังจะมีการเริ่มก่อสร้างในเร็วๆนี้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2570 เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายต่างชาติ 30 -40% กลุ่ม CLMV เอเชีย ยุโรป และอเมริกา ที่เหลือจะเป็นกลุ่มลูกค้าคนไทย 60-70% โดยราคาจะสามารถแข่งขันได้ ส่วนทำเลดังกล่าวเป็นทำเลที่มีการแข่งขันในธุรกิจโรงพยาบาลสูง แต่เราสามารถเป็นพันธมิตรได้กับทุกโรงพยาบาลสามารถช่วยเหลือ และสร้างเสริมความแข็งแกร่งของโรงพยาบาล
จุดเด่นอีกประการหนึ่งคือ ใกล้ทางด่วน ใกล้จุดเดินทางเชื่อมโยงให้บริการได้สะดวก ทั้งนี้โรงพยาบาลจะให้ความร่วมมือกับคณะต่างๆในมหาวิทยาลัยรังสิต เช่น ความร่วมมือด้านการวิจัย การสร้างเสริม Training บุคลากร พยายามสร้างบุคลากร และกำหนดหลักสูตรต่างๆ เช่นการให้ทุนการศึกษาเพื่อจะสนับสนุนการทำงานในโรงพยาบาลของเรา สามารถป้อนบุคคลการจากมหาวิทยาลัยรังสิตเข้าสู่โรงพยาบาลได้ สำหรับคณะที่ยังขาดแคลน คือ รังสีเทคนิค เทคนิคการแพทย์ พยายาบาล กำลังเป็นที่ต้องการอยากมาก
นอกจากนี้โรงพยาบาลอาร์เอสยู อินเตอร์เนชั่นเนล ยังจะชูจุดเด่นเรื่องการรักษาโรคหัวใจ โรคมะเร็ง (Cancer) โรคทางออร์โธปิดิกส์ โรคยากซับซ้อนต่างๆ นอกจากนี้ยังโรงพยาบาลแห่งแรกที่ดูแลผู้ป่วยด้วยการสร้างคุณภาพสภาพแวดล้อมภายในอาคาร Indoor Environmental Quality (IEQ) ที่เหนือกว่าข้อกำหนดตามมาตรฐานเพื่อการบำบัด ฟื้นฟูสุขภาพ และสุขภาพที่ดี เป็นการออกแบบอาคารอัจฉริยะที่เลียนแบบร่างกายมนุษย์ที่เป็นรูปแบบอุดมคติของโรงพยาบาล วางทิศอาคารอย่างถูกต้อง
และวางแกนอาคารเป็น 2 แกนที่สนับสนุนกัน มีระบบบริการที่สำรองเป็น 2 ระบบ วางอุปกรณ์ที่มีเสียงและการสั่นสะเทือนไว้ที่อาคารจอดรถแยกออกอาคารหลัก ทิศทางการนำอากาศเข้า ออกอยู่ในทิศทางตรงกันข้าม แยกพื้นที่และทางเดินการซ่อมบำรุงออกจากพื้นที่บริการทางการแพทย์ มีเพดานสูงเพื่อลดลดความเสี่ยงจากเชื้อโรคในระดับการหายใจ นอกจากการออกแบบเพื่อให้ได้รับการรับรองตามมาตรฐานโรงพยาบาลสากล JCI, AACI และ ANSI/ASHRAE/ASHE 170-2021: Ventilation of Health Care Facilities Standard ที่เป็นมาตรฐานขั้นสูงโรงพยาบาล RIH ยังออกแบบด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยดด้านต่าง ๆ “After COVID 19 Design” ดังนี้
1. นวัตกรรมการปรับอากาศและระบายอากาศ
นอกจากการออกแบบให้มีความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ความสบาย และการกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยป้องกันการแพร่ของเชื้อโรค และรักษาความสะอาดของอากาศ เสริมด้วยนวัตกรรมการปรับอากาศและระบายอากาศแบบเฉพาะห้อง (Localized Target Air-conditioning) เพื่อป้องกันการแพร่ข้ามของเชื้อโรคระหว่างห้อง ภายในห้องควบคุมทิศทางการไหลของอากาศ ควบคุมความดันของห้อง ปลอดระบบท่อลมและการสะสมเชื้อรา และฆ่าเชื้อโรคในอากาศด้วยแสง UV สำหรับห้องตรวจ, ICU เป็นต้น ห้องเพดานสูงช่วยลดการสะสมของเชื้อโรคในอากาศและความเสี่ยงจากการติดเชื้อโรคทางอากาศระบบการปรับอากาศของห้องพักผู้ป่วย เป็นแบบควบคุมทิศทางการไหลของอากาศจากหน้าห้องไปยังหลังห้องเพื่อป้องกันการปะปนกับอากาศจากห้องน้ำที่เป็นมลภาวะ และระบายอากาศทิ้งจากห้องน้ำออกสู่ภายนอกอาคารโดยตรงเป็นอิสระแต่ละห้อง เพื่อรับประกันคุณภาพความสะอาดของอากาศที่มีความสำคัญต่อสุขภาพของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์
2. นวัตกรรมการออกแบบระบบสุขาภิบาล
การออกแบบให้ระบบท่อน้ำเสียส่วนใหญ่อยู่นอกพื้นที่ปรับอากาศ เพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้อโรคในระหว่างการซ่อมบำรุงระบบท่อน้ำเสีย และใช้หัวระบายน้ำพื้นที่มีคุณสมบัติป้องกันกลิ่น เพื่อป้องกันปัญหาห้องน้ำที่มีกลิ่นเหม็น และเชื้อโรคจากหัวรับน้ำทิ้ง
3. แสงธรรมชาติ
มีการจัดให้แสงธรรมชาติเข้ามาสู่พื้นที่ภายในอาคารให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นประโยชน์ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน อารมณ์ การนอน และการฟื้นไข้ของผู้ป่วย ห้องพักผู้ป่วย ออกแบบให้ห้องน้ำติดผนังภายนอกอาคารเพื่อให้ห้องน้ำได้แสงธรรมชาติ ภายในห้องออกแบบให้บริเวณเตียงผู้ป่วยมีระดับแสงธรรมชาติที่เหมาะสมกับการพักผ่อน และไม่ได้ถูกรบกวนจากแสงจ้าและความร้อน
4. การออกแบบเพื่อความรักในชีวิต
ออกแบบพื้นที่ต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ให้ผู้ป่วย ผู้ใช้บริการ รวมทั้งบุคคลากรทางการแพทย์เข้าถึงพื้นที่สีเขียว เพื่อช่วย การบำบัดด้วยธรรมชาติ จิตใจ อาการซึมเศร้า โดยมีสัญลักษณ์ของอาคารที่เป็นจุดเด่นคือ “หอสุริยประทีป” บริเวณหน้าทางเข้าอาคาร ที่ประกอบด้วยสวนยกระดับที่เป็นพื้นที่สีเขียว ที่สามารถมองเห็นได้ทั้งจากในและภายนอกอาคาร หอนี้ยังช่วยบำบัดมลภาวะทางอากาศจากถนน และเป็นดวงปทีปแห่งชีวิตที่ให้ความสว่างในยามค่ำคืน
5. พร้อมรองรับเทคโนโลยีทางการแพทย์ในอนาคต
รูปแบบของอาคารปลอดการสั่นสะเทือน และระบบปรับอากาศแบบเฉพาะพื้นที่ (Localized Target Air-Conditioning) ทำให้สามารถรองรับเทคโนโลยีการรักษาในอนาคตด้วยเครื่องมือแม่นยำสูง หุ่นยนต์ และการรักษาแบบมุ่งเป้า “Patient Centric” โดยให้บริการทางการแพทย์ที่เข้าถึงผู้ป่วยจากแกนอาคารแนวรัศมีที่มีก้าวเดินน้อยที่สุด
6. การออกแบบเพื่อความยั่งยืน
อาคารได้รับการออกแบบตามมาตรฐานอาคารเขียวในระดับทอง เช่น TREES, LEED, WELL Standards และเป็นอาคารอนุรักษ์พลังงาน เป็นอาคารที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ ออกแบบเพื่อส่งเสริมวิธีการก่อสร้างจากโรงงาน (Factory Build) ลดขยะจากการก่อสร้างตามหลักการ Circular Economy เพื่อให้มีผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
7. พร้อมรองรับภัยพิบัติ
“After COVID 19 Design” รวมถึงการวางผังชั้นที่ 15 สำหรับ EID-Emerging Infectious Disease เพื่อรองรับผู้ป่วยโรคระบาด โดยมีความดันอากาศของห้องที่ควบคุม บวกหรือลบได้, ศูนย์ผู้ป่วยฉุกเฉิน และศูนย์อุบัติเหตุ, ความปลอดภัยด้านอัคคีภัยที่ทุกชั้นของอาคารแบ่งเป็นพื้นที่ป้องกัน 2 พื้นที่ (Defend in Place), ระบบไฟฟ้าสำรอง, ระบบป้องกันน้ำท่วม, การป้องกันฝุ่น PM2.5