กรมสรรพสามิต ภายใต้การนำของดร.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต และรัฐมนตรีช่วยฯ เผ่าภูมิ โรจนสกุล ต้องพบกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่เร่งให้สรรพสามิตต้องปรับตัว ปรับโครงสร้างภาษีสินค้าและบริการที่มีอยู่ให้ทันสมัย ตอบโจทย์ความเป็นสากลมากขึ้นผ่านนโยบายภาษีสรรพสามิต
โดยปกติแล้วการสร้างผลงานใหม่ให้กับกระทรวงการคลังค่อนข้างเป็นเรื่องยาก เพราะนโยบายการคลังไม่ใช่ว่าคิดแล้วจะทำได้เลย แต่ต้องผ่านการศึกษาอย่างถี่ถ้วน เพื่อลดผลกระทบกับสังคมให้ได้มากที่สุด คณะทำงานชุดนี้จึงเข้ามาสานต่อในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาษีคาร์บอน ความเค็ม ความหวาน แบตเตอรี และรถยนต์ไฟฟ้า ที่ล้วนแต่ตอบโจทย์เทรนด์ของการบริโภคยุคใหม่ที่ผู้คนใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 67 - กุมภาพันธ์ 68) มีประเด็นที่น่าจับตามอง 2 เรื่อง ได้แก่ การลดลงของภาษีสุรา และยาสูบ
การลดลงของภาษีสุราเป็นเรื่องแปลกใหม่มาก เพราะช่วงต้นปีควรเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง และมีวันหยุดมาก ควรส่งผลให้การจัดเก็บภาษีสุราเพิ่มขึ้นด้วย แต่จากสถิติของกรมสรรพสามิตเดือนกุมภาพันธ์ 2568 พบว่า สรรพสามิตจัดเก็บภาษีสุราได้น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 13.99% และเป็นเช่นนี้ทุกเดือนตั้งแต่เปิดปีงบฯ มา หากดูสถิติย้อนหลังจะพบว่า การจัดเก็บภาษีสุรารายเดือนมีลดลงบ้างก็จริง แต่ก็ไม่ถึงระดับ 2 หลักอย่างที่เกิดขึ้นในปีนี้ จึงควรตั้งข้อสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้นกับการบริโภค และสถานการณ์สินค้าสุราหนีภาษีหรือไม่
สำหรับภาษีบุหรี่ เป็นปัญหากับการจัดเก็บรายได้ของสรรพสามิตมาหลายปีตั้งแต่มีการปรับโครงสร้างภาษีเป็นแบบ 2 อัตราในปี 2560 แม้ว่าจะมีการทำการศึกษามาแล้วหลายครั้งแต่ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าโครงสร้างภาษีแบบไหน และอัตราเท่าไหร่จะตอบโจทย์ทั้ง 4 ด้านของอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.การเพิ่มรายได้สรรพสามิต 2.การช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบ 3.การแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อน และ 4.การลดผลกระทบด้านสาธารณสุข ได้
ทางเลือกของกรมสรรพสามิตขณะนี้มี 2 ทาง ได้แก่ โครงสร้างภาษีแบบอัตราเดียว และโครงสร้างภาษีแบบหลายอัตรา สำหรับกระทรวงการคลังและสรรพสามิต เรื่องที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นการเพิ่มรายได้ภาษี
ด้านรายได้และชาวไร่ยาสูบ
หากต้องการตอบโจทย์ 2 ด้านแรกนี้ การใช้โครงสร้างแบบอัตราเดียว ดูจะเหมาะสมที่สุด เพราะจะเปิดพื้นที่ให้ตั้งราคาสินค้าได้หลากหลายมากขึ้น ไม่กระจุกตัวอยู่ที่เส้นตัดระหว่างกลุ่มราคาสูงและกลุ่มราคาประหยัด ที่จะขึ้นอีกก็สู้ภาษีไม่ไหว ลงอีกก็ไม่เหลือกำไรแบบปัจจุบันนี้ และเมื่อบุหรี่ถูกกฎหมายสร้างรายได้ให้กับเจ้าของสินค้า รวมถึงกรมสรรพสามิตได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อชาวไร่ยาสูบ ตอบโจทย์ด้านชาวไร่ยาสูบตามไปด้วย สำหรับโครงสร้างแบบหลายอัตรา จะทำให้สินค้าหนีตายมาตั้งราคาในกลุ่มราคาประหยัดเท่านั้น และหากมีการลดอัตราภาษี ก็อาจเกิดสินค้าในกลุ่มราคาประหยัดพิเศษ ที่มีราคาถูกมากๆ ซึ่งการตั้งราคาถูกนั้นเราได้เรียนรู้จากโครงสร้างแบบ 2 อัตราแล้วว่า ไม่ทำให้รายได้จากภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้น ดังนั้น การปรับโครงสร้างภาษีแบบหลายอัตรานี้ จะบรรลุเป้าหมายด้านที่ 1 และ 2 ได้หรือไม่คงเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา
ด้านการแก้ไขบุหรี่เถื่อน
เหตุผลหนึ่งของการปรับโครงสร้างภาษีแบบหลายอัตราและมีการลดอัตราภาษี คือราคาบุหรี่ถูกกฎหมายจะลดลงในระดับที่อาจตั้งราคาแข่งกับบุหรี่ผิดกฎหมายได้ เพื่อดันให้ผู้สูบบุหรี่ที่บริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายกลับเข้ามาซื้อสินค้าในระบบอีกครั้ง อย่างไรก็ตามบุหรี่ผิดกฎหมายก็ยังสามารถทำราคาที่แตกต่างได้และราคาก็มิได้เป็นปัจจัยเดียวที่จะทำให้ผู้บริโภคหันกลับมาซื้อบุหรี่ถูกกฎหมาย การกำหนดภาษีหลายอัตราเพื่อให้มีบุหรี่ราคาถูกจึงเท่ากับความเสี่ยงครั้งใหญ่หากผู้บริโภคยังไม่หันกลับมาซื้อบุหรี่ถูกกฎหมาย
ปัญหาบุหรี่ผิดกฎหมาย ไม่ได้เกิดจากบุหรี่ถูกกฎหมายราคาแพงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นเพราะช่องโหว่ชองกฎหมายไทย ที่เปิดโอกาสให้พ่อค้าหัวใสก้าวเข้ามาในธุรกิจที่ความเสี่ยงน้อยกำไรงามนี้ ซึ่งไม่ว่าจะลดราคาอย่างไร แต่ถ้าไม่กำจัดรูรั่วทางกฎหมายก็ไม่สามารถปิดช่องว่างการลักลอบนำเข้าได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนช่วงนี้คือการปรามปรามบุหรี่ไฟฟ้าทั่วไทย แม้ประเทศไทยจะแบนการนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ามากว่า 10 ปี แต่จำนวนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่เคยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เมื่อเริ่มระดมสรรพกำลังปราบปราม จะเห็นได้ว่าผู้ซื้อและผู้ขายต่างออกมาโอดครวญ แต่ก็ยังหาช่องซื้อขายกันได้ต่อไป เพราะช่องโหว่ของกฎหมายยังไม่ถูกปิด ทำให้สินค้าทะลักเข้ามาหาความต้องการของผู้บริโภคเสมอ โดยที่รัฐไม่ได้อะไรเลยเพราะยังเป็นสินค้าผิดกฎหมายอยู่ บุหรี่ผิดกฎหมายก็เช่นกัน การปรับโครงสร้างภาษีไม่ใช่คำตอบสุดท้าย หากไม่มีการปราบปรามอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการแก้ไขกฎหมายเรื่องสินค้าผ่านแดน บุหรี่ผิดกฎหมายก็จะอยู่คู่กับประเทศไทยต่อไป
ด้านสาธารณสุข
สำหรับด้านสุดท้าย การลดผลกระทบด้านสาธารณสุข ซึ่งเกี่ยวข้องกับอัตราภาษีบุหรี่โดยตรง เพราะหน่วยงานสาธารณสุขระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก เชื่อว่าการขึ้นอัตราภาษีให้สูง เพื่อดันราคาสินค้าขึ้นไป จะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ ลดนักสูบหน้าใหม่ และปกป้องเด็กและเยาวชนได้ ดังนั้น หลักการนี้จึงไม่ตรงกับหลักการของการใช้โครงสร้างภาษีแบบหลายอัตราที่จะลดอัตราภาษี เพื่อสร้างกลุ่มราคาประหยัดพิเศษ ที่แม้จะตั้งขึ้นมาเพื่อสู้กับบุหรี่ผิดกฎหมาย แต่ก็อย่าลืมว่าราคานี้จะเพิ่มอัตราการสูบบุหรี่ และจูงใจสร้างนักสูบหน้าใหม่อย่างมีนัยสำคัญ
บทสรุป
ในวันนี้ กรมสรรพสามิตเปิดเผยสถิติการจัดเก็บรายได้ 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 แล้ว ทิศทางของการเก็บภาษีสุรา และบุหรี่ยังคงไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะบุหรี่ที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 14.11% และมีช่องว่างในระดับนี้ทุกเดือน จนน่ากังวลว่าอีกครึ่งปีงบประมาณที่เหลือจะสามารถปิดช่องว่างนี้ได้หรือไม่ น่าจะถึงเวลาที่สรรพสามิตอาจจะต้องกลับมาทบทวนใหม่ว่าหลักการ 4 ข้อที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยก่อนนั้น อาจไม่ใช่โจทย์ที่ถูกต้องและไม่สามารถเป็นไปได้ในความเป็นจริงเพราะมีความขัดแย้งกันเองของวัตถุประสงค์ด้านต่างๆ (conflicting objectives) โดยเฉพาะการใช้โครงสร้างภาษีมาเป็นเหตุผลหนึ่งของการแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อนซึ่งไม่ใช่เหตุและผลของกันและกัน
นาทีนี้คงต้องขอชื่นชม ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล ที่ได้มอบนโยบายไว้ให้อย่างชัดเจนว่ากรมสรรพสามิตจะเดินหน้าสู่ระบบภาษีอัตราเดียว สอดคล้องกับ มติคณะรัฐมนตรีและคำแนะนำของหน่วยงานระดับโลก เราจึงหวังว่าจะได้เห็นระบบภาษียาสูบอัตราเดียวเป็นผลงานที่สำคัญชิ้นหนึ่งที่ ดร.เผ่าภูมิ ได้ฝากไว้ในการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายภาษีสรรพสามิตในเร็ววันนี้