ส.วิศวกรโครงสร้างฯ ชี้ หลังแผนดินไหวพบอาคารจำนวนมากได้รับความเสียหาย แนะแนวทางการตรวจสอบรอยร้าวและการซ่อมแซมโครงสร้างเบื้องต้น

วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2568

ส.วิศวกรโครงสร้างฯ ชี้ หลังแผนดินไหวพบอาคารจำนวนมากได้รับความเสียหาย แนะแนวทางการตรวจสอบรอยร้าวและการซ่อมแซมโครงสร้างเบื้องต้น


หลังจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. เริ่มคลี่คลายลง พบว่าอาคารจำนวนมากได้รับความเสียหาย และต้องมีการประเมินด้านความปลอดภัยก่อนการเข้าใช้อาคาร ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทยและอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า ขณะนี้เจ้าของอาคารเริ่มตรวจสอบความเสียหายในอาคารของตนและเริ่มมีการซ่อมแซมแล้ว จึงจำเป็นต้องมีแนวทางตรวจสอบตามหลักวิศวกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นอาคารสูง โดยขอให้เน้นตรวจสอบรอยร้าวและการกะเทาะหลุดของคอนกรีตที่บริเวณเสาและผนังปล่องลิฟต์ของอาคาร เนื่องจากเป็นโครงสร้างหลักที่รับน้ำหนัก และมีจุดสังเกตว่ารอยร้าวและการกะเทาะหลุดของคอนกรีต จะเกิดขึ้นที่บริเวณโคนเสาด้านล่างและปลายเสาด้านบน โดยเฉพาะอาคารสูงให้ระวังรอยร้าวที่เสาชั้นล่างๆ และเสาที่บริเวณกึ่งกลางความสูง 
 
 
ความเสียหายของรอยร้าวสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ
 
ระดับที่ 1 – ไม่พบรอยร้าว 
 
ระดับที่ 2 – ตรวจพบรอยร้าวในเสาหรือผนังรับน้ำหนัก เห็นเป็นเส้น มีความหนาไม่มาก ไม่ถึง 0.4 มม. (บัตรเครดิตหรือบัตรประชาชนสอดไม่เข้า) รอยร้าวดังกล่าวยังไม่เป็นอันตราย สามารถเข้าใช้สอยอาคาร แต่ก็ควรซ่อมรอยร้าวโดยการฉีดวัสดุประสานรอยร้าว เช่น อีพอกซี เป็นต้น
 
ระดับที่ 3 – ตรวจพบรอยร้าวขนาดใหญ่ในเสาหรือผนังรับน้ำหนัก เป็นเส้นหนาเกิน 0.6 มม. (บัตรเครดิตหรือบัตรประชาชนสอดเข้าไปได้) รอยร้าวดังกล่าวมีผลกระทบต่อโครงสร้าง ควรซ่อมแซมโดยการฉีดวัสดุประสาน หรือใช้เหล็กยึดเจาะเสียบเย็บรอยร้าว
 
สำหรับการกะเทาะหลุดของปูน สามารถจำแนกได้เป็น 4 ระดับ
 
ระดับที่ 1 – ไม่พบการการกะเทาะหลุดของปูน
 
ระดับที่ 2 – ผิวปูนฉาบหลุดออกมา หรือ ผิวคอนกรีตบางส่วนหลุดไม่เกิน 1-2 ซม. แต่ยังไม่เห็นเหล็กเสริม การกะเทาะดังกล่าวยังไม่กระทบต่อกำลังของโครงสร้าง สามารถใช้งานอาคารได้
 
ระดับที่ 3 – คอนกรีตหุ้มเหล็กกะเทาะออกมาทั้งหมด เห็นเหล็กเสริมด้านใน แต่เหล็กเสริมยังตรงอยู่ ควรรีบซ่อมแซมโดยด่วน ก่อนใช้งานอาคาร
 
ระดับที่ 4 – คอนกรีตกะเทาะถึงแกนเสาด้านใน เห็นเหล็กเสริมด้านใน บิด งอ ไม่ตรง เหล็กปลอกง้างออกหรือขาด เป็นความเสียหายที่รุนแรงที่สุด ไม่ควรเข้าใช้อาคาร แต่ควรซ่อมแซมและเสริมความแข็งแรงเสาเสียก่อน 
 
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ อธิบายเพิ่มเติมว่า ความเสียหายระดับที่ 4 มีผลกระทบต่อกำลังรับน้ำหนักของโครงสร้างแล้ว จึงควรรีบปรึกษาวิศวกรโครงสร้างมาให้คำแนะนำในการซ่อมแซมเสริมกำลัง อย่างไรก็ตามมีแนวทางเบื้องต้นในการเสริมความแข็งแรงเสาโดยใช้วิธีการที่เรียกว่า concrete jacketing ในวิธีการนี้ จะทำการเสริมเหล็กแกนเสาเพิ่มเติมโดยใช้วิธีเจาะเสียบเหล็กยึดกับเสาที่เสียหายด้วยกาวอีพอกซี ให้เหล็กเสริมเส้นใหม่ทาบกับเหล็กเส้นเดิมที่บิดงอไปแล้ว จากนั้นพันเหล็กปลอกรอบเหล็กแกนเสาใหม่ แล้วเทคอนกรีตหุ้มทั้งหมด จำนวนเหล็กที่ต้องเสริมเพิ่มควรปรึกษาวิศวกร
 
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เน้นย้ำว่า ความเสียหายระดับที่ 4 เป็นระดับที่รุนแรงที่สุด การซ่อมแซม ไม่ใช่เพียงแค่เอาปูนไปแปะเท่านั้น แต่ควรต้องเสริมเหล็กใหม่ก่อนเทคอนกรีตด้วย ทั้งนี้ แนวทางที่แนะนำเป็นเพียงเบื้องต้นเท่านั้น อาคารแต่ละหลังอาจเกิดเสียหายที่มีรูปแบบเฉพาะ เสาที่เสียหายหนักอาจมีกระจายแรงไปลงที่เสาจุดอื่น จึงอาจต้องเสริมความแข็งแรงเสาเข้าเคียงเพิ่มเติมด้วย จึงควรแจ้งให้วิศวกรที่มีความรู้เข้าตรวจสอบและแนะนำวิธีแก้ไขที่เหมาะสมในแต่ละกรณีจะดีที่สุด 


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ