นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า “ได้มอบหมายให้ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวก และบูรณาการความร่วมมือกับ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ตาก และแม่ฮ่องสอน) และพื้นที่ภาคอีสานตอนบน (อุดรธานี และหนองบัวลำภู) โดยสนับสนุนภารกิจของกรมฝนหลวงและ การบินเกษตร ในการทำการบินโปรยน้ำเย็น หรือน้ำแข็งแห้ง เพื่อระบายฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 นอกจากนี้ได้กำชับให้วิทยุการบินฯ จัดระเบียบห้วงอากาศสำหรับการใช้งานโดรน เพื่อสนับสนุนภารกิจการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งสามารถบรรเทาผลกระทบได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ทั้งนี้ได้รับรายงานสถิติค่าแนวโน้มความเข้มข้นของฝุ่นภาคเหนือและอีสานลดลง ซึ่งส่งผลดีต่อพี่น้องประชาชนในช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ โดยเฉพาะที่ จ.เชียงใหม่ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ”
นายสุรชัย หนูพรหม รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “วิทยุการบินฯ ได้สนับสนุนการปฏิบัติการบินโปรยน้ำเย็น หรือน้ำแข็งแห้ง เพื่อทำการเจาะช่องชั้นบรรยากาศ ระบายฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ในการดัดแปลงสภาพอากาศ โดย กรมฝนหลวงฯ ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อปฏิบัติการบิน แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่เขต จ.ภาคเหนือตอนบน ณ สนามบินตาก จ. ตาก และสนามบินเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ส่วนในพื้นที่เขต จังหวัดภาคอีสานตอนบน ณ สนามบินอุดรธานี จ.อุดรธานี โดยใช้อากาศยานเพื่อทำการบินทั้งสิ้น 11 ลำ อีกทั้ง วิทยุการบินฯ ยังเข้าร่วมให้การสนับสนุนการใช้งานโดรน เพื่อสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า ของศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง จ.เชียงใหม่ ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อบูรณาการการปฏิบัติของหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ อบจ.เชียงใหม่ กองทัพภาคที่ 3 กองทัพอากาศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมฝนหลวงและการบินเกษตร วิทยุการบินฯ ฯลฯ ในการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ประจำปี 2568 เป็นการเชื่อมโยงนโยบาย สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ เพื่อควบคุมระงับบรรเทาผลกระทบได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที ป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และแก้ไขความเดือดร้อนหรือความเสียหายแก่ประชาชน”
ทั้งนี้ สรุปผลการปฏิบัติ จากการตรวจวิเคราะห์สภาพอากาศ พบว่า ความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ณ วันที่ 12 เมษายน 2568 มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 27.27 ug/m3 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพ อีกทั้งจากภาพถ่ายมุมสูงที่ จ.เชียงใหม่ พบท้องฟ้าแจ่มใส นับเป็นปฏิบัติการ คืนดอยสุเทพให้กับทุกคนในเทศกาลสงกรานต์ ถือได้ว่าการปฏิบัติภารกิจได้ผลเป็นอย่างดีเป็นที่น่าพอใจ โดยทางกรมฝนหลวงฯ จะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลการตรวจวัดและวิเคราะห์แนวโน้มของผลการปฏิบัติตามภารกิจต่อไปอย่างเต็มที่ต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน จนกว่าปัญหาดังกล่าวจะบรรเทาเบาบางลงไป และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกิดเป็นรูปธรรม”