นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้นางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และประเทศเจ้าภาพ เป็นประธานการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านความร่วมมือทางการเกษตร ภายใต้กรอบ BIMSTEC ครั้งที่ 11 (The 11th Meeting of BIMSTEC Expert Group on Agricultural Cooperation: EGMAC) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 - 30 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ณ โรงแรม ดีวาน่า พลาซ่า ภูเก็ต ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต และผ่านระบบการประชุมทางไกลโดยถือเป็นการประชุม EGMAC แบบพบหน้า (In person) เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
การประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนจากประเทศสมาชิก BIMSTEC ทั้ง 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย รวมถึงผู้แทนจากสำนักเลขาธิการ BIMSTEC พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และสำนักการเกษตรต่างประเทศ โดยมี รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในฐานะประเทศเจ้าภาพเป็นประธานการประชุม (Chair) และ Dr. Amy Soe Director of Department of Planning กระทรวงเกษตร การปศุสัตว์ และชลประทาน ผู้แทนจากเมียนมาในฐานะประเทศนำของสาขาเกษตรและความมั่นคงทางอาหารเป็นประธานร่วม (Co-chair)
สำหรับการประชุม EGMAC ดำเนินการภายใต้สาขาเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การประชุมได้มีการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการร่วมมือด้านการเกษตร และแผนปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านเกษตรของ BIMSTEC ปี 2566 - 2570 รวมถึงหารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือเชิงลึกระหว่างประเทศสมาชิก อาทิ การให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในสาขาการเกษตร การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการเกษตร การจัดตั้งคลังสำรองอาหารของ BIMSTEC และการจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยเพื่อเสริมสร้างการค้าสินค้าเกษตรภายในภูมิภาค ตลอดจนการพิจารณาร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีด้านการเกษตรภายใต้กรอบ BIMSTEC ครั้งที่ 3
รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า การประชุม EGMAC ได้กำหนดแนวทางความร่วมมือตามแผนปฏิบัติการฯ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความท้าทายระดับโลก รวมถึงวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 และปฏิญญาการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 โดยไทยได้เน้นย้ำการเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวและสร้างความมั่นคงทางอาหาร ผ่านความร่วมมือด้านการเกษตรควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน และขอให้ประเทศสมาชิกตระหนักถึงความจำเป็นในการแสวงหาแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวของภาคการเกษตรในอนุภูมิภาค ตลอดจนขยายความร่วมมือกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งและใช้ประโยชน์จากการเกษตรอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งรวมถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ อาทิ การเกษตรแม่นยำ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาค
นอกจากนี้ ยังได้มีการลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ อินทรฟาร์ม ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังแบบผสมผสาน บริหารงานโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนประมงชายป่าเลนเกาะมะพร้าวกลางทะเลที่มีองค์ความรู้ในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังแบบผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
ทั้งนี้ ผลการประชุมดังกล่าวจะถูกนำไปรายงานต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการเกษตร ครั้งที่ 3 (Third Meeting of the BIMSTEC Senior Officials on Agriculture: 3rd SOM-A) และการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการเกษตร ครั้งที่ 3 (Third BIMSTEC Ministerial Meeting on Agriculture: 3rd BAMM) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 เมษายน 2568 ณ กรุงกาฐมาณฑุ สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาลต่อไป