นโยบายเศรษฐกิจแบบโลเล สะท้อนความไม่แน่นอนของรัฐบาล

วันศุกร์ที่ 04 เมษายน พ.ศ. 2568

นโยบายเศรษฐกิจแบบโลเล สะท้อนความไม่แน่นอนของรัฐบาล


“ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน” คำพูดนี้ดูเหมือนจะเป็นสโลแกนที่เหมาะกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนประชาชนและภาคธุรกิจต้องคอยติดตามแบบวันต่อวัน ไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรอีก จนแทบจะหมดความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงได้อย่างไร

หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ถูกแก้แล้วแก้อีก จนแทบจะไม่ “ตรงปก” กับสิ่งที่ได้หาเสียงไว้เมื่อครั้งเลือกตั้ง ตั้งแต่เปลี่ยนช่วงเวลาในการแจก เปลี่ยนแหล่งที่มาของเงิน ทยอยแจกทีละกลุ่ม จนล่าสุดในเฟสที่สามก็ยังคงสร้างความสับสนไม่จบ ตอนแรกมีข่าวว่าเงินนี้จะถูกแจกให้กับประชาชนกลุ่มอายุ 16-20 ปี 2.7 ล้านคน เพื่อนำไปใช้จ่ายผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในอนาคต โดยไม่มีเงื่อนไขในการใช้จ่าย เช่นสามารถนำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเทอมได้ รวมถึงไม่มีการกำหนดห้ามรายการสินค้าที่ไม่เข้าร่วมโครงการ แต่เพียงวันเดียวก็กลับคำใหม่ว่าใช้ได้เฉพาะซื้อสินค้าและจ่ายค่าเทอม ค่าน้ำ ค่าไฟ ไม่ได้ นอกจากนั้น จุดประสงค์ดั้งเดิมของนโยบายที่ตั้งใจจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบ กลับกลายเป็นเพียงการ “ทดลองระบบเงินดิจิทัล” โดยกลุ่มเยาวชน เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีสูง

การปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ไม่เพียงแต่สร้างความไม่แน่นอนให้กับประชาชนเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความขาดความมั่นใจในการตัดสินใจของรัฐบาลเอง หากนโยบายถูกออกแบบมาอย่างรอบคอบตั้งแต่ต้น ย่อมไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเช่นนี้

แต่เรื่องนี้ไม่ใช่กรณีแรกของรัฐบาลชุดนี้ การตัดสินใจที่โลเลเกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่อง “ภาษียาสูบ” ซึ่งกำลังเป็นปัญหาหนักอกของรัฐบาล เพราะรายได้จัดเก็บภาษียาสูบในแต่ละปีลดลงเรื่อยๆ เพราะการแบ่งเก็บภาษีสองอัตรา เป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันลดราคา เพื่อให้เสียภาษีในเทียร์ล่าง จนทำให้ยอดจับเก็บภาษีบุหรี่หดตัวลงทุกปี

กระทรวงการคลังเคยระบุว่าได้มอบหมายให้กรมสรรพสามิตเร่งดำเนินการปรับใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่อัตราเดียว หลังจากที่ได้ทำการศึกษามาเป็นอย่างดีแล้วเพื่อความเป็นธรรมและลดปัญหาการบิดเบือนราคาในตลาด และคาดว่าจะสามารถช่วยให้เก็บรายได้ภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้นได้ 5%

แต่เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกลับเปลี่ยนแนวคิดใหม่อีกครั้ง โดยพิจารณาที่จะทำโครงสร้างภาษีสามอัตรา ซึ่งอาจทำให้บุหรี่บางประเภทมีราคาถูกลง คำถามคือ รัฐบาลต้องการลดราคาบุหรี่เพื่ออะไร? การปรับโครงสร้างและอัตราภาษีบุหรี่ ต้องคำนึงถึง 4 ด้าน ได้แก่ รายได้ภาษีสรรพสามิต ความเป็นอยู่ของชาวไร่ยาสูบ สถานการณ์บุหรี่ผิดกฎหมาย และผลกระทบด้านสาธารณสุข การลดภาษีเช่นนี้ดูจะไม่ตอบโจทย์ทั้ง 4 ด้านเลย และจะสนับสนุนให้คนสูบบุหรี่มากขึ้นหรือไม่

แน่นอนว่ากลุ่มองค์กรด้านสุขภาพ เช่น สสส. และหน่วยงานรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ต่าง ๆ ย่อมไม่อาจนิ่งเฉยต่อเรื่องนี้ เพราะเป็นที่ทราบกันว่าการเก็บภาษีบุหรี่คือหนึ่งในเครื่องมือที่จะลดการบริโภคบุหรี่ เพราะเมื่อราคาบุหรี่สูงขึ้น ผู้บริโภคบางส่วนก็จะตัดสินใจเลิกสูบบุหรี่เพราะรู้สึกเสียดายเงิน การตัดสินใจที่ดูเหมือนจะเอื้อให้ราคาบุหรี่ถูกลง อาจเป็น “วาระซ่อนเร้น” เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ มากกว่าจะเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นด้านสุขภาพของประชาชนจริง ๆ

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ